Daisypath Anniversary tickers

รอบรั้ว พุทธศาสนา วิธีฝึกปฏิบัติการบริหารจิตและเจริญปัญญา

Friday, February 8, 2008


ทีนี้ เรามาถึงบทเรียนการฝึกปฏิบัติการควบคุมจิตเบื้องต้นแล้ว ครูว่านี่คือความแปลกของศาสนาพุทธของเรา เป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติเฝ้ามองดู ชาวพุทธทำอะไร....นั่งหลับตา นิ่ง เงียบๆ ในหนังจีน พระจีนก็ทำท่า อามิตตาพุทธ....บ่งบอกถึงความเป็นพุทธะ เราเองเป็นชาวพุทธ นี่ไม่ใช่ความแปลก แต่เป็นวิธีปฏิบัติขั้นต้น ที่จะเข้ามาเป็นพุทธอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่สวดมนต์เป็น กราบพระได้ แล้วมาบอกว่าเป็นพุทธ นั่นมันแค่เปลือกนอก


การบริหารจิตและเจริญปัญญา เป็นการฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ ไม่คิดฟุ้งซ่านถึงเรื่องอื่นๆ จนจิตเกิดสมาธิ เมื่อจิตมีสมาธิ ทำให้เกิดปัญญาขึ้น นักเรียนควรฝึกการบริหารจิตนี้ทุกวัน วันละประมาณ 10-15 นาที ซึ่งสามารถฝึกได้ดังนี้


1.) นั่งคุกเข่า ประนมมือ และตั้งใจกล่าวคำนมัสการพระพุทธเจ้า และคำบูชาพระรัตนตรัย

คำนมัสการพระพุทธเจ้า

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ (กล่าว 3 จบ)


แล้วก็ต่อกับคำบูชาพระรัตนตรัยว่า

อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง อะภิปูชะยานิ

อิมินา สักกาเรนะ ธัมมัง อะภิปูชะยามิ

อิมินา สักกาเรนะ สังฆัง อะภิปูชะยามิ


2.) จากนั้นก็สวดบทสรรเสริญพระรัตนตรัย เพื่อระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยว่า

อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา
พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง


พุทธัง ภะคะวันตัง อภิวาเทมิ
ข้าพเจ้าของอภิวาทพระพุทธเจ้า พระองค์นั้น (กราบ 1 ครั้ง)

สะหวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม
พระธรรมคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมอันดีเลิส

ธัมมัง นะมัสสามิ
ข้าพเจ้าขอนมัสการพระธรรม (กราบ 1 ครั้ง)

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
พระสงฆ์คือสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว

สังฆัง นะมามิ
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระสงฆ์ (กราบ 1 ครั้ง)


3.) ตัดความกังวลต่างๆให้หมด แล้วตั้งจิตอธิษฐาน ดังนี้

"ที่พึ่งอย่างอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้าอย่างประเสริฐ ด้วยการกล่าวความจริงนี้ ขอความสวัสดี จงมีแก่ข้าพเจ้าทุกเมื่อ"

เมื่ออธิษฐานเสร็จแล้ว ก็ให้ตั้งใจแน่วแน่ มุ่งปฏิบัติในการเจริญสมาธิภาวนา


4.) ทีนี้มาเริ่มกันเลยค่ะ หลังจากไหว้ครูมา 3 ข้อ (พระพุทธเจ้าเป็นบรมครูของเราเลยนะคะ)....ให้นั่งขัดสมาธิ เอาเท้าขวาทับเท้าซ้าย เอามือขวาทับมือซ้าย วางมือบนหน้าตัก นั่งตัวตรง เพื่อให้ลมหายใจเดินสะดวก กำหนดสติไว้ให้มั่นคง


5.) ภาวนาในใจว่า "พุท" เมื่อหายใจเข้า และ "โธ" เมื่อหายใจออก เพื่อให้จิตมีเครื่องยึด ปฏิบัติเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนจิตใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน


6.) ก่อนจะเลิกบำเพ็ญสมาธิ ให้กราบเบญจางคประดิษฐ์ 3 ครั้ง จากนั้นให้แผ่เมตตาและกรวดน้ำอย่างย่อว่า

อิทัง เม ญาตินัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย

ขอผลแห่งบุญกุศลนี้ จงมีแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอญาติทั้งหลายจงมีความสุขกายสุขใจ


จบแล้วค่ะ...กับการนั่งสมาธิเบื้องต้น แต่ผลของการสงบจิตใจนั้นจะส่งผลดีแก่เราแน่นอน ซึ่งการทำสมาธินี้ยังมีขั้นตอนที่สูงขึ้นต่อไปอีก และจะต้องมีพระอาจารย์คอยให้คำแนะนำเมื่อเรามีความก้าวหน้าในการนั่งสมาธิ.
Photo :: TIME Magazine

Posted by ครูพเยาว์ at 6:52 PM