Daisypath Anniversary tickers

รอบรั้ว วิทยาศาสตร์ การกำเนิดของดิน

Sunday, February 3, 2008

กำเนิดของดิน

การเกิดของดินจะเกี่ยวข้องกับการผุพังสลายตัวของทั้งอินทรียสาร และอนินทรียสาร กับการสังเคราะห์วัตถุใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากอิทธิพลของกระบวนการสร้างดินต่างๆ และอยู่ภายใต้อิทธิพลของปัจจัยควบคุมการเกิดดิน โดยทั่วไปมักจะแยกกระบวนการเกิดของดินออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ ด้วยกันคือ กระบวนการทำลาย และกระบวนการสร้าง ซึ่งกระบวนการทั้งสองแบบนี้อาจจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กันหรือเกิดกระบวนการทำลายขึ้นก่อนแล้วเกิดกระบวนการสร้างดินตามมาก็ได้



กระบวนการทำลาย

หมายถึงกระบวนการที่ทำให้หิน แร่ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ เกิดการอ่อนตัวลง สลายตัวเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย หรือเปลี่ยนไปเป็นสารใหม่ และทับถมรวมตัวกันเกิดเป็นวัตถุต้นกำเนิดดินขึ้น ซึ่งอาจเกิดอยู่กับที่ หรืออาจถูกพาหะต่างๆ พัดพาออกไปจากที่เดิมและไปสะสมรวมตัวกันใหม่ในแหล่งอื่นก็ได้

กระบวนการสร้างตัวของดิน

คือกระบวนการที่ทำให้เกิดพัฒนาการของลักษณะต่างๆที่ปรากฏอยู่ในดิน เช่น สีดิน เนื้อดิน โครงสร้าง ความเป็นกรดเป็นด่าง รวมถึงการเกิดเป็นชั้นต่างๆ ขึ้นในหน้าตัดดิน ซึ่งลักษณะเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะบ่งบอกถึงตวามแตกต่างของดินแต่ละชนิดแต่ละประเภท และสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ไปถึงชนิดของวัตถุต้นกำเนิด กระบวนการ และผลของสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลโดยตรงต่อกระบวนการสร้างตัวของดิน ณ บริเวณนั้น อาทิเช่น สีของดินมีความสัมพันธ์กับ ปริมาณอินทรียวัตถุในดิน และความเปียกแห้งของดิน โดยทั่วไปดินที่มีสีคล้ำควรจะมีอินทรียวัตถุมากกว่าดินสีจาง สีเทาที่ปรากฏอยูในหน้าตัดดินบ่งบอกถึงสภาวะที่ดินมีการขังน้ำ หรือการพบจุดสีประในดินบ่งบอกถึงสภาพที่ดินมีการเปียกสลับแห้ง เป็นต้น

โดยสรุปจึงอาจกล่าวได้ว่า ดินเป็นผลลัพธ์โดยตรงของหิน แร่ ที่สลายตัวผุพังแล้ว ทับถมกันเกิดเป็นวัตถุต้นกำเนิดดิน เมื่อผสมคลุกเคล้ากับอินทรียวัตถุ และผ่านกระบวนการทางดิน จะปรากฏลักษณะและเกิดเป็นชั้นดินต่างๆ ขึ้น ซึ่งเราสามารถประเมินคุณสมบัติและจำแนกดินออกเป็นชนิดๆ ได้โดยการศึกษาลักษณะ และชั้นดินต่างๆ ที่เรียงต่อเนื่องกันจากข้างบนลงไปข้างล่างจนถึงชั้นหินที่สลายตัวหรือชั้นของวัตถุอื่นๆ

ชั้นต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในหน้าตัดดิน แบ่งเป็นชั้นดินหลักได้ 5 ชนิดด้วยกัน คือ O-A-E-B-C แต่ชั้นที่เป็นองค์ประกอบหน้าตัดดินอาจมีชั้น R อยู่ใต้สุดของชั้นดินหลักด้วย โดยทั่วไปแล้วชั้น R ถือว่าเป็นชั้นหินพื้น (bed rock) ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับชั้นดินหลักตอนบนหรือไม่ก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของวัตถุต้นกำเนิดและกระบวนการทางธรณีที่เกี่ยวข้อง ชั้นดินหลักต่างๆ มีลักษณะโดยทั่วไปดังนี้

ชั้น O หรือชั้นดินอินทรีย์ ตามปกติจะอยู่ตอนบนสุดของหน้าตัดดิน เป็นชั้นที่ประกอบด้วยอินทรียวัตถุเป็นส่วนใหญ่ มีสีค่อนข้างดำจัด ประกอบด้วยเศษซากพืชต่างๆ ที่ยังไม่ผุพังสลายตัว หรือมีการสลายตัวบ้างแล้วเป็นบางส่วนชั้นดินแบบนี้มีอยู่แต่เพียงในสภาพของป่าไม้หรือทุ่งหญ้าที่สามารถให้อินทรียวัตถุได้เป็นจำนวนมากเท่านั้น
Oi เป็นชั้นวัสดุอินทรีย์ที่ซากพืชหรือสัตว์มีการสลายตัวเพียงเล็กน้อย ยังสามารถสังเกตเห็นลักษณะดั้งเดิมได้
Oe เป็นชั้นวัสดุอินทรีย์ที่ซากพืชหรือสัตว์มีการสลายตัวปานกลาง
Oa เป็นชั้นวัสดุอินทรีย์ที่ซากสารอินทรีย์มีการสลายตัวมาก จนไม่สามารถสังเกตเห็นลักษณะดั้งเดิมได้

ชั้น A เป็นชั้นดินแร่ (mineral horizon) เกิดอยู่บนผิวหน้าของดิน หรือใต้ชั้น O ลักษณะเด่นของชั้นดิน A คือเป็นชั้นที่ประกอบด้วยอินทรียวัตถุที่สลายตัวแล้วผสมคลุกเคล้าอยู่กับแร่ธาตุในดิน มีสีคล้ำ หรืออาจพบลักษณะที่บ่งชี้ว่ามีการไถพรวน

ชั้น E หรือ ชั้นชะล้าง ป็นชั้นดินบนตอนล่างที่มีการชะละลาย (leaching) หรือมีการเคลื่อนย้ายออก(eluviation) มากที่สุดของวัสดุต่างๆ เช่น ดินเหนียว เหล็ก และอะลูมินัมออกไซด์ เป็นผลให้เกิดการสะสมของแร่ที่มีความคงทนต่อการสลายตัว เช่น ควอร์ตซ์ในอนุภาคขนาดทรายและทรายแป้งในปริมาณที่สูง ลักษณะเด่นคือเป็นชั้นที่มีสีจาง มีอินทรียวัตถุต่ำ กว่าชั้น A และมักจะมีเนื้อดินหยาบกว่าชั้น B ที่อยู่ตอนล่างลงไป

ชั้น Bหรือชั้นสะสม ป็นชั้นหลักของหน้าตัดดิน มักจะมีความหนามากกว่าชั้นดินอื่นๆ ชั้น B ต่างๆ เป็นชั้นใต้ชั้นดินบน (subsurface horizons) ที่แสดงถึงการเคลื่อนย้ายมาสะสม (illuviation) ของวัสดุจากชั้นดินตอนบน ในเขตชื้น ชั้น B เหล่านี้จะเป็นชั้นที่มีการสะสมสูงสุดของวัสดุต่างๆ เช่น เหล็กและอะลูมินัมออกไซด์ และแร่ดินเหนียวซิลิเกต ส่วนในเขตแล้งและกึ่งแห้งแล้ง ในชั้นนี้อาจมีการสะสมของแคลเซียมคาร์บอเนต แคลเซียมซัลเฟต และเกลือต่างๆ

ชั้น C หรือชั้นวัตถุต้นกำเนิดดิน เป็นชั้นของวัสดุที่เกาะตัวกันอยู่หลวมๆ ใต้ชั้นที่เป็นดิน ประกอบด้วยหินและแร่ที่กำลังผุพังสลายตัว ซึ่งอาจจะมีองค์ประกอบที่เหมือนหรือต่างไปจากวัสดุที่ทำให้เกิดชั้น A E หรือ B ก็ได้

ชั้น R คือชั้นของหินแข็ง เป็นชั้นหินพื้น หรือชั้นของหินแข็งชนิดต่างๆ ที่ยังไม่มีการผุพังสลายตัว เป็นชั้นที่เชื่อมติดแน่น ใช้พลั่วขุดไม่ค่อยเข้าถึงแม้จะได้รับความชื้น

Posted by ครูพเยาว์ at 1:54 PM