Daisypath Anniversary tickers

รอบรั้ว พุทธศาสนา การบริหารจิตและเจริญปัญญา

Friday, February 8, 2008


เมื่อวานไปเดินออกกำลังกายที่หนองประจักษ์ ได้เห็นคนที่ทิ้งโฟมพลาสติกลงบนพื้น ทั้งๆที่ไม่ไกลนัก มีถังขยะรองรับอยู่ พลันใจก็นึกโกรธ สังเวช ว่าทำไมคนเราถึงมักง่ายกันได้เพียงนี้ แต่เมื่อนึกขึ้นได้ว่าใจของเรามันแสดงออกมาว่าโกรธแล้วนะ ก็พยายามสะกดเอาไว้ ใจเรานี่มันสำคัญจริงๆ ที่จริงต้องบอกว่าสะกดอารมณ์เอาไว้ ไม่ให้มันเลยเถิดออกไป เช่นไปว่ากล่าวตักเตือนเขา มันอันตราย ถ้าเขาจะโกรธตอบแล้วสะกดอารมณ์ไม่อยู่ เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นแล้ว เมื่อท่านรัฐมนตรีวัฒนธรรม คุณหญิงไขศรี ไปเห็นนักศึกษาแต่งตัวไม่สุภาพ ไม่สมกับเป็นนักศึกษา ท่านเข้าไปเตือน ก็โดนย้อนคืนว่า "มันเรื่องอะไรของป้าล่ะ" อะไรทำนองนี้ เรื่องอย่างนี้ เรามีสอนในพระพุทธศาสนาค่ะ เกี่ยวกับจิตใจ เกี่ยวกับอารมณ์ ซึ่งมันจะคอยบงการเรา หรือว่าเราจะฉลาดขึ้นพอที่จะบงการมันได้


เราจะมาเรียนเรื่องนี้กันค่ะ...คือเรื่องการบังคับจิตใจของเรา ว่าควรจะทำอย่างไร ควรฝึกอย่างไร แต่ก่อนอื่นนั้น ในชั้นนี้ เรามาทำความรู้จักกันก่อนว่า สิ่งที่เราจะฝึกในขั้นต่อไปนั้น มันมีตัวอะไรบ้าง เป็นการรู้เรา รู้เขาค่ะ


ตัวแรก..สติสัมปชัญญะ ค่ะ มันเป็น 2 คำติดกัน เหมือนคู่แฝด ไปไหน ไปด้วย สติ หมายถึงระลึกได้ คือก่อนที่จะทำหรือจะพูดสิ่งใด ต้องมีสติระลึกอยู่เสมอว่า สิ่งที่จะพูดหรือทำนั้นดี หรือไม่ดี สมควรทำหรือไม่ เมื่อระลึกได้แล้วจึงค่อยทำหรือพูด สัมปชัญญะ หมายถึง ความรู้ตัว คือรู้ตัวขณะที่ทำ ขณะที่พูด คนที่มีสติสัมปชัญญะในการดำเนินชีวิต จะเป็นผู้ที่ทำการงานได้ไม่ผิดพลาด และประสบผลสำเร็จ สติสัมปชัญญะนั้น เป็นคุณธรรมพื้นฐานที่สนับสนุนไม่ให้เกิดความประมาท


ตัวที่สอง...สมาธิ หมายถึง ความตั้งมั่นของจิต หรือสำรวมใจให้แน่วแน่ คนเราโดยส่วนมากแล้ว มักคิดอะไรๆฟุ้งไปหมด ชั่วไม่กี่นาที คิดได้ไปนับสิบเรื่อง เรื่องนั้น เรื่องนี้ ประดังเข้ามาในความคิด การที่จะบังคับมันไม่ไห้คิดเตลิดไปเรื่องโน้น เรื่องนี้ ต้องฝึกค่ะ อย่างเช่นการฝึกสมาธิโดยอานาปานสติ คือ การเอาจิตจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้า...ลมหายใจออก


ตัวที่สาม...ปัญญา หมายถึง ความรู้ทั่ว ความฉลาดรอบรู้ที่เกิดจากการเรียนและการคิด พระพุทธศาสนากล่าวเกี่ยวกับการทำให้เกิดปัญญา มี 3 ทาง ดังนี้ค่ะ

1.) สุตมยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจากการฟัง การเล่าเรียน นั่นก็คือ ฟังมาก เกิดปัญญา

2.) จินตมยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจากการคิด พิจารณาหาเหตุผล นั่นก็คือ คิดมาก เกิดปัญญา

3.) ภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจากการฝึกอบรม ลงมือปฏิบัติ นั่นก็คือ ทำมาก เกิดปัญญา

Posted by ครูพเยาว์ at 12:26 PM