Daisypath Anniversary tickers

รอบรั้ว การศึกษา รุ่นพี่รุ่นน้อง ความผูกพัน

Tuesday, March 3, 2009

เมื่อเช้านั่งฟังรายการข่าวยามเช้าจากช่อง ASTV ของคุณปอง อัญชะลี ไพรีรัก และคุณสุชาติ ชวางกูล
ที่จัดร่วมเข้าคู่กัน ได้พูดถึงเรื่องเพลง "สายทิพย์" ที่ครูเองเคยฟัง และก็ชอบมาก เป็นเพลงที่ "หวาน-เย็น-เศร้าสร้อย" แต่ไม่รู้ถึงเบื้องหลังของเพลงนั้นว่า มีความเป็นมาอย่างไร พอได้รู้เข้าก็แปลกใจ และยิ่งจับเนื้อร้องมาพิเคราะห์อย่างละเอียดแล้ว ก็ให้เข้าใจถึงความรู้สึกลึกๆของเด็กน้อย...ในยามที่ต้องจากเพื่อนไป...ที่แปลกกว่านั้นอีกก็คือ...เป็นผลงานที่มาจากเด็กหญิงรุ่นน้องอายุแค่ 12 ปี กับรุ่นพี่ที่อายุ 16 ปี อยากให้อ่านจากข้อเขียนของอาจารย์ชัยอนันท์ สมุทวนิช เพราะท่านเป็นคนร่วมสมัยกับผู้แต่ง และก็ได้ร่วมประพันธ์เนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษเอาไว้ด้วยค่ะ

"กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว คือประมาณ พ.ศ. 2490 เด็กหญิงคนหนึ่งอายุ 12 ปี ได้แต่งทำนองเพลงๆ หนึ่งภายในเวลาเพียง 2-3 นาที เธอเรียนเปียโนตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ขณะที่แต่งเพลงเธอเรียนอยู่ชั้นมัธยม 2 เพลงนี้เธอมอบให้รุ่นพี่ซึ่งคอยเอาใจใส่ให้ความรักดูแลเธอในฐานะรุ่นน้อง โรงเรียนประจำวัฒนาวิทยาลัยมาโดยตลอด

เด็กหญิงสายสุรี วัชรเกียรติ ต่อมาคือ ดร.สายสุรี จุติกุล อดีตรัฐมนตรีหญิง และผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิสตรีและเด็ก ส่วนรุ่นพี่ซึ่งเมื่อ พ.ศ. 2490 อายุ 16 ปี เรียนอยู่ชั้นมัธยม 8 คือ แพทย์หญิงปานทิพย์ (โลจายะ) วิริยะพานิช น้องสาวของคุณชื่นสุข (โลจายะ) เก่งระดมยิง และเป็นพี่สาวของนายแพทย์สมชาติ โลจายะ หมอหัวใจมือหนึ่งซึ่งล่วงลับไปแล้ว แพทย์หญิงปานทิพย์ เป็นหมอเด็กจบจากศิริราชแล้วไปศึกษาต่อที่เพนซิลเวเนีย

อาจารย์สายสุรี บอกว่า โรงเรียนวัฒนาฯ มีธรรมเนียมจับคู่ให้รุ่นพี่ดูแลรุ่นน้อง ภรรยาผมเองเคยเล่าว่า รุ่นพี่ที่ดูแลให้ความเอ็นดูถักเปียให้ด้วย

ปี 2490 เป็นปีที่ปานทิพย์ โลจายะ จบการศึกษา เป็นการจากกัน ในงานคริสมาสต์ปีนั้น เด็กหญิงสายสุรี เล่นเปียโน เด็กหญิงปานทิพย์เป็นผู้แต่งเนื้อเพลง และขับร้อง

นักเรียนวัฒนาฯ รุ่นกระโน้น ฟังเพลงด้วยความซาบซึ้ง เวลานั้นยังไม่มีชื่อเพลง ต่อมานักเรียนรุ่นหลังๆ เลยนำเอาชื่อของสายสุรี และปานทิพย์มารวมกัน แล้วเรียกเพลงนี้ว่า “สายทิพย์”

เพลง “สายทิพย์” ร้องกันในวงแคบๆ ในหมู่นักเรียนวัฒนาฯ ต่อมาคุณแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ นำมาเสริมทำนองทำให้คนเริ่มรู้จักเพลง และนำเอาเพลงนี้ไปเป็นบทเรียนสำหรับกีตาร์และเปียโน

เนื้อร้องเพลง “สายทิพย์” มีบางส่วนที่ผิดเพี้ยนไป เช่น คำว่า เผลอมักเปลี่ยนเป็น “เพ้อ” เท่าที่ผมจำได้ เพลงนี้มีเนื้อที่เรียบง่าย แต่ลึกซึ้งจึงเป็นที่นิยมของคน และแพร่หลายอย่างรวดเร็ว เป็นการแพร่กระจายแบบปากต่อปาก เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ เพราะมีน้อยคนซึ่งรู้ที่มาของเพลงๆ นี้ ส่วนเนื้อเพลงที่นำมาไว้ ณ ที่นี้คือ เนื้อร้องที่ถูกต้อง เพราะท่านผู้แต่งรับรองแล้ว

อาจารย์ ดร.สายบุรี ทำประโยชน์ให้แก่สังคมมามาก แต่ผลงานที่นำความสุขใจมาให้แก่คนจำนวนมากที่สุด กลับเป็นผลงานที่เธอทำเมื่ออายุเพียง 12 ปี น่าทึ่งเสียนี่กระไร

สายทิพย์
แสงดาวสวยพราวดูเด่น เพ่งเห็นเหมือนตาของเธอ (เดี๋ยวนี้ร้องเป็น เล็งเห็นเหมือนตา.....)
เฝ้าเผลอหัวใจละเมอ รำพัน (เดี๋ยวนี้ร้องเป็น เฝ้าเพ้อ....)
แสงเดือนเหมือนเตือนใจเศร้า โอ้เรารักเร้าดวงใจ (เดี๋ยวนี้ร้องเป็น ....รักร้าวฤทัย)
คอยไปเหมือนตัวแสนไกล รักมั่น (เดี๋ยวนี้ร้องเป็น....เพ้อไปถึงตัว.....)
จากเธอไปแล้วใจหาย ดวงใจยังคิดถึงสายสัมพันธ์
รักมั่นมิวาย คลายจาง
ขอเดือนช่วยเตือนใจมั่น ใฝ่ฝันถึงเธอทุกวัน
มองจันทร์นึกความสัมพันธ์ ครั้งก่อน

ต่อมาอีกหลายสิบปี ประมาณปี 2509 นักเรียนไทยสองคนกับชาวนิวซีแลนด์ คือ Mrs.Baker ผู้มีความรักในวัฒนธรรมไทย เรียนภาษาไทย และหัดร้องเพลงไทย ได้ฟังเพลง “สายทิพย์” และเกิดแรงบันดาลใจ จึงช่วยกันกับเด็กนักเรียนไทยอีกสองคนแปลเพลง “สายทิพย์” เป็นภาษาอังกฤษ ดังนี้

Starlight that Shine so Bright,
Remind me of your eyes,
My heart is full of signs, my love.
Moonlight on my tears fall,
My face, I cannot hide,
Return Soon to my side, my love
You are gone I’m all alone
But Still dreams linger on,
You always be the one, I love
May the stars remember me,
To you each night and day,
Whilst you ’re so far away, my love.

เพลง “สายทิพย์” ภาคอังกฤษนี้ไม่เป็นที่แพร่หลายเท่ากับเพลงไทย แต่นักเรียนนิวซีแลนด์กลุ่มเล็กๆ ชอบร้องเพลงไทยแล้วสลับด้วยเนื้อภาษาอังกฤษ

เพลง “สายทิพย์” เป็นตำนานและเป็นตัวอย่างของความคิดสร้างสรรค์ และการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งอย่างเป็นธรรมชาติ

เวลานี้อาจารย์สายสุรี อายุ 74 ปี คุณหมอปานทิพย์ อายุ 78 ปี ทั้งสองท่านเป็นผู้นำให้คนนับล้านคนได้มีความสุขกับเพลงที่ท่านได้ร่วมกัน ประพันธ์ขึ้น ถ้าจะนับอายุของเพลงนี้ก็ได้ 62 ปีแล้ว

ขอให้ทั้งสองท่านมีอายุยืนๆ มีสุขภาพดีนะคะ

จากเด็กนักเรียนเก่านิวซีแลนด์ ผู้ร่วมแปลเพลง “สายทิพย์” เป็นภาษาอังกฤษ และขับร้องเพลงนี้เป็นภาษาอังกฤษครั้งแรก เมื่อ 40 ปีมาแล้ว"

ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในสมัยก่อนเขาจะมีประเพณีจับคู่รุ่นพี่ให้ดูแลรุ่นน้อง จากเรื่องที่เล่ามา ความผูกพันนั้นมีมากจริงๆ เพราะต้องอยู่ร่วมกัน เรียนร่วมโรงเรียนกัน ดูแลกัน....การที่ต้องดูแลกันนี่แหละ ที่สร้างความรักต่อไปอย่างไม่ขาดสาย จากรุ่นสู่อีกรุ่น ไม่รู้จบ เดี๋ยวนี้ก็ยังคงมีอยู่ตามมหาวิทยาลัย ที่รุ่นพี่ดูแลรุ่นน้อง แต่จะผูกพันจริงๆหรือไม่...เท่าที่สังเกตดู...เหมือนจะด้อยลงไปเยอะ เคยถามดูจากนักศึกษา เหมือนๆกับเป็นแค่เป็นกระบวนการของระเบียบ...พี่รหัส น้องรหัส พี่ภาค น้องภาค...พาไปเลี้ยงอาหารกันบ้าง ตามที่ตัวเองเคยรับรู้มา...จบคอร์สแล้วก็จบเลย....หาความผูกพันทางใจไม่ได้ น่าเสียดายประเพณีที่ดีๆอย่างนี้นะคะ และที่เป็นข่าวทุกปี...รับน้องกันถึงตาย...




ขอบคุณเวบผู้จัดการและคุณชัยอนันต์ สมุทวานิช ที่เล่าให้ฟังถึงเบื้องหลังเบื้องลึกทั้งหมดค่ะ
Via : สายทิพย์

รอบรั้ว บุญกุศล มวลหมู่ญาติธรรม

Monday, March 2, 2009

เมื่อวานได้กลับบ้าน หลังจากที่ได้ไปช่วยงานวัดที่หลวงพ่อได้กำหนดพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างตึกอริยภูมิมา 3-4 วัน ตอนกลับนี่มีปัญหาเรื่องรถยนต์ ซึ่งเป็นรถที่เก่ามากแล้ว แต่ก็พยายามซ่อมให้พอใช้ได้ ก็ไม่ดีนัก เพราะช่างที่ซ่อมก็เดาอาการไม่ออก แล้วอาการของรถก็แสดงออกมาอย่างแรงตอนกลับบ้านพอดี ซึ่งกว่าจะเสร็จงาน ช่วยเก็บข้าวของให้เรียบร้อยก็ทุ่มหนึ่งพอดี มืดแล้วค่ะ และจะต้องเดินทางอีก 100 กิโลเมตรถึงจะเข้าบ้านได้

ออกมาจากวัดไม่นาน ไฟหน้ารถเริ่มหรี่ลง แตรที่ลองกดดูเสียงก็ออกเพี้ยนๆจากที่เคยได้ยิน เลยบ้านนาหลวงไปไม่ไกลนักไฟหน้าปิดสนิท เลยตีรถแอบข้างทาง เดินกลับเข้าไปในหมู่บ้าน เพราะคิดว่าอย่างไรๆก็คงจะเป็นแบตเตอรี่หมดไฟ มันคงไม่เก็บไฟ เพราะมันเก่าเกิน 1 ปีแล้ว ก็ไปหาอาจารย์โรงเรียนบ้านนาหลวง ขอยืมแบตเตอรี่ที่ใช้กับรถปิคอัพของอาจารย์ไปก่อน จะคืนให้ในวันถัดไป อาจารย์ก็ใจดี ให้ยืมค่ะ และขอร้องชาวบ้านที่เปิดร้านขายของ ขายอาหารที่อยู่ในหมู่บ้าน เขาก็กุลีกุจอออกไปช่วย ถอดแบตและขนใส่รถเขาไปส่งให้ แต่กลายเป็นว่าแบตของรถปิคอัพใหญ่กว่ารถเก๋งไปเกือบ 2 นิ้ว ใส่ไม่ได้ ใจก็คิดว่าคงจะกลับไปนอนที่วัดต่ออีกสักคืน ถึงตอนนี้ปรากฏว่ามีรถของมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ที่นำนักศึกษาไปช่วยงานวัดเหมือนกันผ่านมาพอดี มาจอดถามว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อคนขับรถของมหาวิทยาลัยทราบอาการ ก็บอกว่า น่าจะเป็นที่ฟิวส์นะ ถึงตอนนี้ก็ค่ำมากแล้วเลยขอให้รับลูกชายคนเล็กและอาจารย์โรงเรียนอุดรพิทยาที่มาช่วยงานเช่นกันกลับไปกับรถของมหาวิทยาลัย จากนั้นก็ลองเปลี่ยนฟิวส์ที่มองเห็นว่ามีกี่ตัว แล้วก็ติดเครื่องรถดู ได้ค่ะ....ไฟสว่างขึ้นมาอีก เลยคิดว่าจะขับตามหลังไป แต่เรื่องไม่เป็นอย่างนั้นค่ะ ไปได้แค่ 10 กิโลเมตรจากจุดเดิม ไฟดับวูบลงไปอีก คราวนี้ไกลจากหมู่บ้านแล้ว รีบขับรถแอบข้างทาง ใจแป้วค่ะ

หลังจากนั้นไม่นานก็มีรถของญาติธรรมจากเมืองไกลผ่านมา 2 คัน เขามาจากฉะเชิงเทรา มาช่วยงานวัดของหลวงพ่อเหมือนกัน เดินออกไปโบกมือขอความช่วยเหลือ เขาจอดทันทีค่ะ....หาไม่ได้อีกแล้ว ที่จะเจอคนมีน้ำใจอย่างนี้ กลางป่าที่ห่างไกลจากเมืองหรือหมู่บ้าน เขาก็ลงมาดู ออกความเห็นต่างๆนาๆถึงอาการของรถ ผลออกมาว่าอย่างไรก็ต้องลากรถไปให้ถึงทางถนนลาดยาง หรือหมู่บ้านข้างหน้า แต่รถทั้งสองคันก็ไม่มีสลิงดึง มีเพียงแต่เชือกเส้นเล็กที่ดูแล้วก็มองไม่เห็นว่าจะดึงได้อย่างไร มันขาดแน่ๆ ตอนนี้ก็ต้องหาทางออกใหม่ เลยขอร้องให้เขากลับไปส่งที่บ้านนาหลวง ไปบ้านฝรั่งชาวเยอรมันที่มีภรรยาคนไทย มาปลูกยางพาราอยู่ในพื้นที่ เป็นฝรั่งที่เคยช่วยเหลือเอาไว้ครั้งหนึ่ง ตอนที่เขาขับรถตกคูถนนมาหลายเดือนแล้ว และภายหลังก็คุ้นเคยกันดี แวะเวียนไปคุยด้วย เขาก็บอกว่าให้ไปหาเขาถ้ามีปัญหา บางทีเวลาขึ้นไปวัด เขาและภรรยาก็ฝากผักไปทำบุญที่วัดด้วย ญาติธรรมจากฉะเชิงเทราก็ช่วยเหลือพาไปส่งถึงที่ ซึ่งความจริงแล้วถ้าช้ากว่านี้สัก 5- 10 นาทีก็จะไม่เจอใครเลยที่บ้าน เพราะเขามีนัดไปรับประทานอาหารนอกบ้านกับเพื่อนของเขา ถือว่าโชคดีค่ะ เพราะพอเจอเขาเข้า เขาก็รีบเชิญพวกเรา ซึ่งก็มีพ่อบ้าน และลูกชายคนโตเข้าบ้าน ญาติธรรมจากฉะเชิงเทราก็ลาจากกันตอนนั้น ซึ่งพวกเขาต้องขับรถอีก 8 ชั่วโมงกว่าจะถึงบ้าน

เรื่องนี้ยาวค่ะ แต่จำเป็นต้องเล่าให้ครบทุกตอน....จากนั้นฝรั่งและพ่อบ้านก็ออกไปดูรถด้วยกัน ถอดแบตเตอรี่กลับมา เพื่อจะเอาแบตมาชาร์จไฟให้เต็ม ซึ่งมารู้เอาว่าแบตเตอรี่ยังดีอยู่ เพียงแต่ว่าไฟอ่อน ตอนเอาแบตเตอรี่ชาร์จเชอร์มาต่อ เกิดควันคลุ้งกลิ่นเหม็นไหม้ออกมา มีปัญหาอีกแล้ว พ่อบ้านและฝรั่งก็ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรต่อ แล้วก็ออกมาว่ามันน่าจะเป็นขั้วแบตเตอรี่ไม่ดี แล้วก็ชวนกันเอากระดาษทรายขัดขั้วแบตเตอรี่ แล้วก็พกเอาอลูมินั่มฟอล์ยออกไปเสริมขั้วแบตด้วย ที่นี้ไปพร้อมกันหมดทั้งครอบครัว ช่วยกันดันรถ ต่อสายเคเบิลเพื่อช่วยสตาร์ต ผลออกมาก็ยิ้มกันทุกคน ที่แท้คือขั้วแบตไม่ดีนี่เอง คืนนั้นเลยต้องนอนพักที่บ้านของฝรั่ง ที่เขามีห้องรับรองเอาไว้ ตื่นเช้าขึ้นมา ตีห้าครึ่งลองติดเครื่องรถดู ปรากฎว่าไม่มีปัญหา เลยขอบคุณเขาที่ได้ช่วยเหลือและเขาก็รับปากว่าจะขับตามหลังไป เพราะเขาต้องไปงานแต่งงานของลูกสาวที่อีกอำเภอหนึ่งด้วย

ที่เล่ามาทั้งหมดนี่ เพราะอยากจะบันทึกเรื่องนี้เอาไว้ ไว้ขอบคุณทุกคนที่ช่วยเหลือ ไว้ให้เราทุกคนได้เห็นถึงการมีน้ำใจของญาติธรรม พุทธศาสนิก ลูกศิษย์ของหลวงพ่อทองใบ ปภัสโรภิกขุ แห่งบ้านนาหลวง ที่ทุกคนล้วนมีน้ำใจ ให้ความช่วยเหลือคนที่ตกที่นั่งลำบาก และอยากบอกทุกคนว่าขอให้ทำดีกันอย่างนี้ตลอดไป ขอขอบคุณและขออนุโมทนากับบุญกุศลที่ท่านทั้งหลายที่ได้มาช่วยงานของหลวงพ่อ สำหรับดิฉันแล้ว ตอนนี้ก็เท่ากับว่าผลบุญที่ได้ทำมาได้แสดงให้เห็นว่าไม่เสียหลายค่ะ

ขอขอบคุณ อาจารย์เศวตร์ ขันตีกลม แห่งโรงเรียนบ้านนาหลวงที่ให้ยืมแบตเตอรี่ ถึงแม้จะไม่ได้ใช้ แต่ก็ให้แสงสว่างในใจแล้วค่ะ ขอขอบคุณ คุณฉลอม ชาวดร ที่ได้ช่วยเอาแบตไปส่ง ช่วยเข็นรถ ดันให้พ้นทาง ขอขอบคุณ ท่านอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎ และพนักงานขับรถที่จอดรถช่วย ที่รับลูกชายคนเล็ก และอาจารย์อิสราจากโรงเรียนอุดรพิทยากลับ ขอขอบคุณญาติธรรมจากฉะเชิงเทราทุกท่าน ที่หาน้ำใจอย่างนี้ไม่ได้อีกแล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่ทราบชื่อท่านเพราะมันฉุกละหุกกันเต็มที หวังว่าจะหาท่านให้เจอตอนท่านกลับมาทำบุญร่วมกันอีก ขอขอบคุณ Mr. Horst Dammer และภรรยา คุณเพียร (Phian Dammer) ที่ได้ขับรถกลับไปกลับมาถึง 2 รอบ เพื่อที่จะเอารถออกจากกลางป่าให้ได้ และขับตามมาเป็นเพื่อนคอยดูแลถ้ามีปัญหาให้ ขอขอบคุณ