Daisypath Anniversary tickers

รอบรั้ว การศึกษา รุ่นพี่รุ่นน้อง ความผูกพัน

Tuesday, March 3, 2009

เมื่อเช้านั่งฟังรายการข่าวยามเช้าจากช่อง ASTV ของคุณปอง อัญชะลี ไพรีรัก และคุณสุชาติ ชวางกูล
ที่จัดร่วมเข้าคู่กัน ได้พูดถึงเรื่องเพลง "สายทิพย์" ที่ครูเองเคยฟัง และก็ชอบมาก เป็นเพลงที่ "หวาน-เย็น-เศร้าสร้อย" แต่ไม่รู้ถึงเบื้องหลังของเพลงนั้นว่า มีความเป็นมาอย่างไร พอได้รู้เข้าก็แปลกใจ และยิ่งจับเนื้อร้องมาพิเคราะห์อย่างละเอียดแล้ว ก็ให้เข้าใจถึงความรู้สึกลึกๆของเด็กน้อย...ในยามที่ต้องจากเพื่อนไป...ที่แปลกกว่านั้นอีกก็คือ...เป็นผลงานที่มาจากเด็กหญิงรุ่นน้องอายุแค่ 12 ปี กับรุ่นพี่ที่อายุ 16 ปี อยากให้อ่านจากข้อเขียนของอาจารย์ชัยอนันท์ สมุทวนิช เพราะท่านเป็นคนร่วมสมัยกับผู้แต่ง และก็ได้ร่วมประพันธ์เนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษเอาไว้ด้วยค่ะ

"กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว คือประมาณ พ.ศ. 2490 เด็กหญิงคนหนึ่งอายุ 12 ปี ได้แต่งทำนองเพลงๆ หนึ่งภายในเวลาเพียง 2-3 นาที เธอเรียนเปียโนตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ขณะที่แต่งเพลงเธอเรียนอยู่ชั้นมัธยม 2 เพลงนี้เธอมอบให้รุ่นพี่ซึ่งคอยเอาใจใส่ให้ความรักดูแลเธอในฐานะรุ่นน้อง โรงเรียนประจำวัฒนาวิทยาลัยมาโดยตลอด

เด็กหญิงสายสุรี วัชรเกียรติ ต่อมาคือ ดร.สายสุรี จุติกุล อดีตรัฐมนตรีหญิง และผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิสตรีและเด็ก ส่วนรุ่นพี่ซึ่งเมื่อ พ.ศ. 2490 อายุ 16 ปี เรียนอยู่ชั้นมัธยม 8 คือ แพทย์หญิงปานทิพย์ (โลจายะ) วิริยะพานิช น้องสาวของคุณชื่นสุข (โลจายะ) เก่งระดมยิง และเป็นพี่สาวของนายแพทย์สมชาติ โลจายะ หมอหัวใจมือหนึ่งซึ่งล่วงลับไปแล้ว แพทย์หญิงปานทิพย์ เป็นหมอเด็กจบจากศิริราชแล้วไปศึกษาต่อที่เพนซิลเวเนีย

อาจารย์สายสุรี บอกว่า โรงเรียนวัฒนาฯ มีธรรมเนียมจับคู่ให้รุ่นพี่ดูแลรุ่นน้อง ภรรยาผมเองเคยเล่าว่า รุ่นพี่ที่ดูแลให้ความเอ็นดูถักเปียให้ด้วย

ปี 2490 เป็นปีที่ปานทิพย์ โลจายะ จบการศึกษา เป็นการจากกัน ในงานคริสมาสต์ปีนั้น เด็กหญิงสายสุรี เล่นเปียโน เด็กหญิงปานทิพย์เป็นผู้แต่งเนื้อเพลง และขับร้อง

นักเรียนวัฒนาฯ รุ่นกระโน้น ฟังเพลงด้วยความซาบซึ้ง เวลานั้นยังไม่มีชื่อเพลง ต่อมานักเรียนรุ่นหลังๆ เลยนำเอาชื่อของสายสุรี และปานทิพย์มารวมกัน แล้วเรียกเพลงนี้ว่า “สายทิพย์”

เพลง “สายทิพย์” ร้องกันในวงแคบๆ ในหมู่นักเรียนวัฒนาฯ ต่อมาคุณแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ นำมาเสริมทำนองทำให้คนเริ่มรู้จักเพลง และนำเอาเพลงนี้ไปเป็นบทเรียนสำหรับกีตาร์และเปียโน

เนื้อร้องเพลง “สายทิพย์” มีบางส่วนที่ผิดเพี้ยนไป เช่น คำว่า เผลอมักเปลี่ยนเป็น “เพ้อ” เท่าที่ผมจำได้ เพลงนี้มีเนื้อที่เรียบง่าย แต่ลึกซึ้งจึงเป็นที่นิยมของคน และแพร่หลายอย่างรวดเร็ว เป็นการแพร่กระจายแบบปากต่อปาก เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ เพราะมีน้อยคนซึ่งรู้ที่มาของเพลงๆ นี้ ส่วนเนื้อเพลงที่นำมาไว้ ณ ที่นี้คือ เนื้อร้องที่ถูกต้อง เพราะท่านผู้แต่งรับรองแล้ว

อาจารย์ ดร.สายบุรี ทำประโยชน์ให้แก่สังคมมามาก แต่ผลงานที่นำความสุขใจมาให้แก่คนจำนวนมากที่สุด กลับเป็นผลงานที่เธอทำเมื่ออายุเพียง 12 ปี น่าทึ่งเสียนี่กระไร

สายทิพย์
แสงดาวสวยพราวดูเด่น เพ่งเห็นเหมือนตาของเธอ (เดี๋ยวนี้ร้องเป็น เล็งเห็นเหมือนตา.....)
เฝ้าเผลอหัวใจละเมอ รำพัน (เดี๋ยวนี้ร้องเป็น เฝ้าเพ้อ....)
แสงเดือนเหมือนเตือนใจเศร้า โอ้เรารักเร้าดวงใจ (เดี๋ยวนี้ร้องเป็น ....รักร้าวฤทัย)
คอยไปเหมือนตัวแสนไกล รักมั่น (เดี๋ยวนี้ร้องเป็น....เพ้อไปถึงตัว.....)
จากเธอไปแล้วใจหาย ดวงใจยังคิดถึงสายสัมพันธ์
รักมั่นมิวาย คลายจาง
ขอเดือนช่วยเตือนใจมั่น ใฝ่ฝันถึงเธอทุกวัน
มองจันทร์นึกความสัมพันธ์ ครั้งก่อน

ต่อมาอีกหลายสิบปี ประมาณปี 2509 นักเรียนไทยสองคนกับชาวนิวซีแลนด์ คือ Mrs.Baker ผู้มีความรักในวัฒนธรรมไทย เรียนภาษาไทย และหัดร้องเพลงไทย ได้ฟังเพลง “สายทิพย์” และเกิดแรงบันดาลใจ จึงช่วยกันกับเด็กนักเรียนไทยอีกสองคนแปลเพลง “สายทิพย์” เป็นภาษาอังกฤษ ดังนี้

Starlight that Shine so Bright,
Remind me of your eyes,
My heart is full of signs, my love.
Moonlight on my tears fall,
My face, I cannot hide,
Return Soon to my side, my love
You are gone I’m all alone
But Still dreams linger on,
You always be the one, I love
May the stars remember me,
To you each night and day,
Whilst you ’re so far away, my love.

เพลง “สายทิพย์” ภาคอังกฤษนี้ไม่เป็นที่แพร่หลายเท่ากับเพลงไทย แต่นักเรียนนิวซีแลนด์กลุ่มเล็กๆ ชอบร้องเพลงไทยแล้วสลับด้วยเนื้อภาษาอังกฤษ

เพลง “สายทิพย์” เป็นตำนานและเป็นตัวอย่างของความคิดสร้างสรรค์ และการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งอย่างเป็นธรรมชาติ

เวลานี้อาจารย์สายสุรี อายุ 74 ปี คุณหมอปานทิพย์ อายุ 78 ปี ทั้งสองท่านเป็นผู้นำให้คนนับล้านคนได้มีความสุขกับเพลงที่ท่านได้ร่วมกัน ประพันธ์ขึ้น ถ้าจะนับอายุของเพลงนี้ก็ได้ 62 ปีแล้ว

ขอให้ทั้งสองท่านมีอายุยืนๆ มีสุขภาพดีนะคะ

จากเด็กนักเรียนเก่านิวซีแลนด์ ผู้ร่วมแปลเพลง “สายทิพย์” เป็นภาษาอังกฤษ และขับร้องเพลงนี้เป็นภาษาอังกฤษครั้งแรก เมื่อ 40 ปีมาแล้ว"

ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในสมัยก่อนเขาจะมีประเพณีจับคู่รุ่นพี่ให้ดูแลรุ่นน้อง จากเรื่องที่เล่ามา ความผูกพันนั้นมีมากจริงๆ เพราะต้องอยู่ร่วมกัน เรียนร่วมโรงเรียนกัน ดูแลกัน....การที่ต้องดูแลกันนี่แหละ ที่สร้างความรักต่อไปอย่างไม่ขาดสาย จากรุ่นสู่อีกรุ่น ไม่รู้จบ เดี๋ยวนี้ก็ยังคงมีอยู่ตามมหาวิทยาลัย ที่รุ่นพี่ดูแลรุ่นน้อง แต่จะผูกพันจริงๆหรือไม่...เท่าที่สังเกตดู...เหมือนจะด้อยลงไปเยอะ เคยถามดูจากนักศึกษา เหมือนๆกับเป็นแค่เป็นกระบวนการของระเบียบ...พี่รหัส น้องรหัส พี่ภาค น้องภาค...พาไปเลี้ยงอาหารกันบ้าง ตามที่ตัวเองเคยรับรู้มา...จบคอร์สแล้วก็จบเลย....หาความผูกพันทางใจไม่ได้ น่าเสียดายประเพณีที่ดีๆอย่างนี้นะคะ และที่เป็นข่าวทุกปี...รับน้องกันถึงตาย...




ขอบคุณเวบผู้จัดการและคุณชัยอนันต์ สมุทวานิช ที่เล่าให้ฟังถึงเบื้องหลังเบื้องลึกทั้งหมดค่ะ
Via : สายทิพย์