Daisypath Anniversary tickers

คนดีและคนไม่ดี กับอนาคตของชาติ

Thursday, June 23, 2011



บ้านเมืองของเราจะสงบสุข หรือจะวุ่นวายต่อไปหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับเราทุกคน ที่ใส่ใจต่อพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าท่านได้ทรงดูแลบ้านเมืองนี้มาเป็นเวลานาน เห็นเหตุการณ์ต่างๆมามากกว่าพวกเราทุกคน และเห็นลึกลงไปถึงเบื้องหลังเรื่องต่างๆด้วย เพราะพระองค์ท่านจะเข้าไปช่วยคลี่คลายเหตุการณ์ให้จบลงด้วยดี...ซึ่งในชีวิตของเราก็เห็นอยู่หลายครั้ง ที่บ้านเมืองวุ่นวาย...พระบรมราโชวาทนี้ถึงได้มีขึ้นสำหรับเราชาวไทย...หรือพสกนิกรของพระองค์
เหตุการณ์ร้ายๆที่เกิดขึ้นในบ้านเรา แสดงให้เห็นว่า มีใครบ้างที่ก่อความวุ่นวาย ทำไมถึงตกลงกันดีๆไม่ได้ ทำไมต้อง “ทำลายประเทศของตัวเอง” เผาบ้านเมืองของเรา ถ้าจะย้อนไปถึงแก่นปัญหาจริงๆแล้ว โดยไม่หยุดตรงเหตุการณ์ใด เหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะแล้ว ย้อนไปที่ต้นตอเลย ก็จะพบว่า บ้านเรามีการโกงกินกันอย่างรุนแรง ซึ่งก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะคนที่เข้ามาปกครอง บริหารประเทศนั้น เข้ามาแบบโกงกันเข้ามา ในเมื่อซื้อเสียงเข้ามา ก็ต้องมีการถอนทุนและหากำไร มีคนพูดว่า อาชีพที่ทำให้รวยได้ทันใจคืออาชีพนักการเมือง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดหรอกนะ ครูเห็นนักการเมืองส่วนหนึ่ง เขาก็ยังคงอยู่เสมอต้นเสมอปลาย ไม่ได้ร่ำรวยขึ้น นักการเมืองมีทั้งคนดีและคนไม่ดี เราถึงต้องชั่งใจเลือก ดูพรรค ดูว่าพรรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ใครเป็นหัวหน้าพรรค การเลือกหัวหน้าพรรคเขาทำกันแบบไหน เป็นพรรคที่ตั้งขึ้นโดยใครคนใดคนหนึ่งหรือไม่ หรือตั้งขึ้นโดยกลุ่มคนที่รวมตัวกันตั้งพรรคขึ้นมา ดูแนวทางพรรค นโยบายเขามุ่งไปทางไหน ทางเศรษฐกิจ ทางการศึกษา ทางสังคม ซึ่งก็มีหลายด้านเหลือเกิน พูดเรื่องอะไรก็ดูเหมือนจะตรงใจกับคนแต่ละกลุ่ม แต่ครูอยากให้พวกเธอได้ดูเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาคน เพราะคนนี่แหละคือสิ่งสำคัญ พัฒนาคนในทุกๆด้าน ให้คนของเราเป็น “พลเมือง” ให้ได้ ให้คนของเรามีการศึกษาที่ดี มีศิลธรรม และสุขภาพดี ซึ่งครูจะไม่พูดถึงเศรษฐกิจเลย เพราะสิ่งนี้ได้มาจากผลพวงของการศึกษาทั้งนั้น มาจากคุณภาพของคนแท้ๆ พูดอย่างนี้ถ้าถามว่าเอาตัวอย่างจากไหนมาวัด ครูตอบได้ง่ายๆเลย จากประเทศสิงคโปร์ค่ะ เปรียบเทียบกันง่ายๆเลย ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี่ ไม่มีใครจะล้ำหน้าคนสิงคโปร์ไปได้ การศึกษานี่แหละเป็นตัวชี้วัด อาจมีตัวอื่นเสริม เช่นการปกครองที่เข้มแข็ง กฎหมายที่ทุกคนต้องปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด นั่นเป็นแค่ตัวเสริมให้เขาเจริญอย่างมั่นคงขึ้น การคอรัปชั่นหรือการโกงแทบไม่มี นั่นก็มาจากการรู้เท่าเทียมกันของพลเมือง และการบังคับใช้กฎหมายที่บิดเบี้ยวไม่ได้.....ทีนี้ไปดูการบริหารพรรค สำคัญค่ะ เป็นพรรคที่ต้องอาศัยสมาชิกพรรคเข้ามาลงมติ ตัดสินในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือพรรคที่มีเจ้าของ ที่เจ้าของพรรคสามารถชี้ไปได้ว่าจะเอาอย่างนั้นอย่างนี้....เด็กๆอาจจะไม่รู้ว่ามีเรื่องอย่างนี้ด้วย แต่จริงๆแล้วบางพรรคการเมืองในเมืองไทย มีเจ้าของพรรคเลย เป็นนายทุนพรรคก็ว่าได้ อาศัยพรรคการเมืองเข้ามาบริหารประเทศ ถ้าเจ้าของพรรคเห็นแก่ประเทศชาติจริงๆ เราก็อาจโชคดี ประเทศก็จะเจริญรุ่งเรือง แต่ถ้าเขาเป็นคนไม่ดี เราก็จะเห็นกลุ่มของนักการเมืองนั้น รวยกันทั้งกลุ่ม พวกเธอก็ต้องนั่งคุยกันละ ในครอบครัวของเธอว่า ตกลง เราจะเลือกคนกลุ่มไหน พรรคไหนเข้ามาบริหารประเทศ ภายใต้พระบรมราโชวาทที่ได้ให้ไว้ “ในสังคมนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความวุ่นวายได้”

ดูหนังแนวให้คิด...โครอลไลน์

Friday, June 10, 2011



ในช่วงที่กำลังสับสน การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง จะเลือกใคร เข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศ...หลายปีที่ผ่านมามีความวุ่นวายมากในบ้านเรา แม้ในจังหวัดอุดรของเรา ก็เกิดเรื่องไม่ได้หยุดยั้ง การเดินขบวน ไล่ล่าทำร้ายกันระหว่างผู้เดินขบวน ชุมนุม ที่หนองประจักษ์ จะเห็นว่า คนไทยที่เราเห็นนั้น โหดร้ายเข้าทุกวัน พร้อมที่จะเข้าไปฆ่า ไปทำร้ายใครก็ได้...เพื่อประชาธิปไตยรึ? ครูคิดว่าไม่น่าจะใช่นะ...แนวความคิดเรื่องประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องที่จะชนะคะคานกันด้วยการมุ่งร้ายต่อกัน นั่นมันเป็นพวกนักเลง พวกที่ใช้กำลังความคิดไม่เป็น เลยใช้กำลังต่อสู้ ครูมีภาพที่เขาทำร้ายกัน เผาบ้านเมืองของตัวเอง แต่ไม่อยากที่จะเอามาให้ดู ที่จริงโลกเราเปลี่ยนไปมาก จนกลายเป็นพวกใจคอโหดร้าย ถ้าเป็นฝรั่งเขาจะตกอยู่ในพวก Mean World Syndrome โหดร้ายมากค่ะ บางทีคนแก่โดนตี โดนทำร้าย เขาดูกันเฉยๆ ไม่มีใครเข้าไปช่วย ไปห้ามปราม คนถูกรถชนนอนกลิ้งอยู่บนถนน ก็ไม่มีใครสนใจ เดินผ่านไปมา นั่นเพราะใจคอของคนกลายเป็นพวกใจไม้ใส้ระกำ เรากำลังอยู่ในสังคมอย่างนี้อยู่

ในเรื่องที่ครูพูดไว้เบื้องต้น เรื่องความสับสนจะเลือกใครดี สำหรับบางคนเขาเลือกเอาไว้แล้ว ครูก็มีพรรคที่จะเลือกอยู่ในใจแล้วเหมือนกัน ทีนี้ครูจะขอเข้าเรื่องหนังที่ครูดูผ่านๆไป แต่ก็เข้ากับเรื่องประชาธิปไตย การเลือกว่าจะยืนอยู่ตรงไหนในสังคมไทย เป็นหนังเด็กๆ เรื่อง Coraline (โครอลไลน์กับโลกพิศวง) เนื้อเรื่องเกี่ยวกับเด็กหญิง โครอลไลน์ ที่ย้ายเข้ามาอยู่ในอพาร์ทเม้นท์เก่าๆหลังหนึ่ง แบ่งกันอยู่ 3 ครอบครัว พ่อแม่ของเธอ ทำงานเกี่ยวกับการจัดสวน และที่สำคัญคือไม่ได้โอ๋เธอเท่าไหร่นัก ทำให้เธอเหมือนกับถูกทิ้งไว้โดดเดี่ยว วันหนึ่งระหว่างที่เธอไปเล่นอยู่ข้างนอก ไปเจอกับหลานชายของเจ้าของที่ดิน และไปได้ตุ๊กตาที่คล้ายๆกับเธอเข้า เขาก็เอาตุ๊กตานั้นให้โครอลไลน์ และบอกว่าเคยมีเด็กที่ได้ตุ๊กตาที่หน้าเหมือนเจ้าของอย่างนี้ แล้วเด็กผู้หญิงก็หายไปแบบไร้ร่องรอย หลังจากกลับมาที่บ้าน โครอลไลน์พบประตูเล็กๆ ที่ถูกปิดเอาไว้ด้วยวอลล์เปเปอร์ หลังจากที่เปิดประตู ก็ปรากฎว่ามีกำแพงอิฐขวางอยู่ คืนนั้นเอง โครอลไลน์ตื่นขึ้นเพราะได้ยินเสียงของหนู เธอตามมันไปถึงประตู พบว่ากำแพงอิฐหายไปแล้ว และเป็นช่องทางเดินเข้าสู่อีกประตูหนึ่ง ในที่สุดทางนั้น โครอลไลน์ก็ได้พบกับ “อีกโลกหนึ่ง” ได้พบพ่อคนใหม่ แม่คนใหม่ ซึ่งต่างจากพ่อแม่ที่แท้จริงของเธอ คือเอาใจใส่อย่างที่สุด ที่ต่างกันอีกก็คือตาของพ่อแม่ใหม่เย็บด้วยกระดุม คืนนั้นโครอลไลน์นอนค้างอยู่กับบ้านอีกโลกหนึ่ง แต่เมื่อเธอตื่นขึ้นมาตอนเช้า กลับพบว่านอนอยู่บนเตียงที่บ้าน....โอ น่าสนุกค่ะ เธอเล่าให้พ่อแม่ฟัง แต่เขาก็บอกว่ามันเป็นแค่ฝันไปน่ะ โครอลไลน์ยังแอบไปอีกโลกหนึ่งทุกคืน อยู่ที่นั่นอย่างสนุกสนาน จนกระทั่งเจอกับแมวของตัวเองที่เข้ามายังอีกโลกหนึ่งของเธอได้ แมวนี่พิเศษกว่าสัตว์ใดๆนะคะในภาพยนตร์ มักเป็นแมวที่มีความสามารถพิเศษทั้งนั้น เตือนเธอว่าที่นี่อันตรายนะ แต่เธอก็ไม่ใส่ใจ จนกระทั่งวันหนึ่งแม่ใหม่ก็ชวนโครอลไลน์ให้อยู่ที่นั่นถาวรไปเลย ซึ่งเธอก็ตื่นเต้นอยากอยู่ แต่ว่าเธอต้องเอากระดุมมาเย็บตาให้เหมือนกับพ่อแม่ใหม่ ถึงจะอยู่ได้...โครอลไลน์ปฏิเสธและขอกลับบ้าน...นั่นทำให้แม่ใหม่ไม่พอใจขึ้นมา.....จากพ่อแม่ที่ทำเป็นใจดีแต่แรก ก็กลายร่างเป็นคนร้ายไปทันที...เอาละครูจะไม่เล่าต่อ พวกเธอไปหาดูเอาเอง สนุกกว่าเป็นไหนๆ

ที่ครูอยากจะบอกก็คือ เราอยู่กันมาเป็นเวลานาน อยู่กันอย่างมีความสุข แม้จะไม่เท่าเทียมกันนัก แต่ก็พอที่จะอยู่กันอย่างมีความสุขมาตลอด ไม่เคยมีเรื่องที่จะต้องมาทำร้ายกัน เผาบ้านเผาเมืองกัน...ไม่มี มีคนเคยพูดว่าเราจะอยู่ในบ้านเมืองที่เราไม่รู้จักมาก่อนในอนาคตอันไกล้...ครูว่ามันน่ากลัว ในการเลือกรัฐบาลก็เหมือนกัน ดูแต่ละคนที่เข้ามา ทำทีเป็นพ่อแม่ใหม่กันทั้งนั้น เบื้องหลังเขาเป็นอย่างไร ถ้านั่งคิดกันสักหน่อยก็จะเห็น เดี๋ยวนี้เรามีนักการเมืองที่เป็นนายทุนเยอะ นั่นคือผลประโยชน์ พวกเธอต้องฉลาดกลับไปนั่งคิด จะเอาพ่อแม่ที่เป็นพ่อแม่เดิม ซึ่งก็ทำงานเลี้ยงดูเรามาตลอด หรือจะเอาพ่อแม่ใหม่....

รอบรั้ว หน้าที่พลเมือง สถานภาพของบุคคลในสังคม

Thursday, June 9, 2011


พลเมือง หมายถึง พละกำลังของประเทศ ซึ่งมีส่วนเป็นเจ้าของประเทศนั่นเอง ซึ่งต่างจากชาวต่างด้าวเข้าเมือง ชาวต่างประเทศนี้เข้ามาอยู่ชั่วคราว เมื่อกล่าวถึงพลเมืองของประเทศใด ย่อมหมายถึงบุคคลทั้งหลายที่มีสัญชาติของประเทศนั้นๆ ตามกฎหมายของแต่ละประเทศ เช่น เมื่อกล่าวถึงพลเมืองของประเทศไทยย่อมหมายถึงคนทั้งหลายที่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายไทย

พลเมืองของแต่ละประเทศย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายของประเทศนั้น บุคคลต่างสัญชาติที่เข้าไปอยู่อาศัยซึ่งเรียกว่าคนต่างด้าว ไม่มีสิทธิเท่าเทียมกับพลเมือง และมีหน้าที่แตกต่างออกไป เช่น อาจมีหน้าที่เสียภาษี หรือค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นตามที่กฎหมายของแต่ละประเทศบัญญัติไว้

สิทธิและหน้าที่เป็นสิ่งคู่กัน เมื่อมีสิทธิก็ต้องมีหน้าที่ พลเมืองของทุกประเทศมีทั้งสิทธิและหน้าที่ แต่จะมีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับกฎหมายของประเทศนั้น ๆ และแน่นอนว่าประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิมากกว่าการปกครองในระบอบอื่น เพราะมีสิทธิที่สำคัญที่สุด คือ สิทธิในการปกครองตนเอง (และต้องไม่ล่วงเกินสิทธิของผู้อื่น หมายความว่าอย่างไร หมายถึงต้องเคารพผู้อื่นด้วย)

พลเมืองดี หมายถึง ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่พลเมืองได้ครบถ้วน ทั้งกิจที่ต้องทำ และกิจที่ควรทำ

หน้าที่ หมายถึง กิจที่ต้องทำ หรือควรทำ เป็นสิ่งที่กำหนดให้ทำ หรือห้ามมิให้กระทำ ถ้าทำก็จะก่อให้เกิดผลดี เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว หรือสังคมส่วนรวมแล้วแต่กรณี ถ้าไม่ทำหรือไม่ละเว้นการกระทำตามที่กำหนดจะได้รับผลเสียโดยตรง คือ ได้รับโทษ หรือถูกบังคับ เช่น ปรับ จำ คุก หรือประหารชีวิต เป็นต้น โดยทั่วไปสิ่งที่ระบุกิจที่ต้องทำ ได้แก่ กฎหมาย เป็นต้น

กิจที่ควรทำ คือ สิ่งที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำ หรือละเว้นการกระทำ ถ้าไม่ทำหรือละเว้นการกระทำ จะได้รับผลเสียโดยทางอ้อม เช่น ได้รับการดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือไม่คบค้าสมาคมด้วย ผู้กระทำกิจที่ควรทำจะได้นับการยกย่องสรรเสริญจากคนในสังคม โดยทั่วไปสิ่งที่ระบุกิจที่ควรทำ ได้แก่วัฒนธรรมประเพณี เป็นต้น

พลเมืองดีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมของชาติคำสั่งสอนของพ่อแม่ ครู อาจารย์ มีความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน รู้จักรับผิดชอบชั่วดีตามหลักจริยธรรม และหลักธรรมของสาสนา มีความรอบรู้ มีสติปัญญาขยันขันแข็ง สร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ

ก่อนอื่น ครูขอพูดทำความเข้าถึงคำว่า “ไพร่” ก่อน เพราะตอนนี้จะมีผู้มาชุมนุม ใช้คำๆนี้ในการปราศรัย และอุปโลกน์ตัวเองว่า เป็นไพร่

ในสมัยโบราณสถานภาพที่มีในสังคมมักแบ่งแยกชัดเจน มีการกดขี่จากผู้มีอำนาจ หรือผู้ปกครองที่ตั้งกฎได้ตามอำเภอใจ เราจะเห็นได้จากในภาพยนตร์ การค้าทาส การเข้าไปกดขี่ในรูปแบบต่างๆ ในอเมริกาเกิดสงครามกลางเมืองก็สืบเนื่องมาจากทาส การเลิกทาส ในอินเดียมีการแบ่งแยกเป็นวรรณะ เป็นกษัตริย์ พราห์มณ์ แพทย์ ศูทร และจัลฑาล ดูๆแล้วก็ไม่เป็นธรรมสำหรับอีกสังคมหนึ่ง บ้านเมืองของเราในสมัยก่อนก็มีทาส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้มีการเลิกทาส ใช้เวลา 40 ปี ถึงจะสำเร็จ เพราะพระองค์ไม่ใช้วิธีแบบที่ประธานาธิบดิ อับราฮัม ลินคอล์นแห่งประเทศอเมริกาทำ คือเลิกกันเลยแบบหักด้ามพร้าด้วยหัวเข่า ประเทศไทยเลิกทาสแบบค่อยเป็นค่อยไป แล้วก็เลิกระบบไพร่ตามหลังมา ในระยะนี้จะมีคนมาปลุกระดม อยากเป็นไพร่ขึ้นมาอีก ใส่เสื้อบอกว่าตัวเองเป็นไพร่ เขาคิดว่าสถานภาพของเขาเหมือนไพร่ ครูพูดเรื่องนี้ให้ร่วมสมัยก็เพื่อให้เราได้เรียนประวัติย้อนหลังด้วย ว่าเราเลิกไพร่ไปได้อย่างไร จะได้เข้าใจสถานภาพของบุคคลในสังคมของเราได้กว้างยิ่งขึ้น

ไพร่คืออะไร ในสังคมไทยสมัยโบราณ ไพร่ หมายถึง สามัญชนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในฐานะทาส หรือเจ้าขุนมูลนาย มีอิสระในการประกอบอาชีพ การตั้งบ้านเรือน มีครอบครัว แต่มีหน้าที่ในการถูกเกณฑ์แรงงาน หรือเสีย "ส่วย" และถูกเกณฑ์ทหารในยามที่มีศึกสงคราม

คำว่า ไพร่ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายไว้ว่า น. ชาวเมือง, พลเมืองสามัญ; คนเลว. ว. สามัญ.และมีลูกคำอยู่อีก 5 คำ คือ ไพร่พล, ไพร่ฟ้า, ไพร่สม, ไพร่ส่วย, ไพร่หลวงคือ คำว่า ไพร่นี้ เดิมหมายถึง ราษฎรสามัญ แต่ในปัจจุบันหมายถึง ชนชั้นต่ำ

ไพร่พล หมายถึง กำลังทหาร กำลังคน

ไพร่ฟ้า หมายถึง คนสามัญเป็นคำเรียกมาแต่โบราณ ที่เคยได้ยิน เช่นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ไพร่ฟ้าข้าไท ไพร่ฟ้าข้าทาส 2 คำหลังมีสลักอยู่ในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย

ไพร่ที่สำคัญๆ โดนอ้างถึงบ่อยๆคือ ไพร่สม ไพร่หลวงและไพร่ส่วย

ไพร่สม เป็นไพร่ที่พระมหากษัตริย์พระราชทานให้มูลนายและขุนนางที่มีตำแหน่งทางราชการเพื่อผลประโยชน์ตอบแทน มูลนายจะมีไพร่มากน้อยขึ้นอยู่กับ ยศ ตำแหน่ง ศักดินา ไพร่สมต้องทำงานให้ราชสำนักปีละ 1 เดือน ส่วนเวลาที่เหลือรับใช้มูลนายหรือส่งเงินแทน เมื่อถึงยามสงครามทุกคนต้องเป็นทหารป้องกันอาณาจักร เมื่อมูลนายถึงแก่กรรมไพร่สมจะถูกโอนมาเป็นไพร่หลวง นอกจากบุตรจะขอควบคุมไพร่สมต่อจากบิดา

ไพร่หลวง คือไพร่ที่สังกัดกรมกองต่างๆ เป็นไพร่ของพระมหากษัตริย์โดยตรง ประเภทที่ต้องถูกเกณฑ์มาทำงานตามราชการกำหนด

ไพร่ส่วย คือไพร่ที่ต้องเสียเงินหรือสิ่งของมาแทนการเกณฑ์แรงงาน การส่งเงินมาแทนการเกณฑ์แรงงาน เงินที่ส่งมาเรียกว่า "เงินค่าราชการ"

ทีนี้มาถึงตอนสำคัญของไพร่ คือการเลิกไพร่ ซึ่งที่จริงการมีไพร่คือการมีแรงงานไว้ทำงาน ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีปัญหาหลายอย่างจากการมีไพร่อยู่เหมือนกัน เช่นการควบคุมไม่ถึง ทำให้เจ้าขุนมูลนายต่างๆได้มีผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจจากไพร่ มีการเบียดบัง และใช้ไพร่เป็นอำนาจทางการเมือง ในสมัยนั้นเรามีการค้าจากต่างประเทศ การค้าข้าวซึ่งใช้แรงงาน ต้องนำแรงงานจากต่างประเทศเข้ามา (ยังคงอยู่จนปัจจุบัน) และที่สำคัญคือการลดอำนาจของเจ้าขุนมูลนายไปในตัว ในวิกฤติการณ์วังหน้า พ.ศ. 2417 กองกำลังไพร่พลที่ฝึกหัดกันมาสร้างความไม่มั่นคงต่อราชบัลลังก์ได้ ในการแก้ไข ก็ได้ทำอย่างต่อเนื่องคือ การแก้ไขปรับปรุงระเบียบการบริหารในกรมพระสุรัสวดี (ปัจจุบันยังคงอยู่ในหน่วยทหาร ที่เรียกว่า สัสดี ส่วนของพลเรือน ก็เปลี่ยนเป็นกองทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง) ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา รัชกาลที่ 5 ทรงแก้ไขโดยยกฐานะกรมพระสุรัสวดีให้มีความเท่าเทียมกับกรมสำคัญอื่นๆ การฟื้นฟูกรมทหารหน้า รัชกาลที่ 5 ทรงดำเนินการใน พ.ศ. 2423 ได้มีการประกาศรับสมัครคนมือขาว (คนที่ไม่ได้สักเลก) หรือไพร่ที่ไม่ได้สังกัดมูลนายเข้ามาเป็นทหาร กรมทหารหน้ามีความก้าวหน้ามากและได้กลายเป็นพื้นฐานสำหรับการจัดกองทัพประจำการ การควบคุมคนให้ขึ้นสังกัดตามท้องที่จากการทำทะเบียนสำมะโนครัว ใน พ.ศ. 2444 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเก็บเงินค่าราชการ เพื่อเป็นกฎหมายแน่นอนว่าชายฉกรรจ์ที่มีอายุ 18-60 ปีต้องเสียค่าราชการ ไม่เกินปีละ 6 บาท
พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร พ.ศ. 2448 กำหนดให้ชายฉกรรจ์ทุกคนที่มีอายุ 18 - 60 ปี ต้องเป็นทหารและผู้ที่ได้ผ่านการคัดเลือกต้องรับราชการ 2 ปี และได้รับการฝึกฝนทหารแบบใหม่มีกระทรวงกลาโหมเป็นผู้ดูแล จึงถือได้ว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการยกเลิกการควบคุมระบบไพร่แบบเดิม

จะเห็นว่า เราได้เลิกระบบไพร่ไปได้หมดตั้งแต่ปี 2448 นั่นก็คือ การย่างเข้าสู่โลกที่เป็นอยู่แบบปัจจุบัน

เอาละ ที่นี้เราจะเข้าสู่บทเรียน หน้าที่พลเมืองเสียที

การอยู่ร่วมในสังคมอย่างมีความสุข คือการเข้าใจในเรื่องสถานภาพ สิทธิ เสรีภาพและหน้าที่ของตนเองอย่างถูกต้อง ถ้าพูดในทางศาสนาคือให้มีสติรู้ตนในการดำเนินชีวิต

1. สถานภาพ หมายถึง ตำแหน่งที่บุคคลหนึ่งครองอยู่ในสถานที่หนึ่ง บอกว่าเธอเป็นใครในสังคมในช่วงเวลาหนึ่ง พวกเธอไม่สามารถที่จะเป็นเด็ก ป. 5 ไปได้ตลอดชีวิต อีกไม่กี่ปีพวกเธอก็จะเรียนต่อชั้นมัธยมต้น บุคลหนึ่งมีหลายสถานภาพ เป็นเด็กนักเรียน เป็นลูกของพ่อแม่ เป็นศิษย์ของครู เป็นทหารป้องกันประเทศ เป็นหมอ เป็นตำรวจ เป็นได้เยอะแยะเท่าที่เธออยากจะเป็น ในเบื้องต้นเราจะแยกแยะประเภทของสถานภาพได้ เป็น 2 อย่างคือ

1.1 สถานภาพที่ได้มาจากการกำเนิด เช่นทางเครือญาติ เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก สถานภาพทางเพศ เช่นเพศชาย เพศหญิง สถานภาพทางเชื้อชาติ เช่นเป็นคนไทย คนจีน เป็นฝรั่ง เป็นแขก ฯลฯ สถานภาพทางถิ่นกำเนิด เช่นเป็นคนภาคกลาง คนภาคอิสาน และอื่นๆอีกเยอะ

1.2 สถานภาพที่ได้มาด้วยความสามารถ เช่นสถานภาพทางการศึกษา เรียนจบปริญญาตรี มีวุฒิปริญญาตรีติดตัวไปเลย ถ้าเรียนจบปริญญาโท หรือเอก ก็มีสถานภาพเพิ่มขึ้น สถานภาพทางอาชีพ เช่นเป็นครู เป็นแพทย์ เป็นชาวนา ฯลฯ สถานภาพทางการสมรส ก็จะได้เป็นสามี เป็นภรรยา คนเรามีความสามารถเยอะ ตั้งใจจะเป็นอะไร ก็เป็นได้ เป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นนักบินอวกาศ เป็นนักร้อง นักแสดง เมื่อมีความสามารถทุกคนเป็นได้หมด ครูหวังว่าคงมีใครสักคนในห้องนี้ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

2. บทบาท หมายถึงการกระทำที่สังคมคาดหวังไว้ เราเห็นได้ชัดเจนจากภาพยนตร์ ละครทางโทรทัศน์ เช่นเป็นตำรวจ บทบาทของตำรวจคือรักษาความสงบ จับผู้ร้าย หน้าที่ของตำรวจคือผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ครูมีบทบาทคือสั่งสอนลูกศิษย์ คอยอบรม ให้คำแนะนำ พ่อและแม่ก็มีสถานภาพเป็นบิดา มารดา บทบาทคือเลี้ยงดู ส่งเสียให้บุตรมีการศึกษา รับปรึกษาหาคู่ครองให้ เป็นต้น เป็นนักเรียนก็มีบทบาทเหมือนกัน คือตั้งใจเล่าเรียน อ่อนน้อมถ่อมตน ทำตัวน่ารัก ไม่เกเร ฯลฯ

3. สิทธิ หมายถึง อำนาจหรือผลประโยชน์ของบุคคลที่มีกฏหมายให้ความคุ้มครอง โดยบุคคลอื่นจะต้องให้ความเคารพ จะละเมิดล่วงเกินหรือกระทำการใดๆ อันก่อให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อสิทธิของบุคคลไม่ได้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร์ไทย พ.ศ. 2550 กำหนดสิทธิของบุคคลไว้ดังนี้

1. บุคคลจะกล่าวหาด้วยข้อความหรือภาพ โดยละเมิดหรือกระทบถึงสิทธิชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่นมิได้

2. ทุกคนมีสิทธิได้รับการศึกษาพื้นฐาน ไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

3. ทุกคนมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

4. เด็กและเยาวชน มีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติไม่เป็นธรรม

5. บุคคลซึ่งพิการหรือทุพพลภาพ (คนที่หย่อนกำลังความสามารถที่จะประกอบการงานได้ตามปกติ) มีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ และการช่วยเหลือจากรัฐ

6. ทุคนมีส่วนร่วมในการรักษาทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมที่ดี

4. เสรีภาพ หมายถึง ความมีอิสระที่จะทำการใดๆ ตามสิทธิที่มีอยู่ โดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น หรือขัดต่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และศิลธรรมอันดีของประชาชน อันนี้เราเห็นกันบ่อยมากในประเทศของเรา การชุมนุมประท้วงในเรื่องต่างๆ หรือที่เรียกกันว่าสร้างม็อบกัน บางทีก็ก่อความไม่สะดวกในการเดินทางของประชาชน หรือไปปิดถนน ส่งเสียงอึกทึก ฯลฯ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ 2550 กำหนดเสรีภาพของบุคคลไว้ ดังนี้

1. บุคคลย่อมมีเสรีภาพในเคหสถานในการที่จะอยู่อาศัย และครอบครอง

2. บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทาง ในการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในราชอาณาจักร

3. บุคคลย่อมมีเรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางที่ชอบด้วยกฎหมาย

4. บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา

5. บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเรียนรู้ การโฆษณา

6. บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพต่างๆ ที่ไม่ผิดกฎหมาย

5. หน้าที่ หมายถึง สิ่งที่บุคคลพึงกระทำ หรืองดเว้นไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่กฎหมายกำหนดไว้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ 2550 กำหนดหน้าที่ของบุคคลไว้ ดังนี้

1. บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2. บุคคลมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย

3. บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

4. บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รับราชการทหาร เสียภาษีอากร ช่วเหลือราชการ รับการศึกษา อบรม พิทักษ์ ปกป้อง และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติ และภูมิปัญญาท้องถิ่น อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม



Posted by ครูพเยาว์ at 9:17 AM