Daisypath Anniversary tickers

รอบรั้ว วัดนาหลวง พระมหาวิทยาลัยแห่งชีวิตและนิพพาน

Wednesday, February 18, 2009


หลายคนที่สนใจในคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา เมื่อพูดถึงวัดที่พูดได้ว่าบุกเบิกสั่งสอนลูกศิษย์อย่างเอาจริงเอาจัง ที่จังหวัดอุดรธานี ต้องนึกถึงวัดนาหลวง หรือวัดอภิญญาเทสิตธรรม หรืออีกชื่อหนึ่ง วัดภูย่าอู่ ทั้ง 3 ชื่อนี้เป็นวัดเดียวกัน ตามแต่ใครสะดวกจะเรียกว่าชื่อวัดอะไร หรือบางคนเรียกไปว่าวัดหลวงพ่อทองใบไปเลย ที่เป็นเช่นนี้เพราะวัดนี้ ตั้งอยู่บนภูเขา ที่เรียกว่าภูย่าอู่ อยู่ในหมู่บ้านนาหลวง หลวงพ่อ หรือหลวงปู่ทองใบ ท่านจะสอนในเรื่องธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเพื่อความรู้จริง อันได้แก่โพธิปักขิยธรรม 37 ชื่อเลยออกมาเป็นวัดอภิญญาเทสิตธรรมด้วยอีกชื่อหนึ่ง เห็นมั๊ยคะ แม้แต่ชื่อวัดก็เป็นเรื่องราวมาเล่าได้แล้ว

มาวันนี้ หลวงพ่อได้มีความประสงค์ที่จะสร้างวัดของท่านให้เป็น "มหาวิทยาลัยแห่งชีวิตและนิพพาน" อันสืบเนื่องมาจาก ผู้คนจากทุกสารทิศได้เข้ามาศึกษา ฟังธรรมะท่าน มากขึ้นๆทุกวัน การอบรมเหล่าพุทธศาสนิกทุกหมู่เหล่า รวมทั้งพระ-เณร ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น สถานที่จึงคับแคบลงถนัดตา

ตามใบประกาศของทางวัด ได้เขียนเอาไว้ว่า "มหาวิทยาลัยแห่งชีวิตและนิพพาน เป็นการเปิดทาง วางหลัก วิธีการ งานพุทธ ยุทธศาสตร์ ปราชญ์อริยะเป็นแผนงานของพระเดชพระคุณพระภาวนาวิสุทธาจารย์ (หลวงพ่อทองใบ ปภัสสโร) เพื่อชี้ทางสะอาด สว่าง สงบ แก่สัตว์โลกทั้งหลายให้เดินไปอย่างถูกต้องตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

มหาวิทยาลัยแห่งชีวิตและนิพพาน เป็นงานที่พระเดชพระคุณท่านได้กำหนดพิธีวางศิลาฤกษ์ ก่อสร้างตึกสามชั้น โดยใช้ชื่อว่า "บ้านอริยภูมิ" ในวันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธุ์ 2552 เวลาเที่ยงตรง ท่านอาจารย์ท่านตั้งชื่อได้อย่างมีความหมายมาก สำหรับผู้ที่ไปฟังธรรมจากท่าน เหมือนกับไปสู่บ้านซึ่งเป็นบ้านของผู้มีธรรม ผู้ที่หลุดพ้นจากโลกของผู้มีกรรม ผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในโลกที่ยังแก่งแย่ง ชิงดี ชิงเด่น ชิงรวย ชิงกันสร้างเวรหากรรมมาใส่ตัว การได้มานั่งอยู่ใน "บ้านอริยภูมิ" ตามความเห็นของครูนะ เท่ากับได้ตระหนักดีแล้วว่าข้างนอกนั้นล้วนแต่มีความทุกข์ ได้นั่งอยู่ต่อหน้าหลวงพ่อ ก็จะได้สดับตรับฟังหนทางที่หลวงพ่ออธิบายว่าเราต้องเดินอย่างไร ถึงจะพ้นจากกองทุกข์เหล่านั้นได้ บ้านนี้จึงเป็นบ้านที่เราทั้งหมด ควรสร้างเอาไว้ เผื่อให้ผู้อื่นที่ผ่านมาได้อาศัย ได้หลุดพ้นจากกองทุกข์ไปด้วย นับว่าเป็นบุญกุศลเป็นอย่างยิ่งค่ะ

บ้านอีกหลังหนึ่งที่หลวงพ่อได้สร้างไปแล้ว ตอนที่ครูไปดูก็จวนจะเสร็จแล้วเต็มที อีกไม่เกินอาทิตย์ก็คงจะเสร็จเรียบร้อยค่ะ เป็นตึกสองชั้น เป็นบ้านแจกภัตรชื่อ "บ้านอปัสเสนธรรม" ครูยังไม่เห็นว่ามีชื่อเขียนไว้ตรงไหนค่ะ ได้ยินแต่คนพูดกัน ว่าใช้ชื่อนี้ และก็ได้ถกกันกับพระอาจารย์ธงชัยซึ่งเป็นพระอาจารย์สอน อบรมอยู่ที่วัดด้วย ว่าชื่อนี้ถูกต้องหรือเปล่า ก็พอฟังได้ว่า ถ้าไปค้นกันในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ได้ตรงกันแล้วละก็ คงจะถูกต้องที่สุดแล้วค่ะ เลยอยากให้ดูความหมายของอปัสเสนธรรมค่ะ ว่ามีความหมายอย่างไร


[202] อปัสเสนะ หรือ อปัสเสนธรรม 4 (ธรรมดุจพนักพิง, ธรรมเป็นที่อิงหรือพึ่งอาศัย - virtues to lean on; states which a monk should rely on)


1. สงฺขาเยกํ ปฏิเสวติ (ของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วเสพ ได้แก่ สิ่งของมีปัจจัย 4 คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช เป็นต้นก็ดี บุคคลและธรรมเป็นต้นก็ดี ที่จำเป็นจะต้องเกี่ยวข้องและมีประโยชน์ พึงพิจารณาแล้วจึงใช้สอยและเสวนาให้เป็นประโยชน์ - The monk deliberately follows or makes use of one thing.)

2. สงฺขาเยกํ อธิวาเสติ (ของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วอดกลั้น ได้แก่ อนิฏฐารมณ์ต่างๆ มีหนาว ร้อน และทุกขเวทนาเป็นต้น พึงรู้จักพิจารณาอดกลั้น - The monk deliberately endures one thing)

3. สงฺขาเยกํ ปริวชฺเชติ (ของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วเว้นเสีย ได้แก่ สิ่งที่เป็นโทษก่ออันตรายแก่ร่างกายก็ตาม จิตใจก็ตาม เช่น ช้างร้าย คนพาล การพนัน สุราเมรัย เป็นต้น พึงรู้จักพิจารณาหลีกเว้นเสีย - The monk deliberately avoids one thing.)

4. สงฺขาเยกํ ปฏิวิโนเทติ (ของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วบรรเทาเสีย ได้แก่ สิ่งที่เป็นโทษก่ออันตรายเกิดขึ้นแล้ว เช่น อกุศลวิตก มีกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก เป็นต้น และความชั่วร้ายทั้งหลาย พึงรู้จักพิจารณาแก้ไข บำบัดหรือขจัดให้สิ้นไป - The monk deliberately suppresses or expels one thing.)

อปัสเสน 4 นี้ เรียกอีกอย่างว่า อุปนิสัย 4 (ธรรมเป็นที่พึ่งพิง หรือธรรมช่วยอุดหนุน - supports; supporting states) เมื่อรู้จักพิจารณาปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ ให้ถูกต้องด้วยปัญญาตามหลักอปัสเสนหรืออุปนิสัย 4 อย่างนี้ ย่อมเป็นเหตุให้อกุศลที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมสิ้นไป และกุศลที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็เจริญยิ่งขึ้นไป

ภิกษุผู้พร้อมด้วยธรรม 4 ประการนี้ ดำรงอยู่ในธรรม 5 คือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา ท่านเรียกว่า นิสสยสัมบัน (ผู้ถึงพร้อมด้วยที่พึ่งอาศัย - fully reliant).

จาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรมพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)


ท้ายนี้ขอเชิญร่วมงานมหากุศล มหาทานบารมี พิธีวางศิลาฤกษ์ มหาวิทยาลัยแห่งชีวิตและนิพพาน และทอดผ้าป่าสามัคคี หากท่านสนใจจะสร้างมหากุศลทานบารมี แต่ไม่สะดวกไปร่วมงานสามารถโอนเงินเข้าบัญชีได้ที่

ธนาคารกรุงไทย สาขาบ้านผือ อุดรธานี ชื่อบัญชี กองทุนพระมหาวิทยาลัยแห่งชีวิตและนิพพาน วัดนาหลวง เลขที่ 431-1-12308-6

รอบรั้ว พระพุทธศาสนา เด็กกับศาสนา

Thursday, February 5, 2009


ก่อนที่จะถึงวันมาฆบูชา ซึ่งกำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ "เอแบคโพล" ได้เปิดผลวิจัยเรื่อง "ความตั้งใจทำความดีของเด็กและเยาวชนไทยในโอกาสวันมาฆบูชา" กรณีศึกษาเด็กและเยาวชนไทย อายุ 12- 24 ปี ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 2,120 คน พบว่า เด็กร้อยละ 44.5 สามารถระบุได้ว่า วันมาฆบูชาปีนี้ ตรงกับวันจันทร์ ที่ 9 กุมภาพันธ์ แต่ ร้อยละ 55.5 ไม่ทราบ เมื่อจำแนกกลุ่มตัวอย่างตามเพศ พบว่าเด็กผู้หญิง รับทราบว่าวันมาฆบูชาปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ มากกว่าเด็กผู้ชาย คือ ร้อยละ 51.5 ต่อ ร้อยละ 36.2

นอกจากนี้ ที่สำคัญก็คือ เด็กส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.0 ไม่ทราบว่าหลักธรรมคำสอนที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงในวันมาฆบูชาคือหลักธรรมอะไร

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่พวกเราควรที่จะเอาใจใส่ โรงเรียนซึ่งเป็นแหล่งให้ความรู้ ควรเตรียมล่วงหน้าตั้งแต่เนิ่นๆ พูดเกี่ยวกับเรื่องวันมาฆบูชา บอร์ดต่างๆในโรงเรียนทุกมุม ควรที่จะแสดงผลงานของเด็ก เกี่ยวกับความสำคัญของวันมาฆบูชา ครูก็ต้องคอยให้ความรู้เท่าที่โอกาสอำนวย เช่นหน้าแถวเสาธงตอนเช้า โฮมรูม ก่อนที่จะเข้าสู่การเรียนการสอน เราไม่สามารถรอหน่วยราชการอื่นๆได้ หรือหน่วยงานอื่นที่มองเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะเท่าที่เห็นในจอทีวี แทบไม่มีทีวีช่องใดเลย ที่มีเทปออกมาพูดถึงความสำคัญของวันมาฆบูชา ถ้าจะมีก็เป็นเคเบิลทีวี หรือทีวีดาวเทียม ที่ออกอากาศให้ทุกๆชั่วโมง หรือแทบทุกเบรคของรายการ นั่นก็ช่วยเตือนได้แค่ส่วนหนึ่ง ซึ่งคนดูยังมีน้อย

การที่เราให้ความสำคัญในวันนี้ตั้งแต่เด็กๆ เพราะอย่างน้อย ในวันนี้ อบายต่างๆได้ลดจำนวนลงไปเป็นอย่างมาก การเล่นการพนัน ดื่มสุรา เสพยาเสพติด ก็ได้ลดลง เพราะบางทีการประชาสัมพันธ์ทางสื่อต่างๆนั้น ทำให้คนรู้สึกอยากทำดีขึ้นมาบ้าง อย่างน้อยสักวันก็ยังรู้สึกดี แต่นั่นก็ยังไม่พอ โรงเรียนต้องทำงานให้หนักขึ้นอีก เพื่อดึงเด็กของเราให้เข้าถึงความสำคัญของคำสั่งสอนของพระศาสดาให้ได้

Posted by ครูพเยาว์ at 11:15 AM

รอบรั้ว พระพุทธศาสนา วันมาฆบูชา

Sunday, February 1, 2009


อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันมาฆะบูชาแล้ว ซึ่งทุกๆปีในวันนี้ พวกเราก็จะได้ไปทำบุญกันที่วัด ไหว้พระ ตักบาตร เวียนเทียนเพื่อรำลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า ที่ได้มาช่วยส่องสว่างให้กับทางเดินชีวิตของเรา ในเมืองไทย วันนี้ยังคงเป็นประเพณีปฏิบัติที่ดูเหมือนจะคลายความสำคัญลง แม้ว่าเราจะมีกฏระเบียบที่เข้ามาควบคุม เช่น สถานที่บันเทิงยามราตรี ต้องหยุดบริการในวันนี้ ห้ามขายสุรา แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่กฏหมายที่ทางบ้านเมืองออกมาบังคับใช้ ไม่ได้เกิดจากสามัญสำนึกของความเป็น "ชาวพุทธ" ที่มาจากใจจริงๆ ในบางประเทศที่เขายังเหนียวแน่น อย่างเช่นศรีลังกา จะเป็นงานที่สำคัญอย่างจริง เป็นชีวิตจิตใจของชาวพุทธที่ออกมาร่วมใจกันปฏิบัติบูชากันในวันนี้ ได้แต่หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ชาวพุทธเราในเมืองไทย จะหันมาให้ความสำคัญ และปฏิบัติบูชากันอย่างจริงจัง ด้วยศรัทธา เชื่อมั่นในคำสั่งสอนขององค์พระศาสดา

อยากให้เด็กๆได้เรียนรู้และจดจำประวัติความเป็นมาของวันมาฆบูชา ว่าเริ่มกันอย่างไร ตรงไหน สำคัญอย่างไรที่เราชาวพุทธควรจดจำ อ่านดูกันค่ะ

วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ กลางเดือน ๓ หรือประมาณราวเดือนกุมภาพันธ์ แต่หากเป็นปีอธิกมาส (ปีที่มีเดือน ๘ สองหน) วันมาฆบูชาจะเลื่อนไปเป็น วันขึ้น ๑๕ ค่ำกลางเดือน ๔ หรือประมาณเดือนมีนาคม
วันมาฆบูชา ย่อมาจากคำว่า "มาฆปุรณมีบูชา" แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน ๓ ถือเป็น "วันจาตุรงคสันนิบาต" แปลว่า การประชุมอันประกอบด้วยองค์ ๔ ซึ่งเป็นเหตุการณ์อัศจรรย์เกิดขึ้นพร้อมกันในสมัยพุทธกาล คือ
๑. พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสถานที่ต่างๆ เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ
๒. พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูปเหล่านี้ ล้วนเป็นพระอรหันต์ และได้รับการบวชจากพระพุทธเจ้าโดยตรง ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
๓. พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ต่างมาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยมิได้มีการนัดหมาย
๔. วันที่มาประชุม ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันเพ็ญกลางเดือน ๓) เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมเทศนา อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ โอวาทปาติโมกข์

โอวาทปาติโมกข์ คือ ข้อธรรมย่ออันเป็นหลักหรือหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา ๓ ประการ ได้แก่
๑. ไม่ทำความชั่วทั้งปวง เว้นจากความชั่วด้วยกาย วาจา ใจ
๒. ทำความดีให้ถึงพร้อม ด้วยกาย วาจา ใจ
๓. ทำจิตใจให้หมดจดบริสุทธิ์ผ่องใส

การปลงมายุสังขาร
หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้และสั่งสอนพระธรรมมาเป็นระยะเวลา ๔๕ ปี พระองค์ทรงปลงมายุสังขาร คือ ตั้งพระทัยว่า "ต่อแต่นี้ไปอีก ๓ เดือน เราจักเสด็จดับขันธปรินิพพาน" การปลงอายุสังขาร ตรงกับวันมาฆบูชาในปีที่พระพุทธองค์มีพระชนมายุ ๘๐ พระชันษา
ด้วยเหตุนี้ ในวันมาฆบูชา ชาวพุทธจึงถือว่าเป็นวันที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า รวม ๒ ประการ คือ เป็นวันที่แสดงโอวาทปาติโมกข์ และ เป็นวันปลงอายุสังขาร

ประวัติการประกอบพิธีมาฆบูชา
ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเรื่องราวเกี่ยวกับการประกอบราชกุศลมาฆบูชาไว้ดังนี้
การมาฆบูชานี้ แต่เดิมก็ไม่ได้เคยทำมา พึ่งเกิดขึ้นเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตามแบบโบราณบัณฑิตนิยมไว้ว่า วันมาฆบุรณมีพระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะเต็มบริบูรณ์ เป็นวันที่พระอรหันต์พุทธสาวก ๑,๒๕๐ ได้ประชุมกันพร้อมด้วยองค์สี่ประการ เรียกว่าจาตุรงคสันนิบาต พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์ เป็นการประชุมใหญ่และเป็นการอัศจรรย์ในพระพุทธศาสนา นักปราชญ์จึงได้ถือเอาเหตุนั้นกอบการสักการบูชาพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ พระองค์นั้น ให้เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสและสังเวช
การพระราชกุศลนั้น เวลาเช้าพระสงฆ์วัดบวรนิเวศน์และวัดราชประดิษฐ์ ๓๐ รูป ฉันในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาค่ำเสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการแล้ว พระสงฆ์สวดทำวัตรเย็นเหมือนอย่างที่วัดแล้ว จึงได้สวดมนต์ต่อไปมีสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ด้วย สวดมนต์จบทรงจุดเมียนรายตามราวรอบพระอุโบสถ ๑,๒๕๐ เล่ม มีประโคมด้วยอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงได้มีเทศนาโอวาทปาติโมกข์กัณฑ์ ๑ เป็นเทศนาทั้งภาษามคธและภาษาสยาม เครื่องกัณฑ์จีวรเนื้อดีผืนหนึ่ง เงิน ๓ ตำลึงและขนมต่างๆ เทศน์จบพระสงฆ์ซึ่งสวดมนต์รับสัพพีทั้ง ๓๐ รูป
การมาฆบูชานี้เป็นดือนสามบ้าง เดือนสี่บ้าง ตามวิธีปักษคณนาฝ่ายธรรมยุติกนิกาย แต่คงอยู่ในดือนสามโดยมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทุกปีมิได้ขาด แต่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ (หมายถึงสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เสด็จออกบ้างไม่ได้ออกบ้าง เพราะมักจะเป็นเวลาประสบกับที่เสด็จประพาสหัวเมืองบ่อยๆ ถ้าถูดคราวเส็จพระราชดำเนินไปประพาสบางประอินหรือพระพุทธบาท พระพุทธฉาย พระปฐมเจดีย์ พระแท่นดงรัง ก็ทรงทำมาฆบูชาในสถานที่นั้นๆ ขึ้นอีกส่วนหนึ่งต่างหากนอกจากในพระบรมมหาราชวังฯ

Posted by ครูพเยาว์ at 10:08 AM