Daisypath Anniversary tickers

ดูหนัง Akeelah and the Bee

Friday, June 29, 2007


หนังหลายเรื่องที่ดู มีไม่กี่เรื่องที่จะจำได้แม่น อย่างบางเรื่องที่ทำให้ต้องเสียน้ำตาไปกับหนัง อย่างเช่นเรื่อง The road home เป็นหนังจีน ที่จาง ซี ยี่ แสดงเป็นตัวเอก หนังเรื่องนั้นถ้าจะดูอีกครั้งก็ได้ แต่ก็ยังจำได้ว่า เป็นการแสดงออกถึงความรักในครอบครัว ระหว่างพ่อ แม่และลูกชาย แล้วก็รวมไปถึงวัฒนธรรมของชาวจีน ที่มีความเคารพนับถือต่อครูบาอาจารย์ เสียน้ำตาค่ะ สำหรับคนที่อินไปกับเรื่อง

แต่วันนี้ จะไม่พูดถึงเรื่องนี้ค่ะ จะพูดถึงเรื่อง Akeelah and the Bee ค่ะ อยากให้ดูแล้วก็สร้างกำลังใจให้กับตัวเองในการเรียนหนังสือ

เป็นเรื่องของเด็กหญิงผิวดำ ตัวเล็กๆที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองและสำเร็จในการประกาศความเฉลียวฉลาด ทักษะต่างๆท่ามกลางความตื่นเต้น อาจต้องเรียกว่าใจสั่นเลยก็ว่าได้ จนกระทั่งได้รับเสียงปรบมือให้อย่างกึกก้องในที่สุด แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เด็กหญิงอายุ 11 ปีคนนี้ที่คุณพ่อได้เสียชีวิตลง ทิ้งให้อยู่กับคุณแม่เพียงลำพัง อย่างลำบาก แต่ก็เป็นคนที่ต้องต่อสู้ ขยัน อดทน ใช้คอมพิวเตอร์ที่มีเล่นปริศนาอักษรไขว้ (Scrabble) จนมีทักษะในการจำคำศัพท์ และก็ได้พบกับอาจารย์ภาษาอังกฤษผู้เข้มงวดและพบว่าเธอมีพรสวรรค์ในการสะกดคำศัพท์ ซึ่งก็ได้เสนอและสนับสนุนให้เธอเข้าแข่งขัน ซึ่งเธอก็ยอมตกลง เพราะเธอเองก็หนีเรียน (ลูกๆอย่าเลียนแบบในเรื่องนี้นะคะ)ถูกจับได้ และถ้าไม่เข้าแข่งขันก็จะถูกกักบริเวณ ซึ่งเธอต้องยอมเข้าแข่งขัน และเธอก็ชนะผ่านไป จนถึงระดับเขต แต่ว่าความสามารถของเธอที่อาจารย์มองออกว่ามีมากกว่านั้น ก็ได้เข็นเธอออกไปแข่งขันจนถึงระดับรัฐ และก้าวไปจนถึงระดับประเทศ จนในที่สุดเด็กหญิง Akeelah Anderson อายุ 11 ปี จากโรงเรียน Crenshaw Middle School ซึ่งเป็นโรงเรียนของเด็กผิวสีจากแคลิฟอร์เนียใต้ ซึ่งเธอเองแต่แรกก็ไม่คาดคิดว่าจะชนะได้ เพราะเท่าที่ผ่านมาส่วนมากคนที่จะชนะจะเป็นลูกคนรวย ในขณะที่เธอเองเป็นเด็กผิวดำและยากจน ภาพยนตร์จบลงด้วยดีค่ะ อาจตื่นเต้นบ้าง ก็ตอนที่ต้องลุ้นว่าเธอจะทำได้มั้ย ซึ่งก็ไม่ผิดหวังค่ะ

Pulchritude (สวยงาม)เป็นคำที่เธอสะกดชนะในการแข่งขันระดับชาติ National Spelling Bee
prestidigitation (ความว่องไว)เป็นคำทดสอบคำแรกที่อาจารย์ Joshua Larabee ทดสอบเธอ
Doubt (สงสัย/ไม่แน่ใจ)เป็นคำแรกที่เธอสะกดใน Crenshaw Spelling Bee ระดับเมืองที่เธอเรียนอยู่

ลูกๆคะครูขอเป็นกำลังใจให้ลูกๆทุกคนขยันเรียน และก้าวหน้าในการเรียนทุกๆคนค่ะ แม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นแค่ภาพยนตร์ แต่ก็พอที่จะเป็นเรื่องสอนใจกับคนเราได้ค่ะ ตั้งใจเรียนกันทุกคนนะคะ

Posted by ครูพเยาว์ at 8:25 PM

รอบรั้ว วิทยาศาสตร์ สนใจในพืช

Thursday, June 28, 2007



ลูกๆคะ พืชมีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก เช่นแสง เสียง สัมผัส เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม และไม่ให้สูญพันธุ์ไปค่ะ


เพราะสภาพแวดล้อมรอบตัวเรามีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาค่ะ จะเห็นได้ว่าเดี๋ยวนี้โลกเราร้อนขึ้น มีผู้ทำนายแล้วว่า น้ำแข็งตามขั้วโลก หรือที่มีอยู่ในเขตหนาวตามยอดภูเขาจะละลาย เพิ่มปริมาณน้ำในมหาสมุทร การเปลี่ยนแปลงต่างๆในโลกก็จะตามมาค่ะ ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบกับการเป็นอยู่ทั้งของพืช คน และสัตว์ไปทั่วโลก ตอนนี้จะพูดถึงเรื่องการปรับตัวของพืชให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมก่อนค่ะ อย่างเช่น พืชเคลื่อนที่เข้าหาแสงจริงหรือไม่ ลูกๆก็อาจทดลองได้เอง ด้วยการเอาต้นไม้ที่ปลูกในกระถางมาวางไว้ตรงระเบียงบ้าน หรือตามชายคาบ้านที่แดดส่องถึงตอนเช้าๆ จะเห็นเลยค่ะเมื่อวางไว้สักระยะหนึ่ง ลำต้นที่วางอยู่ด้านนอกจะโค้งตัวไปหาแสง หรือยืดตัวไปรับแสง อีกด้านของกระถางจะไม่โตเต็มที่ด้วย เพราะได้รับแสงน้อยกว่า คราวนี้ถ้าลูกๆอยากทดลองเอาต้นไม้อีกฝั่งหนึ่งที่ไม่ได้รับแสงเต็มที่หันไปหาแสงบ้าง ลูกๆคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นคะ ต้นไม้ที่ปลูกทดลองอยู่บนระเบียงบ้านคุณครูเดี๋ยวนี้ ชาวบ้านบอกว่าเป็นต้นใบละบาท (ไม่ใช่ชื่อจริงๆค่ะ คุณครูก็ไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อน) เอามารับประทานได้ เอาหลายๆกิ่งมาปลูกเอาไว้ในกระถางเดียวกัน มันเห็นผลค่ะ ว่าการโค้งตัว ยืดตัวไปหาแสงนั้น มองด้วยตาก็รู้ว่า มันทำได้ค่ะ นี่ก็แสดงว่าพืชมันปรับตัวได้นะคะ


ที่เห็นชัดๆอีกอย่างหนึ่งค่ะ การตอบสนองต่อการสัมผัสหรือแรงกระเทือน โดยจะหุบใบทันทีเพื่อป้องกันการถูกรบกวนหรือถูกทำอันตราย อย่างเช่นต้นไมยราบจะหุบใบเมื่อมาสิ่งใดมาสัมผัส และจะกางใบเป็นปกติเมื่อไม่ถูกรบกวน


ปฏิกริยาเช่นนี้เป็นการป้องกันแมลงมากินใบ เพราะถ้ามีแมลงมาเกาะที่ใบ ต้นไมยราบจะหุบใบทันที เป็นการไล่ให้แมลงบินหนีไปค่ะ


นอกจากนี้ ยังมีผู้ทำการทดลองเพื่อให้พืชที่ปลูกเจริญเติบโตได้ดี โดยการเปิดเพลงให้ต้นไม้ฟัง ผลปรากฏว่าต้นไม้ที่ได้ฟังเพลง เจริญเติบโตกว่าต้นไม้ที่ไม่ได้ฟังเพลง แสดงว่าต้นไม้มีการตอบสนองต่อเสียงด้วยค่ะ


ลูกๆคะ เดี๋ยวนี้ที่อิสานมีการปลูกยางพารากันมากขึ้น ในแต่ละปียางพาราจะผลัดใบ ช่วงที่กำลังผลัดใบ ใบร่วง จะเป็นภาพที่สวยงามมาก ทั้งสวนใบยางพาราจะมีสีแตกต่างกัน ตั้งแต่ใบเขียว ใบสีส้ม ใบสีแดง ในภาคใต้ซึ่งปลูกยางพารามาก จะเห็นว่าทั้งสองข้างถนน มีสีสรร หลังจากที่ใบเปลี่ยนสีแล้ว ใบก็จะร่วง สาเหตุที่ต้องร่วงเพราะต้องปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะฤดูหนาว จากสาเหตุที่ผิวของใบไม้มีรูอากาศมากมาย เพื่อระบายความชื้น ถ้าอากาศแห้งเพียงใด ความชื้นก็ยิ่งระเหยได้เร็วยิ่งขึ้นเพียงนั้น ในยามอากาศหนาว ความชื้นภายในใบไม้จะระเหยไปในปริมาณมาก รากของต้นไม้จะดูดรับเอาน้ำหรือความชื้นขึ้นไปไม่พอต่อการเลี้ยงบำรุงต้น เมื่อความชื้นในต้นลดลงต้นไม้จะตายเร็ว เพื่อความอยู่รอด ต้นไม้จึงปรับตัวโดยใช้วิธีทำให้ใบร่วงนั่นเองค่ะ ไม่ใช่นึกสนุกจะร่วงเองนะคะ ทุกอย่างมีสาเหตุที่มาที่ไปค่ะ แล้วมันก็จะโยงไปในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าอีกนะคะว่า ทุกอย่างเกิดมาแต่เหตุ เพราะเหตุเป็นอย่างนี้ ผลของมันก็จะได้อย่างนี้ค่ะ

Posted by ครูพเยาว์ at 10:23 AM

รอบรั้ว พุทธศาสนา ประโยชน์ของอริยสัจ 4

Wednesday, June 27, 2007


ลูกๆคะ เมื่อมีใครที่มีฐานะร่ำรวย มีเสื้อผ้าสวยๆ และราคาแพงๆใส่ หรือมีโทรศัพท์มือถือมาโรงเรียนด้วย ทำให้อยากได้ แต่พ่อแม่ก็ไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อให้ จะแก้ปัญหานี้อย่างไรคะ


เมื่ออยากได้เสื้อผ้าแพงๆ...นี่คือสมุทัย......ทำให้เกิด ทุกข์ คือพ่อแม่ไม่มีเงินซื้อให้


พ่อแม่ชี้แจงเหตุผลว่า ของแพงๆเกินฐานะของเรา และไม่จำเป็นด้วย...ทำให้เราเข้าใจ...นั่นคือ มรรค(เห็นชอบกับพ่อ)


แล้วก็ทำให้เราไม่อยากได้ของราคาแพงต่อไป...นั่นคือนิโรธ หมดความทุกข์ในเรื่องนี้

จะเห็นได้ว่าอริยสัจ 4 เป็นความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ มีประโยชน์จริงๆต่อเรา

1. ทำให้ไม่ประมาท คอยเตือนสติให้รู้ว่า ความทุกข์หรือปัญหาจะเกิดขึ้นได้เสมอ การดำรงชีวิตในโลกจึงเป็นการแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา เมื่อสามารถแก้ปัญหานั้นได้อาจเกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก ทำให้ไม่หลงลืมตัวและพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาได้ตลอดเวลาค่ะ

2. ช่วยให้แก้ปัญหาต่างๆได้ โดยใช้เหตุผลและปัญญา คือ เมื่อมีปัญหาหรือความทุกข์เกิดขึ้นก็ต้องหาสาเหตุว่ามาจากอะไร จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ถูกจุด และเป็นการแก้ปัญหาโดยใช้เหตุผลและปัญญาค่ะ

3. ช่วยให้แก้ปัญหาด้วยตนเอง ทั้งนี้เพราะปัญหาหรือความทุกข์ต่างๆเกิดจากตัวเราเอง การแก้ไขปัญหาจึงต้องทำด้วยตนเอง จะพึ่งอาศัยสิ่งอื่นมาแก้ปัญหาให้ไม่ได้ เพราะตัวเราจะรู้ดีว่าความทุกข์นั้นเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน และจะรู้ได้ว่าปัญหานั้นสามารถดับไปหรือแก้ไขได้หมดสิ้นไปแล้วหรือไม่ค่ะ

4. ช่วยให้เราเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง การที่เราหาทางแก้ปัญหาด้วยการปฏิบัติเอง ลงมือกระทำเอง จะทำให้เราสามารถมองเห็นว่าการแก้ปัญหาทำได้ยากหรือง่ายเพียงใด ซึ่งจะทำให้เราหลุดพ้นจากตัณหาและเห็นแสงสวางแห่งปัญญา ทำให้ชีวิตนี้มีความสุขค่ะ

...ลูกๆคะ ทุกปัญหา เราต้องแก้เองค่ะ เรียนไม่เก่ง เราก็ต้องเอาใจใส่ให้มากขึ้น อ่านให้มากขึ้น ให้คุณพ่อหรือคุณแม่มาอ่านแทนไม่ได้ค่ะ ถึงเวลาทำข้อสอบ เราต้องคิดเอาเอง ถ้าเตรียมตัวมาดี ทำได้แน่นอนค่ะ วิชาอะไรก็ตาม ถ้าลูกอ่านมาล่วงหน้า เตรียมตัวมาก่อน เวลาคุณครูสอน ลูกจะเข้าใจได้มากขึ้น และถ้ายังสงสัย ลูกก็ถามได้ อย่าเก็บเอาความสงสัยนั้นกลับบ้านไปด้วย คุณครูจะเล่าให้ฟัง ที่เมืองจีนเดี๋ยวนี้ เด็กนักเรียนของจีน เขาจะเข้าเรียนเช้าขึ้น อย่างโรงเรียนเขาเปิด 08.00 นาฬิกา เด็กๆเขาจะไปเข้าห้องเรียนตั้งแต่ 07.00 นาฬิกา มาตั้งแต่โมงเช้า เพื่อที่จะติวก่อนเข้าเรียน ลูกๆคิดดูซิ เขาต้องมาติวก่อนเข้าเรียน อเมริการู้เรื่องนี่เข้า ตื่นเต้นกันใหญ่ เพราะคนอเมริกันเขามีความคิดว่า การเล่นสนุกไปด้วยเรียนไปด้วย ทำให้เด็กได้ความรู้มากกว่า แต่เวลาสอบแข่งขัน ในวิชาต่างๆเช่นคณิตศาสตร์ เด็กจีนชนะ นั่นก็แสดงว่าความคิดอันนั้นมันคงจะไม่ใช่เสียแล้ว เด็กสิงคโปร์ก็เหมือนกัน ตั้งใจเรียนกันมากและยังต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาเขียน เป็นภาษาเรียน กลับบ้านต้องพูดภาษาจีน(ฮกเกี้ยน) และต้องเรียนจีนกลางอีก เพราะภาษาหลักของจีนคือแมนดาริน (จีนกลาง) เพราะเขามองว่าโลกในอนาคต จีนจะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ เพราะฉนั้นลูกๆต้องขยันเข้าไว้ค่ะ เราอยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องอยู่ในสังคมทั้งโลก และอย่าลืมจีน สิงคโปร์หรือแม้แต่เวียตนามนะคะ ที่ต้องมาทำงานแข่งกันกับเรา ถ้าเราเก่งสู้เขาไม่ได้ เราก็เสียเปรียบเขาค่ะ

Posted by ครูพเยาว์ at 6:00 PM

รอบรั้ว วิทยาศาสตร์ กระบวนการสังเคราะห์แสง


การสร้างอาหารของพืช เรียกว่าการสังเคราะห์แสงค่ะ จากรูปด้านบนนะคะ ลูกๆจะได้เห็นว่า พืชหายใจดูดเอา "ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์" จากอากาศเข้าสู่ใบทางปากใบ ขณะเดียวกันก็ดูด "น้ำและสารอาหาร" ผ่านรากสู่ใบและส่วนต่างๆของพืช "คลอโรฟีลล์" ในใบพืชเป็นตัวดูดกลืน "แสง" เข้ามาใช้เป็นแหล่งพลังงานในการเปลี่ยนน้ำและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้กลายเป็นอาหารประเภท "น้ำตาล" และ "ก๊าซออกซิเจน" ซึ่งน้ำตาลที่พืชสร้างขึ้นนี้จะถูกลำเลียงไปเลี้ยงส่วนต่างๆของพืช ส่วนที่เหลือ พืชจะเก็บสะสมไว้ในส่วนต่างๆ ส่วนก๊าซออกซิเจนจะออกสู่อากาศทางปากใบค่ะ


ลูกๆคะ จากกระบวนการทั้งหมดที่เล่ามา จะเห็นได้ว่า พืชนั้นช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ร่างกายของคนเราไม่ต้องการ แถมยังช่วยเพิ่มปริมาณก๊าซออกซิเจน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกายของเรา


การที่พืชสามารถสร้างอาหารเองได้ จึงเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของคนและสัตว์ที่ไม่สามารถสร้างอาหารด้วยตนเองได้ พืชจึงได้ชื่อว่า "ผู้ผลิต"


นอกจากพืชจะเป็นแหล่งอาหารแล้ว คนและสัตว์ยังอาศัยประโยชน์จากพืชในด้านอื่นๆอีกมากมาย ดังนั้นเราต้องช่วยดูแลรักษาพืชและอนุรักษ์พืชไว้ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ยาวนาน และเกิดความสมดุลทางธรรมชาติ


ขอแถมให้อีกนิดค่ะ...การสังเคราะห์ด้วยแสงของพืชส่วนใหญ่เกิดที่ใบนะคะ เพราะบริเวณใบมีคลอโรฟีลล์มากที่สุดค่ะ แต่พืชบางชนิดอาจมีการสังเคราะห์แสงที่ลำต้นหรือรากก็ได้ เช่น กล้วยไม้ ต้นอ่อนของพืชที่ลำต้นมีสีเขียวค่ะ ลูกๆต้องสังเกตุดูนะคะ

Posted by ครูพเยาว์ at 1:20 PM

รอบรั้ว พระพุทธศาสนา อริยสัจ 4


ทราบมาก่อนแล้วว่า ที่พระพุทธองค์ตรัสรู้คือ อริยสัจ 4 ทราบมั้ยคะว่า ประกอบด้วยอะไรบ้าง...เอาละ ทุกคนตอบได้ ว่าประกอบด้วย ทุข์ สมุทัย นิโรธและมรรค แล้วต้องทราบด้วยนะคะว่า ความหมายของ อริยสัจ 4 หมายถึง "ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ" ค่ะ ซึ่งหมายถึง

1. ทุกข์...เป็นความทุกข์ค่ะ เป็นสภาพที่ทนได้ยาก สภาวะที่บีบคั้น ขัดแย้ง บกพร่อง และเป็นเหตุปัจจัยที่ไม่ขึ้นต่อตัวมันเอง ได้แก่

- ความเกิด ..................................... (ชาติปิ ทุกฺขา)

- ความแก่ ...................................... (ชราปิ ทุกฺขา)

- ความตาย ..................................... (มรณมฺปิ ทุกฺขา)

- ความโศก ..................................... (โสก)

- ความคร่ำครวญรำพัน ......................... (ปริเทว)

- ความทุกข์กาย ................................ (ทุกฺข)

- ความทุกข์ใจ .................................. (โทมนสฺส)

- ความคับแค้นใจ ............................... (อุปายาส)

- การต้องประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ......... (อปฺปิเยหิ สมฺโยโค)

- ความต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ...... (ปิเยหิ วิปฺปโยโค)

- การปราถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นสมหวัง ... (ยมฺปิจฺฉํ น ลภติ ตมฺปิ ทุกขํ)

...ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับคนเรานี้ เนื่องจากเรามีความอยาก มีความต้องการ เช่นอยากเล่นเกมส์แต่แม่ไม่ให้เล่น..ทำการบ้านก่อนนะลูก...เราก็ได้แต่นั่งดูคอมพิวเตอร์ เล่นไม่ได้..แหม..ความทุกข์มันก็เข้ามาทันที อย่างนี้เรียกว่าเมื่อไม่เป็นไปตามความต้องการ คือขอเล่นเกมส์จึงเกิดความทุกข์ และความทุกข์ที่เกิดขึ้นนี้ถ้าเราไม่รู้จักแก้ปัญหาให้ถูกต้อง ก็จะเกิดผลเสียแก่เรา...เช่นถ้าตามใจตัวเองไปหมดทุกอย่าง เล่นแต่เกมส์ ไปเที่ยว การเรียนก็จะตกต่ำ

2. สมุทัย หมายถึงสาเหตุของความทุกข์ค่ะ พระพุทธเจ้าตรัสว่า "เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนั้นเกิด สิ่งนี้จึงเกิด" ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับคนเรา ย่อมมีสาเหตุแห่งทุกข์นั้น อย่างเช่น

วิ่งไม่ระวัง........ทำให้วิ่งชนกัน หรือล้มลงได้

ไม่สนใจเรียน.......ทำให้สอบตก

พูดจาหยาบคาย.......ทำให้เพื่อนไม่อยากพูดด้วย

สาเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ต่างๆเหล่านี้เรียกว่า "ตัณหา"ค่ะ ตัณหา หมายถึง ความต้องการ อยากอยาก มีอยู่ 3 ประการค่ะ ได้แก่

....ความอยากได้อารมณ์อันน่ารักใคร่ เช่น อยากไช้ของสวยๆงามๆ อยากกินอาหารอร่อยๆ อยากเล่นเกมส์ด้วยและอื่นๆ

....ความไม่อยากเป็นโน่นเป็นนี่ เช่น ไม่อยากเป็นคนจน ไม่อยากให้เพื่อนเกลียดชัง และอื่นๆ

....ความอยากเป็นนั่นเป็นนี่ เช่น อยากเป็นดารา อยากได้ตำแหน่งสูงๆ และอื่นๆ

3. นิโรธ หมายถึง ความดับทุกข์ ได้แก่ภาวะตัณหาดับสิ้นไป ไม่ติดข้องอยู่ในตัณหา หลุดพ้น สงบ และเป็นอิสระ ในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า "นิพพาน"

แต่การที่คนเราจะเข้าถึงนิพพานได้นั้น ต้องฝึกอบรมกายและจิตให้ค่อยๆ ลดความต้องการหรือตัณหาลงไป ก็จะช่วยให้ความทุกข์บรรเทาลงไปบ้างค่ะ

4. มรรค หมายถึง ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ มีอยู่ 8 ประการ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ทางสายกลาง" (มัชฌิมาปฏิปทา) ได้แก่

....1. เห็นชอบ...........2. ดำริชอบ........3. เจรจาชอบ.......4. กระทำการชอบ

....5. เลี้ยงชีพชอบ....6. เพียรชอบ......7. ระลึกชอบ.........8. ตั้งจิตมั่นชอบ

การดับทุกข์นั้น ต้องอาศัยการอบรมจิตและปัญญาให้เกิดความรู้และความเข้าใจอย่างแท้จริง จึงจะสามารถช่วยลดความต้องการของตนเองได้ และช่วยบรรเทาทุกข์กายและทุกข์ใจ ซึ่งข้อปฏิบัติที่ทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์ก็คือ มรรคมีองค์ 8 นั่นเองค่ะ
รูปภาพต่างๆที่คุณครูเอามาให้ดูประกอบเรื่อง เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง นี่แหละที่พูดได้ว่าพระพุทธศาสนาเป็นบ่อเกิดศิลปะในแขนงต่างๆ ที่กล่าวได้ว่า เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทยค่ะ

Posted by ครูพเยาว์ at 9:34 AM

รอบรั้ว วิทยาศาสตร์ ปัจจัยการดำรงชีวิตของพืช

Tuesday, June 26, 2007

ไม่ว่าคนหรือพืชหรือสัตว์ ต่างก็เติบโตขึ้นทุกวัน เราก็เห็นมาตลอด น้องของเราตั้งแต่ตัวเล็กๆ โตขึ้นๆ จนมาแย่งขนมเราได้ เขาต้องโต...ตามธรรมชาติ ดื่มนม กินข้าว ขนม ฯลฯ...แต่ก็อาศัยสิ่งอื่นๆอีก เราไม่ทันคิด ไม่ทันสังเกตุ วันนี้จะพูดเรื่องพืช ปัจจัยการดำรงชีวิต ตั้งแต่ต้นเล็กๆจนกระทั่งโตให้ดอกให้ผลแก่เรา พืชอาศัยอะไร ในการเจริญเติบโตขึ้น1. น้ำ...พืชต้องการน้ำค่ะ ถ้าเราปลูกในกระถาง ต้องรดน้ำให้ด้วยนะคะ พืชเดินไปหาน้ำดื่มเองไม่ได้ค่ะ ถ้าอยู่ในกระถาง อ้าว...แสดงว่า ถ้าปลูกบนดิน พืชเดินได้เหรอ...ก็ยังไม่ได้อยู่ดีค่ะ แต่รากของพืชมันชอนไชไปทั่ว ถ้าเราทำกระถางต้นไม้แตก เราจะเห็นว่ารากของพืชเต็มไปหมดในกระถางค่ะ น้ำนี่สำคัญกับพืช เพราะน้ำช่วยละลายธาตุอาหารของพืชที่อยู่ในดิน ทำให้รากพืชสามารถดูดธาตุอาหารไปใช้เลี้ยงลำต้นได้ น้ำยังช่วยลำเลียงอาหารไปสู่ส่วนต่างๆของพืช และพืชต้องใช้น้ำเป็นวัตถุดิบในการสร้างอาหารด้วยค่ะ
2. แสงแดด...พืชต้องการแสงแดดในการสร้างอาหาร หรือการสังเคราะห์แสง อาหารที่ได้จากการสังเคราะห์แสง คืออะไรคะ..แฮมเบอร์เกอร์หรือเปล่าน้อ...เอ..หรือว่าข้าวผัด ไม่ใช่ค่ะ มันจะได้แค่ "แป้งและน้ำตาล" ซึ่งอาหารพวกนี้จะช่วยให้พืชเจริญเติบโตขึ้น

3. อาหาร พืชต้องการอาหาร..แน่นอนค่ะ น้องเรายังมาแย่งขนมเราได้ เพราะขนมก็เป็นอาหารด้วย..แต่อาหารของพืชคือแร่ธาตุที่อยู่ในดิน เช่นไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแตสเซียม ซึ่งพืชจะใช้รากดูดแร่ธาตุเหล่านี้ขึ้นไปเลี้ยงส่วนต่างๆของลำต้น นอกจากนี้แร่ธาตุที่เป็นอาหารของพืช ยังมีอยู่ในปุ๋ยชนิดต่างๆ ชาวไร่ชาวนาจึงเพิ่มอาหารให้แก่พืชที่เพาะปลูกด้วยการใส่ปุ๋ย
4. อากาศ พืชต้องการอากาศในการหายใจเหมือนคนเรา พืชหายใจทั้งกลางวันและกลางคืน พืชหายใจเอาก๊าซออกซิเจนเข้าไปและคายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ที่พิเศษคือในตอนกลางวันพืชมีการสังเคราะห์แสงด้วยจะคายก๊าซออกซิเจนออกมา ดังนั้นถ้าเราไปนั่งใต้ต้นไม้ตอนกลางวันจะรู้สึกสดชื่น แต่ตอนกลางคืน พืชหายใจเป็นปกติเหมือนคนเรา คือคายคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ดังนั้นจึงไม่ควรนำต้นไม้ไปตั้งไว้ในห้องนอน เพราะมันจะแย่งอากาศเราหายใจค่ะ

Posted by ครูพเยาว์ at 7:29 PM

รอบรั้ว พุทธสถานที่สำคัญสมัยพุทธกาล

Monday, June 25, 2007


ในถิ่นกำเนิดของพระพุทธศาสนา เราจะได้ยินชื่อเมือง แคว้นต่างๆที่พระพุทธเจ้าได้เคยเสด็จผ่านไป หรือไม่ก็เกิดเหตุการณ์ที่สำคัญๆทางพระพุทธศาสนา ลูกๆจะได้เห็นว่า เมือง แคว้นเหล่านั้นอยู่ตรงไหนบ้าง

Posted by ครูพเยาว์ at 10:28 PM

รอบรั้ว ศรัทธา 4


ชาวพุทธนอกจากจะต้องศรัทธาในคุณของพระรัตนตรัยแล้ว ยังต้องมีศรัทธา 4 ประการอีกด้วย ลูกๆทราบมั้ยว่า ศรัทธา 4 มีอะไรบ้าง..ตามมาค่ะ

ศรัทธา 4 หมายถึง อะไรก่อน หมายถึงความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล ซึ่งมีอยู่ 4 ประการค่ะ

1. กัมมสัทธา เชื่อว่า"กรรมมีอยู่จริง" คือเชื่อว่าเมื่อเราทำอะไรโดยมีเจตนาหรือมีความจงใจที่ดีหรือไม่ดี ย่อมเกิดกรรมดีหรือชั่วตามเจตนา และเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดผลดีหรือผลร้ายสืบเนื่องตามมา

2. วิปากสัทธา เชื่อว่า"ผลของกรรมมีจริง" คือ เชื่อว่าการกระทำที่สำเร็จลงไปต้องมีผล และผลย่อมต้องมาแต่เหตุ ผลที่ดีเกิดจากการกระทำที่ดี และผลชั่วร้ายเกิดจากการกระทำไม่ดี

3. กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่า"สัตว์โลกมีกรรมเป็นของตน" คือ เชื่อว่า คนแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบหรือเสวยวิบากกรรมที่ตนเองทำไว้ เหมือนคำกล่าวที่ว่า "กรรมใด ใครก่อ กรรมนั้น ย่อมสนอง"

4. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อ "ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าว่าเป็นจริง" มีความเชื่อในพระคุณทั้ง 9 ประการของพระพุทธองค์ ตรัสธรรม และพระวินัยไว้ดีแล้ว ทรงแสดงให้เห็นว่า มนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงความจริงอันประเสริฐได้ด้วยการฝึกฝนตนด้วยดี

Posted by ครูพเยาว์ at 10:27 PM

รอบรั้ว พุทธจริยา 3


พุทธจริยา หมายถึง การทรงบำเพ็ยประโยชน์ของพระพุทธเจ้า มีอยู่ 3 ประการค่ะ ได้แก่

1. โลกัตถจริยา เป็นการบำเพ็ญประโยชน์แก่ชาวโลก ซึ่งเป็นการที่พระพุทธเจ้าทรงอนุเคราะห์แก่ชาวโลก โดยการแสดงออกในพุทธกิจประจำวัน จำได้มั้ยคะ เคยเรียนมาแล้ว พุทธกิจมีอะไรบ้าง

...ช่วงเช้า เสด็จออกบิณฑบาตเพื่อโปรดสัตว์ (คนที่สมควรจะแสดงธรรมให้ฟัง)

...ช่วงเย็น ทรงแสดงธรรมแก่อุบาสก อุบาสิกาที่มาเฝ้า

...ช่วงค่ำ ประทานโอวาทแก่เหล่าภิกษุ

...ช่วงเที่ยงคืน ทรงตอบปัญหาของเทวดา หรือข้าราชการผู้ใหญ่และพระราชา

...ช่วงเช้ามืด ทรงตรวจพิจารณาว่า ผู้ใดมีอุปนิสัยที่จะบรรลุธรรมได้ เพื่อจะได้เสด็จไปโปรดในตอนเช้า

2. ญาตัตถจริยา เป็นการบำเพ็ญประโยชน์แก่พระญาติตามฐานะ เช่นเสด็จไปห้ามพระญาติที่วิวาทกันด้วยเรื่องน้ำ

3. พุทธัตถจริยา เป็นการบำเพ็ญประโยชน์ตามหน้าที่พระพุทธเจ้า เช่น

...ทรงแสดงธรรมแก่เวไนยสัตว์..หมายถึงสัตว์ที่พึงแนะนำได้

...ทรงบัญญัติวินัยขึ้นเพื่อบริหารหมู่คณะ

...ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนมาตราบเท่าทุกวันนี้

Posted by ครูพเยาว์ at 10:27 PM

รอบรั้ว พระรัตนตรัย


ได้ยินก่อนบ่อยๆนะคะคำนี้ พระรัตนตรัย หมายถึงอะไรนี่... หมายถึง ดวงแก้วอันประเสริฐ 3 ประการค่ะ ถือว่าเป็นดวงมณีอันล้ำค่าของชาวพุทธ เป็นหลักที่เคารพบูชาสูงสุดของพุทธศาสนิกชน รวมทั้งยังเป็นโครงสร้างสำคัญของพระพุทธศาสนา ซึ่งได้แก่

1. พระพุทธเจ้า..เป็นผู้ที่ตรัสรู้เองและสอนให้ผู้อื่นรู้ตามค่ะ

2.พระธรรม...คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นหลักความจริงที่นำมาเป็นหลักความประพฤติ

3. พระสงฆ์...คือหมู่สาวกผู้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา ต้องมีศรัทธาในคุณของพระรัตนตรัย หรือมีความเชื่อถือหรือเชื่อมั่นในคุณของพระรัตนตรัย ซึ่งมีดังนี้ค่ะ

***คุณของพระพุทธเจ้า

พระปัญญาคุณ (ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง)

พระบริสุทธิคุณ (ปราศจากกิเลส)

พระกรุณาธิคุณ (มีพระมหากรุณาต่อโลก)

***คุณของพระธรรม

พระธรรม..ย่อมรักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปสู่ความชั่ว

พระธรรมเป็นสัจธรรม..ให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติ ตามที่ปฏิบัติ

***คุณของพระสงฆ์

เป็นผู้ที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า และสอนให้ผู้อื่นกระทำตาม

เป็นผู้สืบต่ออายุพระพุทธศาสนา

Posted by ครูพเยาว์ at 10:26 PM

รอบรั้ว พระพุทธศาสนา หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 บทที่ 2 ตอนที่ 3


มาถึงตอนสุดท้ายของบทที่ 2 แล้วค่ะ จะมาพูดเรื่อง ในวันๆหนึ่งพระพุทธเจ้าของเราทรงบำเพ็ญกิจอะไรบ้าง ที่เราเรียกว่า พุทธกิจ ทั้งหมดที่สำคัญมีอยู่ 5 ประการ

1. ตอนเช้า เสด็จออกบิณฑบาต เพื่อโปรดสัตว์ โดยการสนทนาธรรมหรือแสดงธรรม

2. ตอนเย็น แสดงธรรมแก่ประชาชนที่มาเฝ้าบริเวณที่ประทับ

3. ตอนค่ำ แสดงโอวาทแก่พระสงฆ์

4. ตอนเที่ยงคืน ทรงตอบปัญหาแก่เหล่าเทวดา

5. ตอนเช้ามืด ทรงตรวจพิจารณาสัตว์โลกว่า ผู้ใดมีอุปนิสัยที่จะบรรลุธรรมได้ เพื่อเสด็จไปโปรดตอนเช้า

ทั้งหมดนี้คือ พุทธกิจค่ะ เราจะเห็นว่า ตอนเช้าๆ จะมีพระสงฆ์มาบิณฑบาต ซึ่งก็ดำรงมาตั้งแต่พุทธกาลจนบัดนี้ แต่กิจของพระสงฆ์ในปัจจุบันอาจแตกต่างออกไปบ้างเพราะความเจริญของสังคมมีมากขึ้นค่ะ

Posted by ครูพเยาว์ at 10:26 PM

รอบรั้ว พระพุทธศาสนา หน่วยการเรียนรู้ที่ 1บทที่ 2 ตอนที่ 2


ตอนที่สองเป็นตอนสั้นๆค่ะ ไม่เหมือนตอนแรกที่ยาวหน่อย เพราะนั่นเท่ากับภาพยนตร์เรื่องหนึ่งทีเดียว พระพุทธประวัติตอนนี้คือตอนเสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อโปรดพระบิดาและพระญาติวงศ์


เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทรงได้ทราบข่าวว่า บัดนี้พระโอรสของพระองค์ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว และกำลังประกาศพระศาสนาอยู่ที่นครราชคฤห์ จึงมีรับสั่งให้อำมาตย์ไปกราบทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าให้เสด็จมายังกรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อให้พระพุทธบิดาได้มีโอกาสเห็นพระองค์สักครั้งหนึ่ง แต่ปรากฏว่า อำมาตย์ที่ทรงส่งไป ไปถึงขณะที่พระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงธรรมแก่ประชาชนอยู่ เขาจึงนั่งฟังธรรมจนจบโดยที่ยังไม่ได้ทูลแจ้งข่าวที่ตนรับมาและมีความซาบซึ้งในพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดง จนขอบวชเป็นภิกษุ


เมื่ออำมาตย์ที่ส่งไปแจ้งข่าวไม่กลับมา พระเจ้าสุทโธทนะจึงได้ส่งอำมาตย์คนใหม่ไปทูลแจ้งข่าวอีก การณ์ก็กลับเป็นเช่นนี้จนถึงครั้งที่ 9 ไม่น้อยเลยนะคะ ที่อำมาตย์หายไปจนทำให้พระเจ้าสุทโธทนะทรงประหลาดพระทัยยิ่งนัก ที่ไม่มีอำมาตย์กลับคืนมาแม้แต่คนเดียว


กระทั่งครั้งสุดท้าย พระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงส่ง "กาฬุทายี" ซึ่งเป็นคนหนุ่มในราชสำนัก และเคยเป็นเพื่อนเล่นคนโปรดของเจ้าชายสิทธัตถะไปทูลอาราธนา เพื่อขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์


เมื่อกาฬุทายีมาถึงกรุงราชคฤห์แล้ว จึงได้ทราบว่าทำไมอำมาตย์ที่มาทูลแจ้งข่าวไม่กลับไปซักคนเดียว ในขณะที่เขาเข้าไปในที่ที่พระพุทธองค์กำลังแสดงธรรม ได้พยายามที่จะไม่ฟังพระธรรมเทศนา เมื่อพระพุทธองค์แสดงธรรมจบแล้ว เขาจึงได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ถวายความเคารพอย่างสูงสุดแล้ว ได้กราบทูลอาราธนาให้พระองค์เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์


หลังจากที่กาฬุทายีมาทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าเป็นเวลา 2 เดือนกว่า ในเย็นวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้เสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์ และได้ประทับที่อุทยานนอกเมือง ซึ่งเป็นธรรมเนียมของนักบวชทั้งหลาย ครั้นรุ่งเช้า พระองค์ได้เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมืองตามที่พระองค์เคยทำตามปกติ ความทราบถึงพระเจ้าสุทโธทนะ ทำให้พระองค์ทรงกริ้วและอับอายที่พระโอรสทรงทำภิกขาจารในถิ่นแคว้นที่สิ่งต่างๆ ในที่นี้เป็นของพระองค์


แต่พระพุทธเจ้าทรงอธิบายให้พระพุทธบิดาทรงเข้าใจว่า การบิณฑบาตถือเป็นธรรมเนียมของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ได้เคยปฏิบัติกันมาแล้ว การปฏิบัติอย่างนี้ถูกต้องและเหมาะสมแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย


เมื่อพระพุทธองค์ได้เสด็จมาถึงพระราชวังแล้ว พระองค์ได้แสดงธรรมโปรดพุทธบิดา พระมารดาเลี้ยง และพระประยูรญาติคนอื่นๆ จนบุคคลเหล่านี้ยอมรับพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง และได้น้อมนำธรรมะนั้นไปประพฤติปฏิบัติตาม ในฐานะที่เป็นสาวกของพระองค์สืบต่อไป

Posted by ครูพเยาว์ at 10:25 PM

รอบรั้ว พระพุทธศาสนา หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 บทที่ 2 ตอนที่ 1


วันนี้จะมาเล่าเรื่องประวัติของพระพุทธเจ้าค่ะ เรียกว่าเป็นพุทธประวัติ เป็นตอนแรกค่ะ ตอนที่สองเป็นตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ ตอนที่สามเป็นกิจหรืองานที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเป็นประจำวัน เรียกว่าพุทธกิจค่ะ ทั้งหมด 3 เรื่องนะคะ วันนี้เอาแค่เรื่องแรกค่ะ คือพุทธประวัติ


เมื่อเล่าถึงพุทธประวัติ ต้องย้อนกลับไป 2600 กว่าปีนะคะ ในดินแดนที่เรียกว่า ชมพูทวีป ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตประเทศอินเดีย เนปาลและปากีสถาน ที่เหล่านั้นเป็นที่ตั้งของแคว้นต่างๆ ในแต่ละแคว้นก็จะมีกษัตริย์เป็นผู้ปกครอง และในแคว้นหนึ่ง นามว่า "แคว้นสักกะ" เมืองหลวงชื่อ กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นนี้เป็นต้นกำเนิดแห่งพุทธประวัติค่ะ


พระเจ้าสุทโธทนะ ซึ่งเป็นกษัตริย์ราชสกุลศากยวงศ์ ทรงเป็นกษัตริย์ปกครองกรุงกบิลพัสดุ์ พระองค์มีพระมเหสีพระนามว่า พระนางสิริมหามายา ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าอัญชนะ กษัตริย์ราชสกุลโกลิยวงศ์แห่งกรุงเทวทหะ


เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงมีพระครรภ์ และทรงรู้พระองค์ว่า จะถึงเวลาประสูติในไม่ช้า พระนางจึงได้ทูลขออนุญาตจากพระราชสวามีเสด็จไปเยี่ยมนครเทวทหะอันเป็นบ้านเกิดของพระนาง เมื่อเสด็จไปถึงกึ่งกลางทางระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ ขบวนเสด็จของพระนางได้ทรงหยุดพัก ณ สวนลุมพินีวัน ซึ่งเป็นสวนป่าอันร่มรื่น และพระนางได้ประสูติพระราชโอรส ที่ใต้ต้นสาละ(ต้นรัง) ที่คุณครูได้เอาดอกของต้นไม้นี้มาให้ดูแล้วครั้งหนึ่งนะคะ วันที่ประสูติคือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เวลาใกล้เที่ยงวัน ก่อนพุทธศักราช 80 ปีค่ะ นี่คือตอนประสูตินะคะ


ต่อมา หลังจากพระราชกุมารประสูติได้ 5 วัน พระเจ้าสุทโธทนะทรงจัดให้มีพิธีขนานพระนามของพระราชกุมารตามธรรมเนียมในสมัยนั้น โดยได้เชิญบรรดานักปราชญ์มาประชุมกัน และในที่ประชุมนักปราชญ์ได้ขนานพระนามพระราชกุมารว่า "สิทธัตถะ" ซึ่งแปลว่า "ผู้มีความสำเร็จในทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนตั้งใจจะทำ" และบรรดาเหล่านักปราชญ์ยังได้ทำนายว่า ถ้าพระราชกุมารทรงอยู่ในเพศฆราวาส จะได้เป็นจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ในโลก แต่ถ้าทรงออกผนวช จะได้เป็นศาสดาเอกของโลก และในที่นี้มีเพียงโกณทัญญะพราหมณ์ผู้เดียวที่ทำนายว่า "พระราชกุมารจะสละราชบัลลังก์และจะประพฤติพรหมจรรย์บรรลุธรรมเป็นศาสดาเอกของโลก" นี่คือตอนขนานพระนามนะคะ


หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ 7 วัน ก็เกิดเรื่องใหญ่ค่ะ พระมารดาสิ้นพระชนม์ น่าสงสารนะคะ พระองค์จึงได้รับการดูแลจากพระนางปชาบดีโคตมีซึ่งเป็นพระน้านางและเป็นพระมารดาเลี้ยง เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเจริญวัย พระราชบิดาทรงให้การศึกษาศิลปะวิทยาการในสำนักครูวิศวามิตร เจ้าชายได้ศึกษาวิชาความรู้ที่ควรจะศึกษาได้อย่างรวดเร็ว นี่คือตอนที่เป็นวัยกุมารของพระพุทธเจ้าของเรานะคะ


จากนั้น เมื่อถึงประเพณีแรกนาขวัญประจำปี เจ้าชายได้ตามพระราชบิดาไปด้วย เมื่อเจ้าชายอยู่เพียงพระองค์เดียว พระองค์ได้ทรงพิจารณาถึงสิ่งต่างๆ ที่พบเห็นอย่างลึกซึ้ง และทรงมีความเห็นว่า "ความทุกข์อันใหญ่หลวงกำลังครอบงำคนและสัตว์จำนวนมากอยู่ตลอดเวลา"


ครั้นพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบว่า พระโอรสทรงเริ่มคิดไปในทางธรรม พระองค์จึงโปรดให้พวกช่างสร้างปราสาทอันสวยงามขึ้น 3 ปราสาท สำหรับให้พระโอรสประทับในแต่ละฤดู เพื่อให้พระโอรสเกิดความรื่นรมย์ ซึ่งเป็นการโน้มน้าวจิตใจของพระโอรสให้เพลิดเพลินในทางโลก นี่คือตอนแรกนาขวัญนะคะที่เจ้าชายเริ่มคิดถึงความทุกข์ของคนและสัตว์


เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะย่างเข้าสู่วัยหนุ่ม พระองค์ได้อภิเษกสมรสกับพระนางพิมพา(ยโสธรา) แต่พระองค์ยังทรงอยากทราบความเป็นไปภายนอกพระราชวังว่า ประชาชนมีความเป็นอยู่อย่างไร ครั้นพระองค์ได้เสด็จประพาสพระนครและได้พบเห็นคนแก่ชรา คนที่มีอาการเจ็บไข้ และคนตาย ทำให้พระองค์ตกพระทัย เพราะไม่เคยทรงทราบมาก่อนว่า คนเรา จะมีลักษณะอาการเช่นนี้ เนื่องจากไม่เคยพบเห็นคนแก่ คนเจ็บและคนตาย ในเขตพระราชวังของพระองค์


เจ้าชายทรงครุ่นคิดถึงหนทางรอดอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อช่วยให้พระองค์และคนอื่นๆพ้นจากความแก่ ความเจ็บไข้และความตาย ในเวลาต่อมา ขณะที่พระองค์ทรงม้าประพาสอุทยานนอกวัง พระองค์ทอดพระเนตรเห็นนักบวช(สมนะ) พระองค์ทรงพอพระทัยในความสงบของนักบวช และ ณ เวลานั้น ทรงมีพระทัยน้อมนำไปสู่การออกจากบ้านเรือน ขณะนั้นได้มีผู้มากราบทูลพระองค์ว่า พระชายาของพระองค์ได้ประสูติพระโอรสแล้ว พระองค์ทรงพลั้งพระโอษฐ์ออกไปเบาๆว่า "บ่วงเกิดแก่ฉันแล้ว บ่วงเกิดแก่ฉันแล้ว" นี่คือตอนวัยหนุ่มของพระพุทธเจ้าค่ะ


นับแต่วันที่พระกุมารราหุลประสูติไม่นานนัก เจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดสินพระทัยออกผนวช เพื่อแสวงหาสิ่งที่เป็นความสุขอันแท้จริง ที่จะทำให้พระองค์และผู้อื่นหลุดพ้นจากความแก่ ความเจ็บและความตายได้ พระองค์จึงเสด็จออกจากพระนครพร้อมกับนายฉันนะมหาดเล็กและม้ากัณฐกะ จนกระทั่งเสด็จถึงริมฝั่งแม่น้ำอโนมา พระองค์จึงทรงเปลื้องเครื่องประดับ เพื่อให้นายฉันนะนำกลับพระนครพร้อมกับม้าทรง พระองค์ใช้พระขรรค์ตัดพระเมาลี และทรงอธิษฐานเป็นนักบวช เมื่อพระองค์มีพระชนมายุ 29 พรรษา นี่คือตอนสละโลกค่ะ


ขณะที่ออกผนวช พระสิทธัตถะได้ทรงศึกษากับอาฬารดาบสและอุทกดาบส ซึ่งเป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น แต่พระองค์ไม่ทรงพบหนทางที่จะดับทุกข์ที่แท้จริงได้ จึงเลิกเสาะแสวงหาวิชาความรู้จากสำนักเจ้าลัทธิต่างๆ ในสมัยนั้น มีผู้ที่เชื่อว่า การอดอาหารและการทรมานกายจะทำให้ได้รับความสุข จึงมีผู้สละบ้านเรือนมาประพฤติตนตามวิธีดังกล่าวเป็นจำนวนมาก พระสิทธัตถะ จึงได้ทรงกระทำการทรมานกาย ด้วยวิธีต่างๆ อยู่ตลอดเวลา 6 ปีที่พระองค์ออกผนวช แต่พระองค์ไม่ทรงค้นพบวิธีพ้นทุกข์ ซ้ำร้ายยังทำให้พระวรกายทรุดโทรม พระองค์จึงทรงเลิกทรมานพระวรกายและหันกลับมาบริโภคอาหารจากการบิณฑบาตเช่นเดิม นี่คือตอนความเพียรพยายามก่อนตรัสรู้นะคะแต่ไม่สำเร็จค่ะ


ทีนี้ ถึงตอนสำคัญ เมื่อพระองค์มีพระกำลังอย่างเดิมแล้ว พระองค์ได้ทรงประทับนั่ง ณ โคนใต้ต้นโพธิ์ โดยตั้งพระทัยแน่วแน่ว่า ถ้าไม่ค้นพบทางดับทุกข์แล้ว จักไม่ยอมลุกจากที่นั้น เมื่อจิตของพระองค์เป็นสมาธิแล้ว จึงเกิดปัญญารู้แจ้ง และตรัสรู้อริยสัจ 4 หรือความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ


พระสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ เมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ขณะที่มีพระชนมายุ 35 พรรษา นับจากเวลาที่ออกผนวชได้ 6 ปี และเป็นเวลา 45 ปี ก่อนพุทธศักราช


หลังจากที่พระสิทธัตถะตรัสรู้แล้ว พระองค์ทรงทบทวนธรรมที่ได้ตรัสรู้ แล้วจึงได้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดปัญจวคีย์ ณ ป่าอิสิปตมมฤทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี จนกระทั่งปัญจวคีย์สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงครั้งแรก (ปฐมเทศนา) เรียกว่า "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" ว่าด้วย อริยสัจ 4 และมรรคมีองค์ 8 นี่คือตอนที่พระองค์ตรัสรู้ค่ะ ที่จริงเรื่องสนุกกว่านี้อีกนะคะ เพราะพระองค์ต้องผจญมาร แต่สักหน่อยก็จะได้เรียนอีกค่ะ


เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเริ่มประกาศพระศาสนานั้น ทรงมีพระอรหันต์สาวกทั้งหมด 60 รูป ทรงรับสั่งให้สาวกทั้งหลายแยกย้ายกันไปเผยแผ่ศาสนาตามทิศทางต่างๆทิศทางละ 1 รูป ส่วนพระองค์เองได้เสด็จไปโปรดชฏิลทั้ง 3 พี่น้อง พร้อมด้วยบริวาร 1000 คน ที่ตำบลอุรุเวลาเสนาสิคม กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ซึ่งชฏิลทั้งหมดก็ยอมละทิ้งลัทธิความเชื่อเดิมของตน และกราบทูลขอบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า


หลังจากนั้น พระองค์ได้เสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสารและชาวเมืองราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงแสดงความเคารพนับถือในพระรัตนตรัย โดยสร้างวัดถวายเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า ชื่อว่า "พระเวฬุวันมหาวิหาร" ซึ่งนับได้ว่า "เป็นวัดแห่งแรก"ในพระพุทธศาสนา


เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบข่าวว่า พระโอรสของพระองค์บัดนี้ ได้ตรัสรู้แล้ว และประทับอยู่ที่กรุงราชคฤห์ จึงทรงส่งผู้เดินข่าวให้ไปทูลอาราธนาให้เสด็จสู่กรุงกบิลพัสดุ์ เมือ่เห็นว่าได้เวลาอันสมควรแล้ว พระพุทธเจ้าจึงเสด็จสู่กรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อโปรดพระราชบิดา พระมารดาเลี้ยงและพระประยูรญาติ ให้มีศรัทธาตั้งมั่นในพระรัตนตรัย


หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงเผยแผ่พระศาสนา ก็ได้มีผู้เลื่อมใสศรัทธาเข้ามาบวชเป็นอันมาก จนพระพุทธศาสนาได้ประดิษฐานอย่างมั่นคงในชนพูทวีป นี่คือตอนที่พระพุทธเจ้าประกาศธรรมค่ะ


และตอนนี้มาถึงตอนสุดท้ายของประวัติพระพุทธเจ้าค่ะ ภาพยนตร์ทุกเรื่องมีตอนจบนะคะ เรื่องของพระพุทธเจ้าก็เช่นเดียวกันค่ะ หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงประชวรหนักระหว่างจำพรรษาที่ 45 อันเป็นพรรษาสุดท้าย ณ กรุงเวสาลี พระองค์ได้ทรงปลงอายุสังขารด้วยการตั้งพระทัยว่า จะเสด็จดับขันธปรินิพพานนับจากนี้ไปอีก 3 เดือนข้างหน้า ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธองค์ได้ประทานปัจฉิมโอวาทแก่เหล่าสาวกว่า "ดูก่อน..ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราตถาคตเตือนท่านทั้งหลายให้รู้ว่า สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลาย จงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยธรรมอันไม่ประมาทเถิด"


จากนั้น พระองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานในยามสุดท้ายของวันเพ็ญขึ้นเดือน 15 ค่ำ เดือน 6 ขณะพระชนมายุ 80 พรรษา


เมื่อมัลลกษัตริย์ได้ทราบข่าวปรินิพพานของพระพุทธเจ้า จึงได้จัดตบแต่งพระพุทธสรีระ แล้วเปิดโอกาสให้ประชาชนเตารพพระศพ 7 วัน รอจนพระมหากัสสปะเถระเดินทางมาถึง จึงได้ทำพิธีถวายพระเพลิง ส่วนพระบรมสารีริกธาตุและพระอังคารได้แจกจ่ายแก่ผู้แทนนครต่างๆ รับไปสักการบูชาที่บ้านเมืองตน


จบแล้วค่ะ ไม่ยาวเกินไปใช่มั้ยคะ อ่านแล้วจำให้เหมือนกับไปดูภาพยนตร์มาแล้วเอาไปเล่าให้คุณย่า คุณยาย คุณพ่อ คุณแม่ฟัง อาจมีรางวัลจากท่านก็ได้นะคะ ถ้ามาเล่าให้คุณครูฟัง ก็ได้คะแนนไปค่ะ


ทีนี้เป็นของแถม ที่คุณครูอยากให้ลูกๆได้รู้เอาไว้ จากเรื่องพุทธประวัติค่ะ จากพุทธประวัตินั้นทำให้เกิด "สังเวชนียสถาน 4"คือ


1. สถานที่ประสูติ อยู่ที่สวนลุมพินีวัน ปัจจุบันเรียก "รุมมินเด" ประเทศเนปาล


2. สถานที่ตรัสรู้ อยู่ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ปัจจุบันเรียก"พุทธคยา" รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย


3. สถานที่แสดงธรรมครั้งแรก อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤทายวัน กรุงพาราณสี แคว้นกาสี ปัจจุบันอยู่ที่สารนาถ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย


4. สถานที่ปรินิพพาน อยู่ที่สาลวโนทยาน กรุงกุสินารา แคว้นมัลละ ปัจจุบันอยู่ที่รัฐอุตรประเทศ ประเทศอินเดีย

Posted by ครูพเยาว์ at 10:25 PM

รอบรั้ว พระพุทธศาสนา หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 บทที่ 1

ในบทแรกนี้ เรามาพูดถึงเรื่องความสำคัญของพระพุทธศาสนากันนะคะ เราเองเคยไปวัดกับครอบครัว กับคุณยาย กับคุณพ่อ คุณแม่...เอ..ทำไมต้องไปด้วยนะ มันต้องมีอะไรสักอย่างที่สำคัญ
มีค่ะ...เราไม่ใช่ไปวัดแค่ทำบุญ ตักบาตร แค่นั้นนะคะ ศาสนาพุทธของเรามีความสำคัญกว่านั้นค่ะ

ที่จะมาบอกให้ฟังคือ หนึ่ง. พระพุทธศาสนาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของไทยค่ะ และอย่างที่สอง คือ พระพุทธศาสนาเป็นหลักในการพัฒนาชาติไทย มีสองอย่างนะคะ ทีนี้มาส่องกล้องดูซิว่า ทั้งสองอย่างนั่นมีอะไรซ่อนอยู่ข้างในอีก

ข้อแรก. พระพุทธศาสนาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติไทย...มรดกนี่ล้ำค่าทั้งนั้นแหละ ที่ดินของปู่ย่าตายาย ตกมาแก่คุณพ่อคุณแม่เรา...แหวนแต่งงานของคุณแม่ วันหนึ่งถึงเวลาเราแต่งงานบ้าง คุณแม่ก็ต้องยกมาให้เรา..ไม่ต้องซื้อ เพราะเป็นมรดกค่ะ แต่พระพุทธศาสนานี่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมค่ะ แถมมีค่ามากเสียด้วย เพราะอะไร เพราะศาสนามีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของคนไทย เป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทย มีวัดและพระสงฆ์เป็นศูนย์กลางของสังคม สำคัญในด้านไหนบ้าง

****ในด้านการศึกษาค่ะ ในสมัยก่อนโน้น ปู่ย่าตายายของเราศึกษาที่วัดค่ะ ใครที่มีลูกชายก็เอาไปฝากไว้ที่วัด หัดอ่าน หัดเขียนกับพระ แถมมีการอบรมทางด้านศีลธรรม จรรยาไปพร้อมกันค่ะ ในปัจจุบันแม้เราจะเห็นโรงเรียนของรัฐบาลและเอกชนไปทั่ว แต่อีกเยอะที่ยังอยู่ในวัด อาศัยที่ดินวัดอย่างเช่น โรงเรียนวัดลิงขบ...ชื่ออาจแปลกนะคะ แต่ก็มีจริงๆ เดี๋ยวนี้เปลี่ยนชื่อแล้ว เป็นโรงเรียนวัดบวรมงคล แต่ชาวบ้านก็ยังเรียกอยู่นั่นแหละว่าวัดลิงขบ อยู่ที่ธนบุรีค่ะ

****ในด้านสังคมค่ะ หลักธรรมคำสอนในทางศาสนามีส่วนช่วยทำให้คนในสังคมให้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความเมตตาต่อผู้อื่น รู้รักสามัคคี ทั้งนี้เพราะพระพุทธศาสนาได้มุ่งเน้นให้เรายึดมั่นในคุณธรรม รู้จักพึ่งพาตนเอง ให้มีความสุขทางจิตใจ สอนให้เห็นประโยชน์ของธรรมะ ไม่ให้ยึดมั่นกับสิ่งต่างๆที่ทำให้เกิดทุกข์ เห็นความสำคัญในด้านสังคมหรือยังคะ ถ้าทุกคนทำได้ เรื่องวุ่นวายต่างๆก็ไม่เกิดขึ้นเลยค่ะ

****ในด้านศิลปวัฒนธรรมค่ะ นี่เห็นบ่อยๆที่สุด วัดที่เราไปนี่สวยงามค่ะ นั่นเขาเรียกว่าสถาปัตยกรรมที่มีความงดงามค่ะ ภาษายากหน่อยนะคะ มีภาพวาดที่ฝาผนังวัดที่อธิบายคำสอนและพุทธประวัติ ชาดก ที่ทำให้เกิดงานวรรณกรรมของไทย เกิดงานพุทธปฏิมาหรือรูปแทนองค์พระพุทธเจ้า ทำให้เห็นความเจริญทางศิลปะและความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในแต่ละยุคค่ะ นอกจากนี้ มารยาทของชาวพุทธ เช่นการกราบ การไหว้ ประเพณีต่างๆ เช่น การเกิด การแต่งงาน การทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ก็มีรากฐานจากพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยค่ะ

ข้อสอง. พระพุทธศาสนาเป็นหลักในการพัฒนาชาติไทยค่ะ เนื่องจากพระพุทธศาสนามุ่งเรื่องพัฒนาจิตใจของคนจึงมีผลต่อการพัฒนาชาติไทย ว่ากันไปแล้ว แยกออกได้ 3 หัวข้อค่ะ

****พระพุทธศาสนาเป็นศานาที่สอนให้ชาวพุทธ"เชื่อมั่นในเหตุและผล" ซึ่งความเชื่อดังกล่าว นำไปสู่การพัฒนาที่มีลักษณะ 3 ประการ คือ "เชื่อมั่นในความดีงามของมนุษย์" "เชื่อมั่นในกฎแห่งกรรม และผลของการกระทำ" "เชื่อมั่นว่าคนเราต้องรับผิดชอบต่อการกระทำและผลของการกระทำของตนเอง"

****พระพุทธศาสนาเน้นให้คนรู้จักฝึกอบรมตนเอง รู้จักการพึ่งพาตนเอง โดยมีหลักธรรมที่มุ่งให้คนรู้จักฝึกอบรมตนเองทั้งด้านพฤติกรรม (ศีล) ฝึกฝนทางด้านพัฒนาจิตใจ (สมาธิ) และพัฒนาปัญญาให้รู้จักคิด รู้เหตุผล (ปัญญา) ถ้าเราปฏิบัติได้แล้ว ก็จะพัฒนาชาติไทยได้แน่นอนค่ะ

****พระพุทธศาสนามีแนวคิดและหลักคำสอนเป็นแบบวิทยาศาสตร์ คือสามารถพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่สอนแบบให้เชื่องมงาย ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน วิธีคิดแบบนี้เป็นแนวทางที่สำคัญต่อการพัฒนาบุคคลและในระดับชาติค่ะ ตัวอย่าง เช่นคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่พระอัสสชิกล่าวให้อุปติสสะ (พระสารีบุตร) ฟัง และทำให้อุปติสสะทูลขออุปสมบท คือ "สิ่งใด มีเหตุเป็นเครื่องบันดาลให้เกิดขึ้น พระตถาคตได้ตรัสถึงเหตุแห่งสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น พร้อมทั้งความดับสนิทของสิ่งเหล่านั้น" แค่นี้เองทำให้อุปติสสะเกิดศรัทธาขอบวช



จบบทที่ 1 ค่ะ สั้นนิดเดียวนะคะ จำได้ง่ายๆค่ะ

Posted by ครูพเยาว์ at 10:24 PM

รอบรั้ว ประชาธิปไตย


24 มิถุนา................ยนมหาศรีสวัสดิ์


ปฐมฤกษ์ของรัฐ.....ธรรมนูญของไทย



เริ่มระบอบอา-........รยะประชาธิปไตย



ทั่วราษฎรไทย........ได้สิทธิเสรี



สำราญสำเริง..........รื่นเริงเต็มที่



เพราะชาติเรามี.......เอกราชสมบูรณ์

(นายมนตรี ตราโมช ผู้แต่ง)

ลูกๆคะ วันนี้เป็นวันที่ 24 มิถุนาค่ะ เมื่อ 75 ปีที่แล้ว 24 มิถุนายน 2475 เราได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง จากสมบูรณายาสิทธิราช มาเป็น ประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญค่ะ ถือว่าวันนี้เป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติไทยเลยค่ะ รัฐธรรมนูญฉบับแรกของเราเป็นฉบับชั่วคราวค่ะ เรียกชื่อว่า "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2475" ส่วนฉบับสมบูรณ์นั้นเป็นฉบับที่ 2 มีชื่อว่า "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ลงวันที่ 10 ธันวาคม 2475"
จะเห็นว่าในสมัยนั้นยังไม่ได้เรียกว่า"ประเทศไทย"เลยนะคะ ยังเรียกว่า"สยาม"อยู่เลยค่ะ แล้วเราเปลี่ยนเป็น ประเทศไทยวันไหนคะ...24 มิถุนา อีกเหมือนเดิมค่ะ แต่เป็น 24 มิถุนายน 2482 ค่ะ ในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วประกาศเอาวันนี้เป็นวันชาติ (ในสมัยนั้น)ไปด้วย พร้อมกันนั้นก็ได้สร้าง"อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย"ขึ้นมา และได้สร้างสะพานไว้ใกล้ๆกัน เรียกว่า "สะพานเฉลิมวันชาติ"

Posted by ครูพเยาว์ at 10:23 PM

รอบรั้ว บ้านเรา


ลูกๆ เคยเห็นปลาตัวนี้มั้ยคะ เขาเรียกปลาการ์ตูนค่ะ ปลาตัวนี้คือปลาการ์ตูนตัวจริงๆ หลานของคุณครูที่เป็นครูสอนดำน้ำอยู่ที่เกาะราชา จังหวัดภูเก็ต ถ่ายมาให้ ลูกๆคงเคยดูหนังเรื่อง"นีโม"มาแล้ว เป็นเรื่องของลูกปลา ที่ดื้อค่ะ ไม่เชื่อฟังพ่อ น้อยใจที่พ่อห้ามไปเสียทุกอย่าง ก็เลยอวดดี ขัดคำสั่งของพ่อที่เตือน ผลสุดท้ายก็โดนจับไป..ต้องตกอยู่ในความลำบาก โดนขังอยู่ในตู้เลี้ยงปลา พ่อก็ตามหาลูกด้วยความยากเย็น กว่าจะเจอกันได้ ก็ต้องผจญภัยสารพัด เจอเหตุการณ์ที่ต้องเอาชีวิตให้รอดแทบไม่ได้ หนังเรื่องนี้สอนเราหลายอย่าง อย่างแรกที่เห็นคืออย่าดื้อค่ะ ต้องเชื่อฟังพ่อแม่นะคะ ท่านรักเราถึงเฝ้าดูเราให้อยู่ในสายตา อยู่ในโอวาท อีกเรื่องก็คือ ความพร้อมเพรียงกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ถึงจะอยู่รอดกันได้ เห็นมั้ยคะ ว่ากว่าปลาจะหลุดออกมาจากแหของชาวประมงได้ ต้องช่วยกันออกแรงว่ายลงพื้นทะเล จนแหขาดจากเรือ และรอดพ้นจากชาวประมงได้ แม้ว่ามันจะเป็นจริงไม่ได้ แต่ก็บอกเราว่า ถ้าเราเอาจริง ร่วมมือร่วมแรงกัน ร่วมใจกัน กระทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็สามารถช่วยสังคมได้ อย่างเช่นค่ะ ถ้าลูกอยู่ที่โรงเรียน ขยะที่อยู่ในมือลูก เอาไปทิ้งถังขยะกันทุกคน ขยะบนพื้นก็จะไม่มีค่ะ ถ้าน้องๆตัวเล็กๆที่ยังไม่รู้เรื่อง ทิ้งขยะลงพื้น พี่ๆต้องเก็บก่อนนะคะ ถ้าเห็น และสอนน้องด้วยค่ะว่า อย่าทิ้งขยะนะคะ หรือนะครับ น้องที่อยู่ในโรงเรียนก็น้องของเราค่ะ เราต้องรักน้อง ต้องเชื่อฟังพี่ๆ ต้องเชื่อฟังคุณครูที่โรงเรียน อยู่บ้านก็ต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ อย่าดื้อกับคุณพ่อคุณแม่นะคะ

Posted by ครูพเยาว์ at 10:23 PM

ล้อมรั้ว ต้านยาเสพติด


ลูกๆคะ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของเราคือยาเสพติดค่ะ ครูได้ทำป้ายแสดงถึงพิษสงของยาเสพติดไว้หน้าห้องปกครองอยู่ทั้งปี ปีนี้ ในเดือนนี้ซึ่งเป็นเดือนแห่งการต่อต้านยาเสพติด คือวันที่ 26 มิถุนายน ก็ได้จัดขึ้นแทนอันเก่าแล้ว เข้ามาดูได้เลยค่ะแต่ไม่ใช่ต่อต้านแค่วันเดียว เดือนเดียวนะคะ เราต้องต่อต้านตลอดไปค่ะ จนกว่ายาเสพติดจะหายไปจากเมืองไทย ครูได้เจอบทประพันธ์เกี่ยวกับเรื่องยาเสพติดอยู่บทหนึ่ง แต่งโดยคุณสาแก้ว เห็นว่าแต่งได้ดี ได้ใจความครบถ้วน อยากให้ลูกๆได้อ่านด้วยค่ะ


รัก ในหลวงห่วงให้_____ไขข้อง
ใน วิกฤตผิดครรลอง_____เร่งร้น
หลวง ใหญ่ยิ่งสิ่งสนอง _ครองใคร่ ใครหลง
ห่วง ชีพรีบหลีกพ้น_____ ห่างไว้ใจแสลง
ลูก เล็กเด็กแดง_______ เดียงสา
หลาน ลูกถูกหมายตา_____เหยื่อพลั้ง
ร่วม ปรามปกป้องสา-____รพัด สรรพแฮ
กัน ก่อนแก้หลังยั้ง______ยุ่งย้อนยาวนาน
ต้าน ตอบต่อบ่ให้______ บั่นทอน
ยา หยูกปลูกพิษจร______จักไว้
เสพ สิ้นกลิ่นสังวร______ลับล่วง สังขาร
ติด ตกหมกต่ำใต้______ ต่ำต้อง ตายสูญ
(บทประพันธ์ โดย สาแก้วค่ะ)


ฟังดูน่ากลัวนะคะ และมันก็ไม่ใช่แค่น่ากลัว มันต้องกลัวค่ะ กับพิษภัยของยาเสพติด ลูกๆอย่าแม้แต่คิดไปลอง กับคนที่เรารักอย่างเช่นคุณพ่อของเรา ถ้าคุณพ่อสูบบุหรี่ ลูกต้องบอกคุณพ่อนะคะ ว่ารักคุณพ่อมากๆ อยากให้คุณพ่ออยู่กับลูกนานๆ อย่าสูบนะคะ

Posted by ครูพเยาว์ at 10:22 PM

รอบรั้ว พระพุทธศาสนา


รอบรั้ว พระพุทธศาสนาจะมาเล่าเรื่องต้นไม้ที่สำคัญๆ ที่มาเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าของเรา ครูอาจเอารูปมาให้ดูไม่ครบค่ะ แต่ลูกๆอาจไปดูได้ที่วัดโพธิสมภรณ์ แต่ก็ไม่ครบอีกนั่นแหละ จะขาดต้นรังไป ต้นไม้ต้นแรกที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าของเราคือ ต้นรัง เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประสูติตรงใต้ต้นรัง ตำราหลายเล่มบอกว่าเป็นต้นสาละ...แต่ถามไปถามมาก็กลายเป็นว่า ต้นรังและต้นสาละเป็นต้นไม้อยู่ในพันธุ์เดียวกัน เป็นเสียอย่างนี้ เอาละก็ถือว่าเหมือนๆกัน ต้นไม้ต้นที่สองคือต้นโพธิ์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ในวันเพ็ญเดือน 6 อย่าลืมนะคะ ทั้งวันประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน เป็นวันเพ็ญเดือน 6 ทั้งนั้น เราเรียกกันว่า วันวิสาขบูชาค่ะ ต้นไม้ต้นที่สามคือ ต้นสาละ พระพุทธเจ้าเสด็จสู่ปรินิพพาน ตอนที่ปรินิพพานนั้นดอกสาละร่วงโปรยปรายไปทั่ว เหมือนการแสดงความเคารพต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีเดียว ครูได้เอาดอกสาละมาให้ดูค่ะ ดอกสวยมากทีเดียว ลูกๆเวลาไปวัด เข้าไปดูนะคะ

Posted by ครูพเยาว์ at 10:21 PM

รอบกำแพง วัดโพธิสมภรณ์


อาจฟังแปลกๆ เพราะครูจะพูดเรื่องนอกรั้วโรงเรียนอยู่เรื่อย มาวันนี้กลายมารอบกำแพงซะแล้ว อย่าแปลกใจเลยค่ะ เพราะต้องเข้าวัดเอาลูกศิษย์ที่น่ารักทั้ง 4 คน มาอบรม เพื่อที่จะเป็นแกนนำให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ได้ปฏิบัติตาม ปรับปรุงโรงเรียนให้น่าอยู่ น่าเรียนยิ่งๆขึ้นไป ความคิดใหม่ๆ ที่พวกลูกๆทั้งหลายจะทำต่อไป ครูจะเฝ้าดู และเอาใจช่วย และถ้าใครมีความคิดดีๆ อยากจะเสนอความคิดนั้น ก็จงช่วยกัน ขยายให้เพื่อน 4 คนนี้ได้รับฟัง เขาจะได้เอาไปปรึกษากัน และนำมาปรับปรุงให้มาปฏิบัติได้
ครูขอเอาใจช่วยนะคะ

Posted by ครูพเยาว์ at 10:20 PM

รอบรั้ว คุณธรรมและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


สืบเนื่องมาจากการที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุดรธานี เขต 1 ได้จัดให้มีการอบรมนักเรียนในโครงการค่ายโครงงานคุณธรรม เฉลิมพระเกียรติ"เยาวชนไทย ทำดี ถวายในหลวง" ประจำปี 2550 นักเรียนของโรงเรียนอนุบาลอุดรธานี ส่วนหนึ่งก็ได้เข้าร่วมโครงการนี้ ในการอบรม มุ่งเน้นไปเรื่อง คุณธรรม หลักปฎิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นการต่อยอด เสริมความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้คัดลอกเอาบทความของท่านผู้รู้คนอื่นเข้ามา เพื่อที่จะเสริมให้เด็กมีความรู้ในเรื่องเพิ่มขึ้น เข้าใจมากขึ้น เพราะในปัจจุบันนี้ สังคมของบ้านเมืองเรา นับวันจะมีแต่ความสับสน วุ่นวาย แก่งแย่ง ชิงดีกัน คุณธรรมอันเป็นหลักที่จะให้เราทั้งหลายได้ยึดเหนี่ยวเอามาใช้ สมดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราโชวาทเอาไว้

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง:คุณธรรมพื้นฐาน

ธรรมสากล
1. การยึดถือความจริงความสัตย์
2. การให้คุณค่าของความเป็นมนุษย์
3. การให้ความรักความเมตตาแก่กัน

คุณธรรม: หลักความดี-ความงาม-ความจริงที่ใจยึดถือ
ศีลธรรม: หลักคิดและข้อปฏิบัติทางศาสนา
จริยธรรม: ข้อพึงปฏิบัติ (จริยธรรมทั่วไป, จริยธรรมวิชาชีพ)

กฎธรรมชาติ:
1. กฎไตรลักษณ์ (กฎของการเปลี่ยนแปลง)
- ความไม่เที่ยง (อนิจจัง)
- ความทุกข์ (ทุกขัง)
- ความมิใช่ตัวตน (อนัตตา)
2. กฎของความเป็นเหตุปัจจัย (ปฏิจสมุปบาท)
เหตุปัจจัย ?
ผลซึ่งเป็นเหตุปัจจัยขั้นต่อไป ??
ผลขั้นต่อไป
3. กฎของความเป็นเหตุผล อริยสัจ 4
- ทุกข์ (ปัญหา)
- สมุทัย (เหตุปัจจัยของปัญหา)
- นิโรธ (เป้าหมายการแก้ปัญหา)
- มรรค (วิธีปฏิบัติเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น)
4. กฎแห่งกรรม
- การกระทำทางกาย-วาจา-ใจ ย่อมให้ผลของมัน
- ผู้ปฏิบัติย่อมรับผลของการปฏิบัติ

ความสุข
1. สามิสสุข ความสุขที่ต้องอาศัยวัตถุภายนอกมาตอบสนองความต้องการของ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จึงแสวงหาไม่รู้จบ หวงหึง ผูกพัน กลัวสูญหาย-สูญเสีย
2. นิรามิสสุข ความสุขภายใน เกิดจากใจที่สงบ สะอาด สว่าง เกิดความพอเพียง-ไม่ดิ้นรน

ความพอ: สันโดษ
หลัก: จะทำอะไร ให้ทำด้วยอิทธิบาทธรรม คือทำอย่างเต็มที่ และเมื่อได้ผลออกมาอย่างไรจากการกระทำครั้งนั้นก็ให้เกิดความสุข-ความพอ (ถ้าไม่ได้ผลตามต้องการให้ปรับปรุงใหม่คราวหน้า)

ความสุข-ความพอ
- พอใจในสิ่งที่ได้
- พอใจในสิ่งที่มี
- พอใจในสิ่งที่เป็น

ความสุขในความพอ
- ตามควรแก่ความสามารถ
- ตามควรแก่การกระทำ
- ตามควรแก่ฐานะ
- ตามควรแก่กฎเกณฑ์สังคม (จริยธรรม) กฎเกณฑ์ศีลธรรม และกฎเกณฑ์ของกฎหมาย

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
“เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน ทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี”

เป้าประสงค์:
“เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน ทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์”

หลักความพอเพียง:
“ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน”
(สามองค์ประกอบสำคัญคือ 1. ความพอประมาณ 2. ความมีเหตุผล 3. มีภูมิคุ้มกันในตัว)

สามเงื่อนไข:
1. เงื่อนไขหลักวิชา
“ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และ…”
2. เงื่อนไขคุณธรรม
“ขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริต และ…”
3. เงื่อนไขการดำเนินชีวิต
“ให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ...”
(สามเงื่อนไข คือ 1. เงื่อนไขคุณธรรม 2. เงื่อนไขหลักวิชาความรู้ 3. เงื่อนไขการดำเนินชีวิต)

ผลที่คาดว่าจะได้รับ:
เศรษฐกิจพอเพียง “เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี”
(ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง 1. ทางวัตถุ 2. ทางสังคม 3. ทางสิ่งแวดล้อม 4. ทางวัฒนธรรม)

สรุป:
1. ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ทางสายกลาง
2. ความพอเพียง ประกอบด้วย ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอ
3. ภายใต้เงื่อนไขสำคัญ 3 ข้อ คือ
- เงื่อนไขคุณธรรม (ซื่อสัตย์-มีคุณธรรม)
- เงื่อนไขหลักวิชา (ใช้หลักวิชาวางแผน-ปฏิบัติ)
- เงื่อนไขชีวิต (ขยัน-อดทน-สติ-ปัญญา)
4. นำไปสู่ (สมดุล พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง)
5. ธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลง
- ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง
- กฏการเปลี่ยนแปลงเกิดจากเหตุ-ปัจจัย (ภายนอก ควบคุมไม่ได้ / ภายใน ควบคุมได้)
- การเปลี่ยนแปลงมีลักษณะเป็นวงจร (มีทั้งขาขึ้น-ขาลง ขาขึ้นต้องไม่ประมาท ขาลง ต้องรีบยับยั้ง)
- ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง (วัตถุ-สังคม-สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม) โดยอาจเกิดเร็ว-รุนแรง และกว้างขวาง

คุณธรรมสำหรับชาวไทย
(พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ประชาชนชาวไทย เนื่องในงานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เมื่อ พ.ศ. 2525 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง) ทรงแนะนำให้คนไทยมีคุณธรรมประจำใจ 4 ประการ ได้แก่
1. รักษาความสัตย์ ความจริง ต่อตนเองที่จะประพฤติปฏิบัติต่อสิ่งที่เป็นประโยชน์
2. รู้จักข่มใจตนเอง ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัตย์ ความดี
3. อดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลประการใด
4. รู้จักระวังความชั่ว ความทุจริต และรู้จักเสียสละประโยชน์ส่วนน้อยของตนเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง
เอกสารอ้างอิง
After the Cold War (1990 to present)
- Peter Drucker: the “Age of Discontinuity” (it will not be the same as before)
- Joseph Schumpeter: the world will feel the forces of creative destruction.
- Rowan Gibson: the journey ahead is going to be like an off-road experience bumpy, uncertain and full of surprises.
บรรยายโดย ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย นายกสภามหาวิทยาลัย ในการสัมมนากรรมการสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหารของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ประจำปี 2549 เรื่อง แนวทางการจัดทำแผนพัฒนาอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2550-2554 วันที่ 7-8 กรกฎาคม 2549

Posted by ครูพเยาว์ at 10:20 PM

รอบรั้ว Understanding by design กับคำถามเบื้องต้น

เมื่อตั้งใจว่าจะวางแผนการสอน ก็จะมีคำถาม ที่ตัวเองจะต้องตอบก่อนว่า นี่ฉันต้องทำอย่างไร ซึ่งต้องนั่งใจเย็นๆสักพัก และก็วางขั้นตอน

ถามตัวเองก่อนว่า อะไรคือหน่วยของการเรียนรู้ ที่ต้องกำหนดก่อน อะไรคือความเข้าใจคงทน ที่ติดตัวผู้เรียนตลอดไป และอะไรคือคำถาม ที่ต้องวางเป้าหมายเอาไว้กับบทเรียนนี้ จะวางแผน วางกรอบอย่างไรเพื่อที่จะให้เด็กๆได้รู้ถึงจุดประสงค์และเหตุผล เพื่อที่ว่าเด็กจะได้รู้ว่าเขาเรียนอะไร ตั้งแต่เริ่มบท

จะประเมินความรู้ของเด็กล่วงหน้าอย่างไร ว่าเขามีความรู้เดิมขนาดไหน เพื่อที่จะโยงความรู้เก่าๆของเขาไปกับบทเรียนใหม่ตลอดจนจบบทเรียน

จะประเมินรวบยอดเมื่อจบบทเรียนอย่างไร จะให้เด็กแสดงออกว่าเขารู้เรื่องแล้ว และสามารถจะประยุกต์มาใช้งานได้ หรือประยุกต์แนวคิดได้ หรือแม้แต่จะให้เด็กมีบทบาทอย่างไรในการช่วยการสรุปบทเรียนที่กำลังจะจบลง

จะประเมินตามรูปแบบมาตรฐานตลอดการสอนอย่างไร เพื่อที่จะให้รู้ว่า ตลอดการสอนไปนั้นเด็กเข้าใจแล้ว จะให้เด็กแสดงออกอย่างไรว่าเขาเข้าใจมากขึ้นหรือพัฒนาขึ้นจากคำถามที่สำคัญๆตลอดการเรียน

ฉันจะรับทราบถึงเกณท์มาตรฐานได้อย่างไรเพื่อที่จะหาค่าของการประเมินความรู้ทั้งในระหว่างเรียนและตอนสรุปบทเรียน

จากพื้นฐานของการสรุปบทเรียนที่เด็กนักเรียนจะต้องแสดงออก อะไรคือทักษะที่สำคัญ หรือแนวคิดที่วางเป็นเป้าหมายเอาไว้ เช่นการอ่าน หรือการเขียนออกมา

อะไรคือยุทธศาสตร์การสอน หรือการแสดงออกที่ดีที่จะเอามาใช้ในการสอนให้เห็นเด่นชัดในการสอนตลอดบทเรียน ถ้าคุณได้อ่านจากการพูดครั้งก่อนๆของรอบรั้ววิทยาศาสตร์ จะเห็นว่า คำถามบางครั้ง จะมีแนวคำถามแบบ “แฟนพันธุ์แท้” คือจะอธิบายความรู้ให้ฟังก่อน ว่าอะไรคืออะไร แล้วเอาคำถามมาถามอีกเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกริ่นนำเอาไว้ ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “โหนกระแส”

ยังไม่จบค่ะ ถ้าหาเจออะไรดีๆ พอเป็นประโยชน์บ้าง ก็จะเอามาขยายให้ฟังค่ะ


Posted by ครูพเยาว์ at 10:19 PM

รอบรั้ว ความผูกพัน

ความรู้สึกเดิมๆกลับคืนมาอีกครั้ง เมื่อลูกคนเล็กต้องออกจากบ้าน ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น มันไม่ได้ต่างกันเลยแม้แต่นิดเดียว เมื่อลูกคนโตออกไปเรียนต่อมี่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภูเก็ต เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ความผูกพันของลูกที่ต้องอยู่ห่างบ้าน ห่างพ่อแม่ เป็นลูกที่ไม่เคยจากไกล ครั้งนั้นเมื่อเห็นน้ำตาของลูกคนโต ที่แอบร้องให้ เพราะความอ้างว้างจะเข้ามาเยือน มันบั่นทอนหัวใจของพ่อแม่ รู้สึกว่าใจมันสลาย เช่นนั้นจริงๆ แต่ก็ต้องทำใจ เพราะความก้าวหน้าในการเรียน ความก้าวหน้าในชีวิตยังรออยู่ เด็กทุกคนต้องไปในวิถีนั้นทั้งหมด ที่พูดมานี้ก็เพื่อให้กำลังใจกับพ่อแม่ ว่าต้องตัดใจนะ กับความผูกพันที่มีอยู่ เพื่อความก้าวหน้าของลูก ทุกๆปีที่โรงเรียนอนุบาล เราจะเห็นลูกตัวเล็กๆ เข้ามาครั้งแรก เจ้าตัวน้อยๆ ก็ร้องไห้ อยากตามกลับบ้าน บางทีก็เห็นน้ำตาของแม่ แต่ก็ตัดใจได้ในที่สุด และแล้ว เมื่อเราผ่านช่วงวิกฤติทางอารมณ์นี้ออกไปได้ เหตุการณ์มันก็จะเป็นปกติไป ทุกคนก็สำเร็จสมกับความต้องการไป
พ่อแม่ดีใจ ที่ลูกได้มีความก้าวหน้าในการเรียน ลูกก็จะมีอนาคตที่ดี
ทุกอย่างมันเป็นการสอนให้เราไม่ให้เห็นแก่ตัวจนลืมความก้าวหน้าของลูกและครอบครัว และไม่ว่าในเรื่องใดในสังคมก็เหมือนกัน เพื่อความก้าวหน้าของสังคมแล้ว ต้องตัดความผูกพันซึ่งมันเป็นเหมือนกับว่ามันเป็นเส้นด้ายที่บางแนบติดกับความเห็นแก่ตัว ดังนั้นจึงต้องตั้งสติให้ดี คิดให้เป็น ถ้ามีแม่คนไหนสักคนคิดว่าต้องเอาลูกอยู่กับตัว ไม่ล่ะ ไม่ยอมให้ไปไกล ไม่ยอมตัดความผูกพัน ผลสุดท้ายลูกนั่นแหละจะเป็นคนได้รับผลเสีย ตัดใจเสียเถอะค่ะ กับความผูกพัน ทำใจให้กว้างๆ ใจเย็นๆ เมื่อทำได้ สักหน่อยก็จะเห็นว่า ลูกนั่นเองแหละ จะเป็นคนไม่ค่อยอยากกลับบ้านเอง เขาจะไปเจอสังคมใหม่ ชีวิตใหม่ เราเองก็จะดีใจ ยินดีกับเขาในตอนนั้น อย่างลูกคนโตตอนนี้ อยู่ภูเก็ต เมื่อเขามาเยี่ยมบ้านตอนปิดเทอม ตอนกลับไป เขาก็ไม่ได้มีอาการเหมือนเมื่อตอนต้นๆ ดูค่อนข้างจะดีใจเสียอีก

Posted by ครูพเยาว์ at 10:18 PM

รอบรั้ว วิทยาศาสตร์ ทดสอบ

ที่ผ่านมาก็คิดว่า จบบทเรียนเกี่ยวกับ ส่วนประกอบต่าง และหน้าที่ของแต่ละส่วนของพืชไปพอสมควร ทีนี้มาทบทวนกันสักนิด ถึงเรื่องวงจรการเกิดของพืช ถ้าเราสังเกตุในกรณีที่แม่ทำข้าวเหนียวมะม่วงให้กิน เมล็ดมะม่วงที่เราเอาไปโยนทิ้งหลังบ้าน หรือบางคนเอาไปเพาะ เราจะเห็นวงจรการเกิดของมัน ถ้าจะทำเป็นภาพยนตร์ย่นย่อเวลา ให้มันแสดงเหตุการณ์เร็วๆขึ้น เราจะเห็นว่า เมล็ดมะม่วงมันจะแตกออกมีรากงอกออกมา....เพื่ออะไร...เพื่อดูดเอาสารอาหาร น้ำส่งให้หน่อมะม่วงที่ออกมาพร้อมๆกัน หน่อนั้นก็จะเจริญเติบโต ออกเป็นลำต้น ออกใบ แตกกิ่งก้าน..แล้วก็สูงขึ้นๆ ลำต้นนั้นทำหน้าที่ส่งผ่านอาหารไปยังส่วนต่างๆ ใบก็ทำหน้าที่สังเคราะห์แสง สร้างอาหารให้แก่ต้นไม้ จากนั้นก็จะออกดอก..เหล่าผึ้ง แมลงต่างๆก็จะเข้ามากินน้ำตาลหวานๆจากดอก ได้เป็นค่าจ้างในการผสมพันธุ์ให้กับต้นไม้ จากนั้น ดอกก็จะเหี่ยวลงกลายเป็นผลไม้ ในที่สุดถ้าเราเก็บผลไม้นั้นมาไม่หมด มันก็จะสุกคาต้น แล้วร่วงหล่นลงมาบนพื้น และหลังจากนั้น มันก็จะเกิดวงเวียนชีวิต หมุนวนอยู่อย่างนั้น เมล็ดแตก งอกราก แตกหน่อออกมาเป็นต้น ออกดอก ผสมพันธุ์ ออกผล ร่วงหล่นลง แล้วก็....ไปเรื่อยๆไม่สิ้นสุด แต่ทั้งหมดนั่น ก็ต้องอาศัยน้ำ แร่ธาตุสารอาหาร แสงแดดเป็นตัวช่วย...และอย่าลืมแมลงต่างๆด้วยนะ


ทีนี้มาถึงตอนสำคัญ....จบบทเรียนแล้ว ก็ขอถามหน่อย ว่าจำอะไรได้บ้าง เป็นแฟนพันธุ์แท้ของวิทยาศาสตร์ขนาดไหน เอาละ มาตอบคำถามกัน

เรารู้ว่าพืชมีรากเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ มีหน้าที่ยึดลำต้นให้อยู่กับพื้น ดูดสารอาหารและน้ำส่งให้กับลำต้น เพื่อไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆของพืชให้เจริญเติบโตได้.... ขอถามว่า ให้บอกชื่อพืชมา 3 ชนิด ที่มีรากสะสมอาหาร
1........................................................2...................................................3..................................................

เรารู้ว่าเมื่อหน่อเจริญเติบโต ขึ้นไปเป็นลำต้นสูงขึ้น ออกใบและกิ่งก้านมากขึ้น และ ถ้าเราปลูกพืชอยู่ระหว่างตึกสูงๆ พืชจะมีลำต้นสูงด้วย ถามว่าพืชที่มีลำต้นสูงขึ้นนั้น เพื่ออะไร............................................................
.....................................................................................................................................................................

เรารู้ว่าใบเป็นเปรียบเสมือนครัวของต้นไม้ ทำหน้าที่สร้างอาหาร ซึ่งการสร้างอาหารนั้นจำเป็นที่จะต้องใช้แสงแดดและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาเป็นตัวช่วยด้วย ถามว่า ส่วนของพืชที่จะสร้างอาหารได้ คืออะไร..................................................

เรารู้ว่ารากเป็นส่วนที่หาอาหารให้กับพืช คงจะเห็นว่ารากจะชอนไชไปทั่ว เป็นตัวหาวัตถุดิบส่งให้ใบ ถามว่า วัตถุดิบที่พืชใช้ในการสร้างอาหาร คืออะไร................................................................................

เรารู้ว่าหน้าที่สำคัญของใบคือสังเคราะห์แสง สร้างอาหาร หายใจ คายน้ำ แต่ใบก็ยังทำหน้าที่แปลกๆออกไปอีกคือ เป็นมือเกาะ เป็นหนามเพื่อลดการคายน้ำเช่นตะบองเพชร สะสมอาหารและน้ำก็ได้เช่นว่านหางจระเข้ ขยายพันธุ์ก็ได้เช่นคว่ำตายหงายเป็น ทีนี้คำถาม ให้บอกชื่อพืชมา 3 ชนิดที่เปลี่ยนจากใบไปเป็นมือเกาะ1...............................
2................................................3.......................................................




Posted by ครูพเยาว์ at 10:16 PM

รอบรั้ว วิทยาศาสตร์ II



ชื่อดอก.....ส่วนที่สวยงามที่สุดของพืชทีเดียว ใครๆก็อยากมอง มีสีสรรต่างๆกัน บางดอกมีกลิ่นหอมอีก และเพราะมีสีสวยๆและกลิ่นหอมนี่เองก็ทำให้มีราคา ให้คนเอามาซื้อขายกันได้ เอาไปไหว้พระ เอาไปแขวนคอนักการเมือง ให้นักร้องลูกทุ่ง ให้คนที่เรารัก แล้วคนล่ะ จะมีค่าในตัวแบบดอกไม้ได้มั้ย...ได้ค่ะ เป็นเด็กก็เป็นเด็กดี เชื่อฟังพ่อแม่ ไม่ดื้อ ช่วยงานพ่อแม่ ทำได้แค่นี้ หอมแล้ว ใครๆเห็นก็ชื่นใจ มาโรงเรียนก็เป็นเด็กที่ขยันเรียน ไม่คุยในห้องเวลาครูสอน ไม่รังแกน้อง มีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่ แค่นี้ หอมแล้ว ครูทุกคนก็จะชมว่า เขาเป็นเด็กดีนะ เรียนเก่งหรือไม่เก่ง นั่นเป็นเรื่องที่เราแสวงหาได้ ขยันเรียน ถามคุณครูเวลาติดขัด ไม่เก่งให้มันรู้ไป แต่ขอให้เป็นเด็กดีก็พอแล้วจ้ะ แค่นี้ทุกคนก็มีความสุขแล้ว อ้าว..ครูหลงออกนอกเรื่องแล้ว กลับมาที่ดอกไม้สีสวยๆนี่อีก เขามีส่วนประกอบ 4 อย่างนะคะ มีกลีบเลี้ยง กลีบดอก เกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย แต่บางทีรูปร่างลักษณะของดอกไม้จะต่างกัน ลองเปรียบเทียบกันดูนะคะ สัก 3 อย่าง จะรู้จักดอกไม้มากขึ้น



เวลาเราเห็นดอกไม้ เคยสังเกตุดูกันบ้างมั้ยคะ ว่า มันมีการเปลี่ยนแปลง ดอกมะม่วงก็มีการเปลี่ยนแปลง มันไม่เป็นดอกทั้งปี ดอกทุเรียนก็เปลี่ยนแปลง นั่นไงเราถึงมีมะม่วงหลายๆชนิดให้เรากิน มีทุเรียนกินกัน ทุกอย่างนั่นมันมาจากดอกของมันทั้งนั้น การเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปตามขั้นตอน เมื่อดอกเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว จะได้รับการผสมพันธุ์ กลีบดอกจะค่อยๆเหี่ยวลง จากนั้นก็จะเกิดผลขึ้นแทนที่ แล้วผลก็จะค่อยๆเจริญเติบโต สังเกตุลูกมะม่วงมั้ย จะเล็กๆก่อน แล้วค่อยๆโตขึ้น บางคนรอไม่ไหว สอยลงเอามาจิ้มกับน้ำปลาหวานก่อน อืม...อร่อยดีนะคะ และภายในผลที่เจริญเติบโตนั่น ภายในของมันจะมีเมล็ดบรรจุอยู่ ส่วนนอกของผลจะทำหน้าที่คอยป้องกันเมล็ดจนกระทั่งพร้อมที่จะเจริญเติบโตเป็ตต้นพืชใหม่ต่อไป



แล้วผลไม้เกิดขึ้นได้อย่างไร...มันต้องมีวิธีซินะ จากดอกสวยๆมาเป็นผลที่อร่อยๆนั่น มันจะมีละอองเกสรตัวผู้ค่ะ เข้าไปผสมกับเกสรตัวเมีย เราเรียกการผสมกันนี้ว่า การปฏิสนธิ อีกแล้ว..เอาคำศัพท์แปลกๆมาให้อีกแล้ว แต่ก็ต้องจำเอาไว้นะคะ มันจะเจอในข้อสอบละค่ะ ทีนี้ก็บอกได้แล้วว่า ดอกมีหน้าที่ๆสำคัญคือ สืบพันธุ์


ทีนี้จะมาพูดเรื่องการสืบพันธุ์ของพืช ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร....จะเกิดขึ้นเมื่อละอองเกสรตัวผู้ที่อยู่ในอับละอองเรณูตกลงบนยอดเกสรตัวเมีย ละอองเกสรตัวผู้จะงอกหลอดเข้าไปผสมกับเซลล์ไข่ที่อยู่ภายในรังไข่ของเกสรตัวเมีย เรียกว่า การปฏิสนธิ หลังจากที่มีการปฏิสนธิแล้ว รังไข่จะเจริญเติบโตเป็นผล และออวุลจะเจริญเป็นเมล็ด ภายในเมล็ดจะมีต้นอ่อนอยู่ และถ้ามีสภาพที่เหมาะสม ต้นอ่อนก็จะเจริญเติบโตเป็นต้นพืชต้นใหม่ต่อไป ดังนั้น ผลจึงทำหน้าที่ ห่อหุ้มเมล็ด

Posted by ครูพเยาว์ at 10:15 PM

รอบรั้ว วิทยาศาสตร์

เรื่องที่เขียนขึ้นนี้ เป็นเรื่องที่เขียนขึ้นเพื่อเด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่ 4 วิชาวิทยาศาสตร์ ทุกอย่างอิงไว้กับบทเรียน มีแต่คำพูดเท่านั้น ที่เป็นในเชิง เล่าเรื่องให้ฟัง อย่างน้อยก็เพื่อไม่ให้เด็กๆ รู้สึกเครียดต่อการอ่านหนังสือ ถือว่าเอาไว้อ่านเล่น ประกอบการเรียน หรือ เอาไว้ฝึกทำข้อสอบก่อนล่วงหน้า เพราะคำถามที่ถามไปนั้น อยู่ในมาตรฐานของข้อสอบ ถ้าทำได้ ก็ถือว่าเวลาสอบจริง ถ้าไม่ลืม คงจะทำข้อสอบได้


ครอบครัวพืช


ทุกคนมีครอบครัว มีพ่อ มีแม่ มีพี่ มีน้อง และขยายออกไปเป็นปู่ย่าตายาย และญาติๆอีกเยอะแยะ เราจึงเห็นคนอยู่ทั่งไปไงล่ะ แต่ละคนก็มีหน้าที่ทำงานต่างๆกัน บางคนหาอาหาร บางคนปรุงอาหาร รักษาความสะอาด ทำหน้าที่ต่างๆกัน
วันนี้ เรามารู้จักกับครอบครัวพืชกันเถอะว่า เขาอยู่กันอย่างไร มีใครบ้าง ทำหน้าที่อะไร เขาเติบโตได้อย่างไร เขาหายใจได้มั้ย เขาโกรธ โมโห รักใครเป็นมั้ย
นี่ไงครอบครัวพืช มีสมาชิกดังนี้
ชื่อราก อยู่กันเป็นกลุ่มเลย มีรากแก้ว, รากแขนง, รากฝอย งานหลักคือยึดลำต้นให้ตั้งอยู่บนดิน งานรองลงมาคือลำเลียงอาหาร น้ำและแร่ธาตุส่งให้ลำต้น แต่บางทีรับงานพิเศษอีก คือสะสมอาหาร พวกนี้คือ มันแกว แครอท หัวไชเท้า มันสำปะหลัง เฮ้อ...ทำหน้าที่หลายอย่างเลยนะราก เหนื่อยบ้างมั้ยนี่

ชื่อลำต้น เป็นพวกที่อยู่ไม่เป็นที่เป็นทางนะ บางพวกอยู่บนดิน...เราเห็นได้ เช่น มะม่วง มะละกอ ชมพู่ ข้าวโพด แต่บางพวกขี้อาย ไม่อยากเจอใคร ชอบซ่อนอยู่ใต้ดิน เช่น เผือก, แห้ว, ขิง หน้าที่ของพวกนี้คือ ชูกิ่ง ก้าน และใบขึ้นสู่อากาศ เพื่อให้ได้รับแสงแดด และอากาศจ้ะ
จำๆได้มั้ยว่าหน้าที่ของลำต้นคือชูกิ่ง ก้าน ใบ ขึ้นสู่อากาศ อยากแกล้งดูซิว่าทำหน้าที่อย่างนั้นได้จริงๆหรือเปล่า หรือโม้ ดูซิว่าถ้าต้นไม้นอนบนพื้น เขาจะทำอย่างไร ลองจับต้นไม้ในกระถางให้นอนบนพื้นดูซิ...มันจะกัดเอามั้ยนี่

นอกจากนี้แล้ว ลำต้นยังหางานพิเศษทำอีก คือมีหน้าที่เป็นทางผ่านของน้ำและแร่ธาตุไปสู่ส่วนต่างๆของลำต้น และยังแอบงุบงิบหางานเพิ่มอีก ทำหน้าที่เป็นทางผ่านของอาหารที่สร้างจากใบไปสู่ส่วนต่างๆของพืชอีก รับทำหน้าที่ไปกี่อย่างแล้วนี่ ชูกิ่งก้านและใบสู่อากาศ หนึ่งละ ทำตัวเป็นทางผ่านของน้ำและแร่ธาตุไปสู่ส่วนต่างๆของลำต้น สองละ และยังไม่พอ ขยันหนักเข้าไปอีก แอบทำหน้าที่เป็นทางผ่านของอาหารที่สร้างจากใบไปสู่ส่วนต่างๆอีก ทำตั้ง 3 งาน เอาเงินไปเก็บที่ไหนกันนี่ มาแบ่งกันใช้หน่อยซิ

ชื่อใบ เป็นส่วนสำคัญของพืชทีเดียวนะ ทำหน้าที่หลายอย่าง หน้าที่สำคัญประการแรกคือ สร้างอาหาร พืชมีใบสีเขียวสร้างอาหารเองได้ เราเรียกการสร้างอาหารของพืชว่า การสังเคราะห์แสง.....ว้าว....เท่จังเลย....ไม่เห็นเรียกเหมือนเราเลยนะ ของแม่เรียกว่าทำกับข้าว ปรุงอาหารอยู่ในครัว ของพืช ครัวอยู่ที่ใบ แถมเรียกซะเท่อีก การสังเคราะห์แสง ที่บ้านแม่ใช้ความร้อนจากเตาแกสปรุงอาหาร แต่พืชนี่ใช้แสงแดด ฟรีๆซะด้วยและสิ่งที่ได้จากการสังเคราะห์แสงคือ แป้งและน้ำตาล ซึ่งพืชใช้เป็นอาหาร และขณะที่พืชสังเคราะห์แสง พืชจะคายน้ำและออกซิเจนสู่อากาศด้วย...ช่างใจดีจัง


สังเกตุดูมั้ยว่าตั้งแต่เริ่มแรกในแต่ละส่วนของพืชทำหน้าที่ได้หลายๆอย่าง ใบก็เหมือนกัน นอกจากทำหน้าที่สร้างอาหาร หายใจ และคายน้ำแล้ว ใบพืชบางชนิด จะเปลี่ยนแปลงรูปร่าง ทำหน้าที่อื่นๆอีก ใบตำลึง เปลี่ยนเป็นมือเกาะช่วยยึดลำต้น ใบตะบองเพชร เปลี่ยนเป็นหนาม เพื่อลดการคายน้ำ ใบว่านหางจระเข้ ช่วยสะสมอาหารและน้ำ ใบคว่ำตายหงายเป็น ช่วยขยายพันธุ์ ไม่เหมือนคนบางคนเลยนะ แค่กวาดขยะอย่างเดียว ยังอยากหนีเลย

Posted by ครูพเยาว์ at 10:14 PM

รอบรั้ว พุทธศาสนา

“เด็กไทยสมัยนี้ เริ่มจะรู้จักวันวาเลนไทน์กันมากยิ่งกว่าวันมาฆ-วิสาขะ-อาสาฬหบูชา, จะมีผลแก่ประเทศชาติหรือความเป็นไทย ในอนาคตอย่างไรบ้างฯ”
ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้พูดประโยคนี้ มาหลายปีดีดักแล้วค่ะ ยิ่งนานวันเข้า มันก็เริ่มมีอะไรใหม่ๆมามากขึ้น วันฮาโลวีน ปล่อยผี แต่งตัวแปลกๆมันก็เข้ามา จากนั้นเกมส์ต่างๆเข้าไปทุกบ้าน ออกจากบ้านก็เจอศูนย์การค้าต่างประเทศที่เปิดประตูอ้าต้อนรับ พร้อมไอเย็นๆ ชอบกันใช่มั้ยคะ และนับวันเราก็จะห่างความเป็นไทยไปทุกวัน ความเจริญต่างๆ รับไปเถอะค่ะ แต่อย่าให้มันทิ้งความเป็นไทย เป็นพุทธ โดยไม่หันกลับไปดูแล ใส่ใจ นี่เฉพาะตัวเราเองนะคะที่เอาใจออกห่างพระพุทธศาสนา ถ้าจะย้อนหลังไปสักไม่นานมานี้ ข่าวใหญ่ที่กระจายไปทั่วโลก เมื่อประเทศมุสลิมอัฟกานิสถาน ได้ระเบิดทำลายพระพุทธรูปที่ถือว่าใหญ่ที่สุดในโลกลง ทั้งๆที่ทั่วโลกทักท้วง หรือแม้แต่มุสลิมด้วยกัน ก็ร่วมทักท้วงด้วย เพราะพระพุทธรูปนั้น อยู่ที่นั่นมา 1800 กว่าปี ก่อนที่อิสลามจะเข้าไปยึดครอง แต่สุดท้ายพระพุทธรูปทั้งสององค์นั้นก็ถูกทำลายลง ท่ามกลางเสียงประท้วงของชาวพุทธและศาสนิกอื่นๆทั่วโลก...นั่นคือความสูญเสียของชาวพุทธที่เกิดขึ้นในต่างแดน เราจะสูญเสียต่ออีกไหม ท่านพุทธทาสบอกว่าต่อไป โลกจะเหลือแค่ศาสนาเดียวเท่านั้น ท่านไม่ได้บอกว่าศาสนาไหน แต่เราชาวพุทธก็อย่าได้วางใจว่าคงไม่ใช่ศาสนาพุทธนะคะ



รอบรั้วศาสนาพุทธวันนี้ เริ่มต้นให้คิดก่อนค่ะ ว่าเรามันเดินเข้าไปในความเสื่อม...อย่างน้อย ชีวิตเราก็นับถอยหลังกันทั้งนั้น ยิ่งอายุมากขึ้น ชีวิตที่เหลือมันก็ถดถอยลง อย่าได้ประมาทกับการใช้ชีวิตนะคะ แต่เราก็เจริญขึ้นด้วยเหมือนกัน เป็นเด็กๆก็รูปร่างใหญ่โตขึ้น..หน้าตาจากลูกเป็ดขี้เหร่ ก็สวยงามขึ้น หล่อดูดีขึ้น ใช่มั้ยคะ และถ้าเราสนใจในเรื่องที่เกริ่นมาแต่ต้นว่า ศาสนาของเราก็มีโอกาศเสื่อม มีแต่เราเท่านั้น ที่จะช่วยพยุงดูแล ศาสนาเรานี่ 2500 กว่าปีแล้วนะคะ หายไปจากอินเดีย ดินแดนเอเชียกลางแทบหาคนนับถือไม่ได้ จะเหลือมากๆก็ในแถบบ้านเรา ศรีลังกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เมียนม่า ลาว กัมพูชา...สังเกตุบ้างมั้ยคะ ว่า ในอินโดนีเซีย พุทธศาสนาเคยรุ่งเรืองมาก่อน มีศาสนสถานที่ยิ่งใหญ่ให้คนเข้าไปชมคือบรมพุทโธ หรือที่ชาวอินโดนีเซียเรียกว่า บุโรบุดุร์ แต่ว่าเดี๋ยวนี้คงเหลือแค่สถานที่โบราณ ให้ชาวพุทธทั่วโลกไปเที่ยวชม ในขณะที่พระพุทธรูปในเมืองบามิยาน อัฟกานิสถานเหลือแค่ชื่อ



เอาละค่ะ...น่าสงสารศาสนาเรามั้ยคะ แล้วเราจะดูแลอย่างไร ไม่ให้ศาสนาของปู่ย่าตายายของเราศูนย์หายไป เราต้องเข้ามาดู เข้ามาศึกษาความเป็นมาเป็นไปของพระพุทธศาสนาของเรา ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า และปฏิบัติตาม เชื่อมั้ยคะ เดี๋ยวนี้ ฝรั่งที่มีความรู้ ใฝ่รู้เรื่องจิตวิญญาณ เข้ามาศึกษาศาสนาพุทธมากขึ้น เราเห็นพระฝรั่งมากขึ้น วัดไทยในเมืองนอกก็มีมากขึ้น แถมพระฝรั่งเขียนหลักคำสอนของศาสนาพุทธมาสอนเราเสียอีก...อย่าคิดว่าไม่จริงนะคะ ไม่น่าอายหรอกค่ะ ที่ฝรั่งต่างชาติที่เพิ่งเข้ามานับถือศาสนาเขียนให้อ่าน น่าดีใจแทนเขาเสียอีก ที่สนใจ ใส่ใจ จนลึกซึ้งในคำสอน อดใจไว้ไม่ได้ ต้องเขียนบอกคนอื่น เพราะฉนั้น เราต้องสนใจศึกษาพระพุทธศาสนาให้มากขึ้นนะคะ

Posted by ครูพเยาว์ at 10:14 PM

รอบรั้ว Understanding by design " Part II "



ได้นั่งอ่านทบทวนเอกสารการอบรมเกี่ยวกับการสอนแบบ Understanding by design แล้วก็เห็นว่า มันก็น่าสนใจดี หลายๆประเทศได้นำวิธีการสอนแบบนี้ไปใช้ เราเองก็ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการสอนมาเรื่อยๆ หลายวิธี เลิกใช้แบบเก่าๆ ที่เห็นว่ามันโบราณเต็มที...ค่ะ...แบบท่องจำเอย...ท่องบทอาขยาน..ท่องสูตรคูณ..เสียงแจ้วๆเหล่านั้น นับวันจะไม่ค่อยได้ยิน...นัยว่า มันเก่า แต่เชื่อมั้ยคะ ว่าวิธีแบบนี้นี่แหละ ที่คนโบราณของเราใช้นี่แหละ สร้างประเทศขึ้นมาได้ จนทุกวันนี้ อาจไม่ได้ยิงจรวดไปดวงจันทร์กับเขา ไม่ได้สร้างดาวเทียมด้วยฝีมือของเราเอง แต่จะไปโทษการเรียนการสอนแบบนั้นได้อย่างไร มันอยู่ที่แนวความคิดของคนที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ ให้เอาตัวรอด เราเป็นคนไทยอยู่แบบสบายมาตลอดชั่วปู่ย่าตายาย ตั้งแต่บรรพบุรุษก่อสร้างประเทศมา ต้องดิ้นรนมากมั้ยคะรู้สึกเลยค่ะ ว่าไม่ได้ดิ้นรนแบบพวกฝรั่ง หรือญี่ปุ่น ที่ต้องเอาตัวรอดกันสุดชีวิต...อ้าวๆ..ถ้าบางคนบอกว่า แล้วสิงคโปร์ล่ะ อยู่แถบเดียวกับเราเลย ยังเจริญกว่าเราอีก..นี่ก็กะจะสร้างสถานีปล่อยยานอวกาศแล้ว..เขาไปถึงไหนๆแล้ว...น่าสนใจนะคะ..แต่ว่าสิงคโปร์น่ะเขาก็ต้องเอาตัวรอดแบบสุดชีวิตเหมือนกัน..ขนาดน้ำที่จะเอามาดื่มกิน ยังหาไม่ได้ ต้องต่อท่อจากมาเลเซียเข้าไป...อดีตนายกโก๊ะจ๊กตงบอกว่า..เมืองไทยน่ะน่าอิจฉา..มีอะไรๆมาก และเป็นเอกลักษณ์..แค่ชาวต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยว..เขาแค่ยิ้มและยกมือไหว้..แค่นี้..ก็เป็นเงินแล้ว เขามีวัฒนธรรมที่เป็นของตัวเอง แถมยกตัวอย่างคนสิงคโปร์ เมื่อมีชาวต่างประเทศเข้าไปซื้อของ คำถามที่น่าขัน ที่เอามายกตัวอย่างให้ฟังคือ What you want? ท่านว่าอย่างนี้จริงๆ มีชุดประจำชาติที่สวยงาม ในขณะที่สิงคโปร์ไม่มี..น่าภูมิใจนะคะ แต่..ที่จริงมันไม่น่ามีแต่เลย ถ้าเราพอใจอยู่แค่นี้ ตามความเป็นจริงเราอยู่อย่างนี้ไม่ได้ ถ้าเราอยากตามโลกให้ทัน ซึ่งก็จะดีหรือไม่ดี มันอยู่ที่แนวคิดของแต่ละคนล่ะค่ะ มีความอยู่แบบชาวพุทธ ไม่หวังอะไรมากมาย ไม่สะสม อยู่อย่างพอเพียง เราก็อยู่ได้ แถมไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติด้วย...อย่างนี้ก็น่าอยู่ เอาละค่ะ ถึงอย่างไรเราก็จะปล่อยให้อนาคตของเด็กเราเดินตามหลังคนอื่นไม่ได้ เด็กของเราต้องดี ต้องเก่งกว่านี้ ถึงมีวิธีการสอนแบบใหม่อีก ทีนี้ เมื่ออ่านไปๆ ก็ได้เห็นว่า ถ้าเราทำสำเร็จ ผลสัมฤทธิ์ของวิธีสอนแบบนี้ออกมาอย่างไร อย่างเมื่ออ่านเรื่อง ความเข้าใจที่คงทน ต่อไปจนถึง Backward design เขาบอกว่าถ้าเราตั้งคำถามแบบเปิดกว้าง คำตอบที่ได้จากเด็กในแง่มุมต่างๆนั้น มันครอบคลุมไปหมด มันมีแต่วิธีเท่านั้น ที่เราจะทำอย่างไร ให้เด็กเข้าร่วมอย่างสนุกสนาน เรียนอย่างสนุก
เมื่อมาถึงจุดนี้ มันทำให้นึกถึงรายการทีวีเกมส์โชว์ที่มีคนติดตามมาก ถ้าสมัยก่อนโน้น ก่อนที่ใครบางคนแถวนี้จะเกิดเสียอีก มีรายการ 20 คำถาม ของพันเอก การุณ เก่งระดมยิง รายการนี้มีคนเฝ้าดูมากค่ะ ลุ้นตอบไปด้วยกับจอทีวี คำถามจะงวดเข้างวดเข้า จนถึงหมด 20 คำถาม ถึงจะเฉลยว่าเป็นอะไร นั่นคือผู้เล่นเป็นคนตั้งคำถามเอง ซึ่งก็เหมือนเด็กนักเรียนนั่นแหละที่ตั้งคำถาม จนจบ รายการอย่างนี้ไม่ได้หายไปไหน ไม่ได้ตายตามผู้พันเลยค่ะ กลับเกิดรายการที่มีคำถามให้เลือกคำตอบ คนชอบมาก..จนถึงพูดตามกันได้ เช่น ถูก..ต้อง..แล้ว..คร้าบ...เด็กๆคงเคยนั่งตอบคำถามไปด้วย แต่ที่ชอบมากที่สุดในรายการอย่างนี้คือ “แฟนพันธุ์แท้” เมื่อมาอ่านการสอนแบบ Understanding by design แล้ว ก็อดคิดไม่ได้ว่า เราอาจมีลูกศิษย์ที่ตอบคำถามแบบแฟนพันธุ์แท้เกิดขึ้นหลายคน เพราะบทสรุปของการสอนแบบใหม่นี้ มุ่งไปในทางนั้น ทุกแง่มุมค่ะ ลองฟังคำถามตัวอย่างดูนะคะ นี่ไม่ใช่ยกมาเอง แต่คัดลอกมาจากฝรั่งค่ะ ต้นแบบนั่นแหละ ว่าเด็กต้องตอบแง่ไหนบ้าง

คำถาม// อะไร คือ ความเกี่ยวเนื่องกันระหว่าง”ความขัดแย้ง”และ”การเปลี่ยนแปลง”
ไม่น่าเชื่อว่าเขายกตัวอย่างแบบนี้มาถาม ซึ่งเป็นคำถามที่เปิดกว้างเอามากๆ เอาละค่ะ ว่าเขา”หวัง”กับคำตอบอย่างไร

ให้อธิบาย// ความขัดแย้งนำไปสู่ผลการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร?

ให้แปลความหมาย/ตีความ// ความขัดแย้งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจและปฏิบัติการของคนได้อย่างไร?

ให้ประยุกต์ใช้// มียุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาการขัดแย้งและการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร?

เจตคติ มุมมอง// มีผลต่อแนวความคิดของคนได้อย่างไรในการต่อรองของความขัดแย้ง หรือ การเปลี่ยนแปลง?

ต่อจิตพิสัย// มีความรู้สึกอย่างไร ถ้าต้องอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งที่เข้ามากระทบวิถีชีวิต?

ต่อการเรียนรู้// ต้องใช้คุณสมบัติเฉพาะตัวอะไรที่จะช่วยต่อรองกับความขัดแย้งและการเปลี่ยนแปลง?

มันเหมือนกับเหตุการณ์บ้านเราเหลือเกินนะคะ แต่นั่นอาจไม่ใช่ของเด็กประถมก็ได้ ซึ่งถ้าของเด็กก่อนวัยเรียน เขาจะพูดเรื่องผีเสื้อ...ครูก็จะนำเด็กเข้ามาสู่เรื่องผีเสื้อ...อย่างโน้นอย่างนี้..ล่อจนเด็กเข้าใจจนได้..นี่ก็สนุกไปอีกอย่าง
จะอย่างไรก็ตามค่ะ สรุปว่าจะเอาวิธีสอนแบบไหนๆมา ก็ยังอยู่ที่ครูนี่แหละ จะสอนอย่างไร ให้เด็กสนุกตามเรื่อง และเข้าใจถ่องแท้ได้


Posted by ครูพเยาว์ at 10:13 PM

รอบรั้ว Understanding by design


ช่วงนี้เห็นคุณครูกำลังอบรมเรื่องการสอนอยู่ บอกว่าแนวใหม่ ที่ฝรั่งชาวอเมริกันได้แนะนำเข้ามา ที่จริงขยายแนวการสอนนี้ไปทั่วโลก เขียนหนังสือขาย โกยเงินไปเยอะแล้ว เรียกการสอนนี้ว่า “Understanding by design” แปลง่ายๆ ว่าออกแบบการสอนให้เด็กเข้าใจ หรือ การเข้าอกเข้าใจโดยการออกแบบของครู อะไรทำนองนี้แหละ ครูนักการศึกษาฝรั่งสองคนนั่น ก็ต้องออกชื่อให้เป็นเกียรติแก่ท่านก่อนคือ Grant Wiggins และ Jay McTighe

เอาละค่ะ...เข้ามาสู่เรื่องที่ว่านี่เลย ก่อนอื่น ก็ต้องเข้ามาสู่ คำจำกัดความแบบไทยๆ ที่ต้องแปลความหมายกัน ตีความกัน...นักการเมืองเขาชอบนะคะ...ตีความ อะไรคือความเข้าใจ และมันต่างกันอย่างไรกับการแค่รับรู้ แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่า เด็กๆลูกศิษย์ของเรานั่นเข้าใจอย่างถ่องแท้ และเขาจะนำความรู้ที่ได้เหล่านั้นไปประยุกต์ใช้ให้มันเป็นประโยชน์ที่ถูกทางแก่ตัวเขาได้อย่างไร เราจะออกแบบบทเรียนอย่างไรที่จะทำให้เด็กได้รู้เรื่อง และเข้าใจ โดยไม่รู้ตัวว่านี่กำลังเรียนอยู่ในบทเรียนนะ คำถามเบื้องต้นเหล่านี้ มีคำตอบอยู่แล้วในหนังสือคู่มือ ที่คณะอบรมครูเอามาแจกให้...แต่ที่จะพูดต่อก็คือ ในคู่มือนั้นเขาจะบอกอะไรบ้าง โดยย่อ และพื้นๆว่า พื้นฐานของการสอนแบบนี้ (Understanding by design นี่แหละ) มาจากทฤษฎีการเข้าใจมาจากฐานของการเข้าใจใน 6 แง่มุม หรือแนวทาง หรือเหลี่ยม แล้วแต่จะเลือกเอา อดใจไว้นิดเถอะค่ะ จะนำมาพูดทีหลัง ในหนังสือคู่มือนี้ จะให้แนวทางที่นำไปปฏิบัติได้ มีอะไรบ้าง อย่างเช่น บทเรียนที่เป็นแม่แบบไว้แล้ว, ใบความรู้, แบบฝึกหัด, อุปกรณ์สื่อการสอน, มาตรฐานของบทเรียนรวมกับบททดสอบ และการทบทวนขั้นตอนการเรียนรู้และการนำมาประยุกต์กับแนวความคิดต่างๆในการเรียนรู้แบบนี้ ตามมาด้วยตรรกะของท่านอาจารย์ทั้งสองคนนั่น ที่นำแนวความคิดว่าการสอนแบบย้อนกลับ..ย้อนไปหาจุดเดิม จะพูดไทยว่าอย่างไรดีคะ..ภาษาอังกฤษบอกว่า backward design approach ในหนังสือคู่มือบอกวิธีที่จะวางแผนแนวหลักสูตร, บทเรียน และแนวทางการสอน หนังสือคู่มือนี้ ได้พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยช่วยเหลือครูที่สนใจในการออกแบบบทเรียนในวิชาต่างๆให้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาการเข้าใจในบทเรียนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น อีกอย่างหนึ่งที่ทำบทเรียนแบบนี้ขึ้นก็เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่เด็กในชั้นเรียนต่างๆกัน ไม่ว่าใครก็จะได้มีประโยชน์จากแหล่งเรียนรู้นี้


เมื่อมาถึงจุดนี้ อยากจะเพิ่มเติมให้อีกนิด...ในการสอนแบบนี้ เราที่เป็นชาวพุทธ ควรที่จะได้รับทราบมาบ้างแล้วว่า องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น ได้มีวิธีที่จะโปรดสั่งสอนเราก็ด้วยวิธีที่ไม่แตกต่างกัน นั่นคือ บทที่ว่าด้วยอิทัปปัจยตา..ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมาแต่เหตุ..เกิดสิ่งนี้ขึ้นมาได้ เพราะมันมีปัจจัยอย่างนี้ส่งเสริมให้เกิด สองพันกว่าปีแล้ว ที่ชาวพุทธรับรู้กันมา ท่านพุทธทาส ก็ได้นำคำสอนนี้ไปเทศนา แพร่หลายไปทั่วโลก ขอเรียนถามท่านทั้งหลายว่า ทำไมเราไม่เอาคำสอนนี้มาเป็นหลักในการสอนของเราคะ ไม่เป็นไรค่ะ แค่ขอออกความเห็นสักนิด ก็อดคิดไม่ได้ว่า ทุกอย่างมันเกิดแต่เหตุ เราก็เข้าไปดูเหตุอันนั้น มันก็จะเข้าใจเรื่องทั้งหมดได้ ไม่ต้องสาธุนะคะ จบเรื่องนี้แค่นี้ละค่ะ
ที่นี้ จะนำเข้าไปสู่คำถามหัวใจหลักของการสอนแบบนี้ อะไรคือ Understanding by design ในหนังสือคู่มือของครูไทยเรายังไม่แปลคำนี้ออกมาเลยนะคะ ทับศัพท์เต็มๆตัวไปเลยค่ะ UbD คือโครงร่างแนวทางที่จะปรับปรุงพัฒนาให้เด็กประสบความสำเร็จในการเรียนรู้โดยเน้นไปที่บทบาทหน้าที่ของครูที่จะออกแบบการเรียนการสอนให้ โดยอาศัยหลักพื้นฐานมาจากหลักสูตรส่วนกลาง ที่จะช่วยทำให้ครูมีความเข้าใจอย่างชัดเจนถึงจุดประสงค์ของบทเรียนหรือเป้าหมาย, กลไกที่แสดงให้เห็นว่าเด็กมีความรู้จริง ประเมินได้, ให้เด็กมีความเชี่ยวชาญ และเอาใจใส่ในการเรียนมากขึ้น นั่นคือเป้าหมายขั้นพื้นฐานที่อยากให้เด็กได้มีการพัฒนา มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เมื่อสอนได้เช่นนี้ เด็กๆจะได้แสดงออกให้เห็นเมื่อเขาต้องไปเจอกับเรื่องที่ซับซ้อน เหตุการณ์จริงๆที่เด็กเหล่านั้นจะได้ อธิบายเรื่องราวต่างๆ, เข้าใจความหมายของแต่ละเรื่อง แต่ละเหตุการณืได้, รู้จักนำเอาสิ่งเหล่านั้นเข้ามาใช้หรือประยุกต์ใช้กับตัวเขา, ได้เห็นมุมมองให้กว้างไกลขึ้น แง่มุมที่แตกต่างก็ได้รับรู้ด้วย, มองทะลุในเรื่องต่างๆที่จะเกิดขึ้น มีการรับรู้ เดาเหตุการณ์ต่างได้ โดยไม่ต้องเข้าไปเจอจริงๆ และก็เข้าใจในเรื่องต่างๆมากขึ้น...ถ้าเรามีเด็กแบบนี้จริงๆ ก็น่าดีใจกับอนาคตของประเทศเราได้เลยนะคะ ต้องพร้อมใจกันช่วยทำให้ได้ค่ะ....สู้กันให้เต็มที่เลยค่ะ อันที่จริงได้เอาแง่มุมหลัก 6 ข้อ มาพูดแล้วนะคะ...แต่ยังไม่ได้บอกค่ะว่าอยู่ตรงไหน...นี่ก็พยายามเต็มที่นะคะว่าไม่ให้มันเหมือนกับนั่งเลคเช่อร์ค่ะ
ดูๆจากหนังสือที่คณะอบรมเอามาแจก มีหลายหน้าอยู่นะคะ ยังอ่านไม่หมดค่ะ นี่รับตรงๆเลย แต่จะหาเวลามานั่งอ่านดูสักวัน แต่วันนี้อยากพูดเรื่อง ความหมายของคำบางคำที่น่าสนใจในเรื่องนี้เป็นเบื้องต้นไว้ก่อน ปูพื้นเอาไว้ เผื่อวันหน้าวันหลัง มีโอกาศเขียนอีกจะได้เข้าใจร่วมกัน แต่ขอออกตัวไว้ก่อนนะคะ ขอแค่ว่ามีความเข้าใจอย่างนี้ ในตอนนี้ วันหลังเผื่อว่าท่านผู้รู้(จริงๆ) เขียนว่าอย่างไร จะได้เดินตามหลังท่านได้
คำแรก คือ Theme(s) นี่คือหัวข้อเรื่อง หัวข้อสำคัญ แก่นของเรื่อง ให้มันเข้าใจกันอยู่ในแนวนี้นะคะ เอาละ สมมุติว่าคุณเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ มีบ้างมั้ย หรือบ่อยมั้ย ที่เราออกแบบบทเรียนของเราโดยอาศัยเรื่องราวต่างๆจากบทเรียนที่เราสอนอยู่ ตามความจริงแล้วพื้นฐานของมันก็มาจากภาษาที่มาจากคำพูดของเรานั่นเอง อย่างเช่น
“I’m in the middle of my Huck Finn unit right now; what are you doing?” “I just started my unit on The Things They Carried, by Tim O’Brien.” ในการสอนแบบ Backward design จะยกระดับในการคิดเกี่ยวกับแก่นแท้ของเนื้อหาในภาษามากกว่าคำพูดในบทเรียนซึ่งจะต่างกันหรือตรงกันข้ามกันเลยทีเดียว มันเป็นการเปิดทางกว้างขึ้นในการสอนที่จะนำบทเรียนไปสู่เนื้อหาที่แบบมีทางเดียวโดดๆ มาเป็นแบบหลายทางขึ้นมา หรือที่ฝรั่งบอกว่า multi-genre approach เราก็จะนำบทเรียนนั้น คำพูดนั้นไปสู่แนวความคิดที่ต่างกันออกไป โดยให้มันอาศัยความสัมพันธ์แนวแก่นคำถามอันเดิมเอาไว้ นี่ก็เป็นความจำเป็นที่เรายังต้องเน้นเรื่องสำคัญไปที่ “ความคิดหลักๆและคำถามที่ต่างๆออกไป” ซึ่งก็จะนำให้นักเรียนเข้าสู่บทเรียนแบบสนุกสนาน และทำให้เขาเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงบทประพันธ์และการใช้ภาษา ดังนั้นเราก็อาจเปลี่ยนบทสนทนาให้เป็นในเรื่อง “I’m in the middle of a unit on Social Justice; what are you doing?” “I’m just starting a unit exploring the complexities of War”
ในความจริง ไม่ว่าที่ไหนในโลก โรงเรียนมักมีอุปสรรคในเรื่องงบประมาณที่นำเอาอุดหนุนเรื่องหนังสือซื้อเอามาใส่เพิ่มในห้องสมุด ครูเองก็ต้องอาศัยหนังสือที่มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ยนี่แหละมาประยุกต์ใช้ ซึ่งถ้านำเอามาสอนแล้วก็ไม่ได้ทำให้การสอนแบบนี้ลดคุณค่าลงไปได้เลย...ฟังดูเหมือนโม้เลยนะคะ อีกอย่างหนึ่งถ้านำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาสอนแล้ว หนังสือยังใช้เล่มเดิมอยู่เลยค่ะ พระไตรปิฎก ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย นำมาสอนได้ อย่างหนังสือของท่านพุทธทาส เรื่อง “คู่มือมนุษย์” เก็บไว้จนลูกชายต้องก้มหัวให้เวลาเดินผ่าน เพราะหนังสืออายุมากกว่า ที่จริงก็แก่กว่าครูหลายๆคน เพราะท่านสอนสมัยเราเพิ่งเกิด หรือยังไม่เป็นตัวเป็นตนเลย...อ้าวหลงไปอีกแล้ว

Posted by ครูพเยาว์ at 10:11 PM