Daisypath Anniversary tickers

รอบรั้ว วิทยาศาสตร์ ปัญหาการใช้ดิน และการบำรุงรักษาดิน

Thursday, February 7, 2008


ปัญหาการใช้ทรัพยากรดิน ดินส่วนใหญ่ถูกทำลายให้สูญเสียความอุดมสมบูรณ์ หรือตัวเนื้อดินไปเนื่องจากการกระทำของมนุษย์ และการสูญเสียตามธรรมชาติทำให้เราไม่อาจใช้ประโยชน์จากดินได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ การสูญเสียดินเกิดได้จาก

1. การกัดเซาะและพังทลายโดยน้ำ น้ำจำนวนมากที่กระทบผิวดินโดยตรงจะกัดเซาะผิวดิน ให้หลุดลอยไปตามน้ำ การสูญเสียบริเวณผิวดินจะเป็นพื้นที่กว้าง หรือถูกกัดเซาะเป็นร่องเล็ก ๆ ก็ขึ้นอยู่กับความแรง และบริเวณของน้ำที่ไหลบ่าลงมาก

2. การตัดไม้ทำลายป่า การเผาป่า ถางป่าทำให้หน้าดินเปิด และถูกชะล้างได้ง่ายโดยน้ำและลมเมื่อฝนตกลงมา น้ำก็ชะล้างเอาหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ไปกับน้ำ ทำให้ดินมีคุณภาพเสื่อมลง
3. การเพาะปลูกและเตรียมดินอย่างไม่ถูกวิธี การเตรียมที่ดินทำการเพาะปลูกนั้นถ้าไม่ถูกวิธีก็จะก่อความเสียหายกับดินได้มากตัวอย่างเช่น การไถพรวนขณะดินแห้งทำให้หน้าดินที่สมบูรณ์หลุดลอยไปกับลมได้ หรือการปลูกพืชบางชนิดจะทำให้ดินเสื่อมเร็ว การเผาป่าไม้ หรือตอข้าวในนา จะทำให้ฮิวมัสในดินเสื่อมสลายเกิดผลเสียกับดินมาก ดินที่เป็นกรด เกษตรกรแก้ไขได้โดยการใช้ปูนขาวหว่าน และไถพรวนให้เข้ากับดิน


การอนุรักษ์ดิน ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพังทลายหรือการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของหน้าดินนั้น จะทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ติดตามมา เช่น ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ทำให้เกษตรกรต้องซื้อปุ๋ยเคมีมาบำรุงดินเสียค่าใช้จ่ายมหาศาล ตะกอนดินที่ถูกชะล้างทำให้แม่น้ำและปากแม่น้ำตื้นเขิน ต้องขุดลอกใช้เงินเป็นจำนวนมาก เราจึงควรป้องกันไม่ให้ดินพังทลายหรือเสื่อมโทรมซึ่งสามารถกระทำได้ด้วยการอนุรักษ์ดิน

1. การใช้ที่ดินอย่างถูกต้องเหมาะสม การปลูกพืชควรต้องคำนึงถึงชนิดของพืชที่เหมาะสมกับคุณสมบัติของดิน การปลูกพืชและการไถพรวนตามแนวระดับเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน นอกจากนี้ควรจะสงวนรักษาที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ไว้ใช้ในกิจการอื่น ๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย เพราะที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์และเหมาะสมในการเพาะปลูกมีอยู่จำนวนน้อย

2. การปรับปรุงบำรุงดิน การเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดิน เช่น การใส่ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยคอก การปลูกพืชตระกูลถั่ว การใส่ปูนขาวในดินที่เป็นกรด การแก้ไขพื้นที่ดินเค็มด้วยการระบายน้ำเข้าที่ดิน เป็นต้น

3. การป้องกันการเสื่อมโทรมของดิน ได้แก่ การปลูกพืชคลุมดิน การปลูกพืชหมุนเวียน การปลูกพืชบังลม การไถพรวนตามแนวระดับ การทำคันดินป้องกันการไหลชะล้างหน้าดิน รวมทั้งการไม่เผาป่าหรือการทำไร่เลื่อนลอย ถ้าผิวดินไม่มีพืชคลุมเมื่อฝนตกน้ำฝนก็จะชะเอาผิวดินที่อุดมสมบูรณ์ให้ไหลไปตามน้ำโดยเร็ว วิธีป้องกันจึงต้องให้มีพืชคลุมดินไว้เสมอ การทำสวนบนเนินหรือไหล่เขาที่มีความลาดเอียง หากไถเป็นร่องจากที่สูงลงไปต่ำแล้วฝนตก จะชะล้างผิวดินลงไปยังที่ต่ำได้เร็วมาก ดินจะเสื่อมความอุดมสมบูรณ์อย่างรวดเร็วด้วย หากจะทำการเพาะปลูกบนเนิน หรือไหล่เขา ก็ควรเลือกวิธีอนุรักษ์ดิน เช่น

ก. การปลูกพืชตามแนวระดับ ใช้วิธีการไถพรวน หว่าน ปลูก และเก็บเกี่ยวพืชขนานไปตามแนวระดับเดียวกัน ขวางความลาดเอียงของพื้นที่

ข. การปลูกพืชแบบขั้นบันได ใช้วิธีการสร้างคันดินหรือแนวหินขวางความลาดเอียงของพื้นที่ แล้วปลูกพืชบนขั้นบันได วิธีการดังกล่าวจะชะลอการชะล้างพังทลายของดิน เริ่มตั้งแต่การลดความรุนแรงของเม็ดฝนที่ตกลงมากระแทกกับผิวดิน การควบคุมน้ำไหลบ่าทั้งปริมาณและความเร็วและการเพิ่มความต้านทานของดินมิให้แตกตัวได้เร็ว แม้ว่าการปลูก พืชจะเป็นการช่วยอนุรักษ์ดินวิธีหนึ่งแต่การปลูกพืชชนิดเดียวซ้ำซากอยู่ในที่เดิมตลอดเวลาจะทำให้ดินจืดขาดธาตุอาหาร จึงจำเป็นต้องปลูกพืชหมุนเวียนและเพิ่มสารอินทรีย์ในดินอาจกระทำได้โดยใช้ปุ๋ยพืชสด ใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก ซึ่งปุ๋ยอินทรีย์เหล่านี้จะช่วยให้ดินมีความสามารถอุ้มน้ำ ดีขึ้น อากาศแทรกซึมได้สะดวกและลดอัตราการสูญเสียหน้าดิน แต่การใช้ปุ๋ยนั้นก็ต้องใช้ให้พอเหมาะมิฉะนั้นพืชจะไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่ เนื่องจากการเกิดดินโดยกระบวนการตามธรรมชาติต้องใช้เวลานานมาก ไม่ทันความต้องการใช้ดินที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับดินบางส่วนถูกชะล้างพังทลายไป
ค. การปลูกหญ้าแฝก โครงการนี้เป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ควรอย่างยิ่งที่เราทั้งหลายจะต้องทำตาม เพราะนั่นเป็นการช่วยปรับโครงสร้างของดินที่เสื่อมโทรม ช่วยรักษาความชุ่มชื้นของดิน และในกรณีที่เป็นแนวลาดชัน หญ้าแฝกจะเป็นแนวกั้นไม่ให้ถูกน้ำชะล้างจนเกิดการพังทลาย
ง. การจัดทางระบายน้ำ เป็นการช่วยระบายน้ำ ไม่ให้เกิดภาวะน้ำขังจนดินรับน้ำไม่ไหว และเกิดการพังทลาย

Posted by ครูพเยาว์ at 8:01 PM