Daisypath Anniversary tickers

รอบรั้ว พุทธศาสนา วิธีฝึกสมาธิในชีวิตประจำวัน

Saturday, February 9, 2008


บางครั้งเราไปที่วัด เราจะเห็นพระ เห็นเณร เราจะสังเกตว่าในแต่ละวัดที่เราไป ลักษณะ กริยา ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าการเดิน การพูด บางวัดท่านสำรวมเอามาก สังเกตได้ทันทีจากลักษณะการเดิน แต่บางวัด ท่านเดินเหมือนกับเราๆท่านๆ หันมองดูนั่นดูนี่ไปตลอดทาง ไม่ค่อยสำรวม เห็นมั้ยคะ ว่าการสังเกตของเรานั้น จะมองดูคนออกว่า นิสัยเป็นอย่างไร ฝึกมาอย่างไร หรือไม่ได้ฝึกมา


หลังจากสังเกตดูพระแล้ว เราลองหันมารอบๆตัวเรา สังเกตคนที่อยู่รอบๆข้างเราดู ว่าเป็นอย่างไร คนนี้เป็นใคร อาชีพอะไร เราพอรู้แล้วเขาเป็นอย่างไร ถ้าเขาเป็นนักเรียน ลักษณะที่ดีของนักเรียนเป็นอย่างไร มีระเบียบวินัยไหม เราสังเกตได้ใช่หรือเปล่าคะ เช่นการแต่งกาย เอาชายเสื้อใส่ไปกางเกงมั้ย หรือชายเสื้อลอยอยู่ด้านนอก นี่ ดูออกแล้ว ว่าเขาเป็นอย่างไร การพูดจา ก็ดูออกอีก ว่านิสัยเป็นอย่างไร ถ้าลูกๆโตขึ้น ก็จะดูคนในสังคมได้กว้างขึ้น เช่น ครูคนนี้เป็นอย่างไร ตำรวจอย่างนี้เป็นอย่างไร นักการเมืองพรรคนี้เป็นอย่างไร ทำไมเขาถึงกังวลกับฝ่ายค้าน ทำไมเขาไม่อยากให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เขากลัวอะไร อย่างนี้เป็นต้น


ทีนี้เรามาเข้าเรื่อง "วิธีฝึกสมาธิในชีวิตประจำวัน" ค่ะ ว่าทำอย่างไร อย่างหนึ่งที่จะเป็นของแถมให้กับเราอย่างวิเศษก็คือ เราจะดูเป็นคนเยือกเย็น ใจเย็น ใครพบเห็นก็สบายอกสบายใจค่ะ เพราะเราจะดูสบายตาสำหรับคนที่มาเห็นเรา เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งค่ะสำหรับคนที่สำรวมกาย วาจา ใจ สำรวมสติ


1. การฝึกสมาธิโดยการยืน การเดิน การนั่ง และการนอนอย่างมีสติ

การยืน ควรยืนด้วยอาการสำรวม ยืนตัวตรง ก้มหน้าพองาม

การเดิน ควรเดินด้วยอาการสำรวม มีสติ ขณะก้าวเดินก็กำหนดรู้ตามอาการเดิน

การนั่ง ควรนั่งด้วยอาการสำรวม มีสติไม่วอกแวก กำหนดสติให้สงบนิ่งอยู่กับปัจจุบัน ถ้าเป็นการนั่งเพื่อทำการฝึกสมาธิโดยตรงก็ปฏิบัติตามวิธีการฝึกสมาธิ

การนอน ให้นอนตะแคงข้างขวา กำหนดจิตให้มีสมาธิ และมีสติระลึกอยู่เสมอ หรือจะนอนกำหนดลมหายใจเข้า - ออก โดยภาวนาว่าพุท - โธ


2. วิธีฝึกสมาธิโดยกำหนดความรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (อายตนะภายใน 6 )

ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เราจะต้องรับรู้อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่เราสัมผัสได้ทางตาคือมองเห็น ทางหูคือการได้ยิน ทางจมูกคือการดมกลิ่น ทางลิ้นคือการลิ้มรสและทางกายคือการได้สัมผัส ทางใจคือการรับร้อารมณ์ความร้สึกต่างๆเช่น ชอบ หรือไม่ชอบ สิ่งเหล่านี้มีทั้งดีและไม่ดี ดังนั้นเราควรฝึกจิตของเราให้มีสติ กำหนดให้รู้ว่าสิ่งไหนดีหรือไม่ดี สิ่งไหนควรทำหรือไม่ควรทำ

เมื่อนักเรียนมีสติอยู่กับตัว ก็ควรดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท ระมัดระวังรอบคอบ ตั้งมั่นอยู่ในความดีเสมอ


3. วิธีฝึกสมาธิในการฟัง อ่าน คิด ถาม และเขียน


1. การฟัง ฟังด้วยใจจดจ่อและความสนใจ จับใจความว่าผู้พูดพูดเรื่องอะไรมีประโยชน์อย่างไร


2. การอ่าน กำหนดสติว่าเรากำลังอ่านเรื่องเกี่ยวกับอะไรมีสาระสำคัญอะไรบ้าง


3. การคิด เมื่อฟังหรืออ่านแล้วต้องคิดพิจารณาตามอย่างมีเหตุผล


4. การถาม เมื่อฟังหรืออ่านเกิดความสงสัย ควรถามครูหรือผู้ที่มีความรู้เพื่อความกระจ่าง


5. การเขียน เขียนด้วยความรอบคอบ มีสมาธิจดจ่อ เพื่อบันทึกความรู้ที่ถูกต้องตามสิ่งที่ได้ฟัง ได้อ่าน ได้คิดหรือถามมา


ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น จะเห็นว่าถ้าใครปฏิบัติได้ ก็จะมีชีวิตที่เจริญก้าวหน้าไปทุกทางเลยค่ะ ไม่ว่าในด้านใด ลูกๆต้องฝึกปฏิบัตินะคะ เพราะว่า การฝึกจิตให้มีสติ - สัมปชัญญะและให้มีสมาธินั้น จะทำให้จิตใจผ่องใสและร่างกายสดชื่น ไม่มีความเครียด ดำเนินชีวิตด้วยความหนักแน่น อยู่ในความดีเสมอ ถ้าจิตของเราเป็นสมาธิแล้วจะคิดอ่านหรือศึกษาอะไรก็ทำได้ทะลุปรุโปร่งทำให้เกิดปัญญา ประสบผลสำเร็จในชีวิตอยู่เสมอ

Posted by ครูพเยาว์ at 12:25 PM