Daisypath Anniversary tickers

รอบรั้ว วิทยาศาสตร์ ระบบสุริยะ

Sunday, February 3, 2008


ก่อนที่จะพูดถึงระบบสุริยะ ก็อยากให้ดูข่าว ในหน้าหนังสือพิมพ์ก่อนว่าเขาพูดถึงดาวพลูโตว่าอย่างไร ในเช้าวันที่ 25 สิงหาคม 2549

นักดาราศาสตร์ชั้นนำของโลกพร้อมใจกันปลดดาวพระยม หรือ ดาวพลูโต ออกจากดาวนพเคราะห์ของสุริยะจักรวาลแล้ว จำนวนดาวนพเคราะห์ในระบบสุริยะจักรวาลจาก 9 ดวงเหลือเพียง8 ดวง


ที่ประชุมนักดาราศาสตร์ ของสหภาพนักดาราศาสตร์นานาชาติ หรือ The International Astronomical Union's (IAU)
ประมาณ 2,500 คน ซึ่งร่วมประชุมกันที่กรุง ปร๊าก สาธารณรัฐเช็ก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ได้มีมติถอนดาวพลูโต ออกจากการเป็นดาวบริวารของดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะ

โดยอ้างว่า ดาวพลูโต ไม่ได้มีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์เหมือนกับดาวเคราะห์บริวารอื่นๆ และเตรียมจัดฐานะให้ดาวพลูโต เป็นเพียงดาวเคราะห์แคระ ส่งผลให้ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ ที่ยอมรับโดยนักดาราศาสตร์นานาชาติ เหลือเพียง 8 ดวงเท่านั้น และจะส่งผลต่อแบบเรียนและฐานข้อมูลทางวิชาการ ที่ยอมรับกันมาโดยตลอดว่า ดาวพลูโต เป็นดาวเคราะห์บริวารดวงที่ 9 ในระบบสุริยะจักรวาล ทั้งนี้ ดาวพลูโต ถูกค้นพบโดย Clyde Tombaugh ชาวสหรัฐ เมื่อปี 1930 (ข่าว INN)

ซึ่งนั่นก็คือ ดาวพลูโตถูกปลด (demotion) จากระบบสุริยะ ในวันที่ 24 สิงหาคม 2549ค่ะ

ทีนี้เราก็เข้ามาสู่บทเรียนของเราต่อค่ะ แต่ก่อนเข้าบทเรียนเราจะมาให้ความสำคัญต่อดาวอีกดวงหนึ่ง ซึ่งมีความโดดเด่นขึ้น เมื่อดาวพลูโตออกจากระบบไปแล้ว นั่นคือดาวพุธค่ะิ ดาวพุธก็กลายเป็นน้องเล็กที่สุดในระบบสุริยะ เป็นดาวที่เล็กที่สุด

ระบบสุริยะ คือ ระบบของดวงดาวที่อยู่ในกาแลกซีทางช้างเผือก ซึ่งเป็นกาแลกซีหนึ่งในจักรวาล ระบบสุริยะประกอบด้วยดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง มีดาวเคราะห์ 8 ดวงเป็นบริวาร รวมทั้งดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง และอุกาบาต ซึ่งดาวเคราะห์ทั้ง 8 ดวงนี้มีตำแหน่ง เรียงตามลำดับจากดวงอาทิตย์ ดังนี้
1. ดาวพุธ 2. ดาวศุกร์ 3. โลก 4. ดาวอังคาร 5. ดาวพฤหัสบดี 6. ดาวเสาร์ 7. ดาวยูเรนัส
8. ดาวเนปจูน

ทีนี้ มาทำความรู้จักดาวแต่ละดวงว่าเป็นอย่างไร คือดวงอาทิตย์และดาวบริวาร


ดวงอาทิตย์ เป็นดาวฤกษ์ดวงหนึ่งมีขนาดใหญ่มาก ให้พลังงานแสงสว่างและความร้อนแก่ดาวบริวาร มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1,392,000 กิโลเมตร หมุนรอบตัวเอง 1 รอบ ใช้เวลา 25-35 วัน


ดาวพุธ เป็นดาวเคราะห์ ที่เล็กที่สุดในระบบสุริยะ และอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ทำให้มีอุณหภูมิสูงมาก ประมาณ 400 องศาเซลเซียส แต่อีกด้านหนึ่งมีอุณหภูมิต่ำมาก ดาวพุธโคจรรอบดวงอาทิตย์ ใช้เวลา 88 วัน และหมุนรอบตัวเองใช้เวลา 59 วันเมื่อใช้เวลาเกือบเท่ากัน จึงทำให้ด้านหนึ่งที่หันเข้าหาดวงอาทิตย์ร้อนมาก แต่อีกข้างหนึ่งเย็นจัด จากการที่อุณหภูมิแตกต่างกันมาก ทำให้เราเรียกดาวพุธว่า "เตาไฟแช่แข็ง" เราสามารถมองเห็นดาวพุธได้ด้วยตาเปล่าในตอนเช้าก่อนที่ ดวงอาทิตย์ขึ้นครึ่งชั่วโมง และหลังจากที่ดวงอาทิตย์ตกครึ่งชั่วโมงเท่านั้น


ดาวศุกร์ เป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใกล้เคียงกับโลก อยู่ห่างดวงอาทิตย์เป็นอันดับที่ 2 จากการสำรวจโดยยานอวกาศ พบว่ามีพื้นผิวแห้งแล้ง มีบรรยากาศหนาแน่น เป็น 100 เท่าของโลก ก๊าซส่วนใหญ่ เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด และไอของกรดกำมะถัน ไม่มีออกซิเจนและไอน้ำ อุณหภูมิสูง เกือบ 500 องศาเซลเซียส จึงเชื่อได้ว่าไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ เราสามารถมองเห็นดาวศุกร์ได้ ตอนเช้ามืด ก่อนสว่าง 3 ชั่วโมง ที่เราเรียกว่า "ดาวประจำเมือง"


โลก เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มาเป็นอันดับที่ 3 มีดวงจันทร์เป็นบริวาร 1 ดวง โลกมีสภาวะเหมาะสม ที่สามารถก่อกำเนิดและดำรงชีพของสิ่งมีชีวิต โลกหมุนรอบตัวเอง ใช้เวลา 23.56 ชั่วโมง หรือ 1 วัน และโคจรดวงอาทิตย์เป็นวงรีใช้เวลา ใช้เวลา 365 1/4 วัน หรือ 1 ปี


ดาวอังคาร จากการสำรวจโดยยานไวกิ้ง 1 และ 2 ของสหรัฐอเมริกาพบว่า ดาวอังคารมีลักษณะพื้นผิว สีแดง เต็มไปด้วยก้อนหิน มีหุบเหวลึกกว้างใหญ่ ไม่พบร่องรอยของสิ่งมีชีวิต มีดวงจันทร์เป็นบริวาร 2 ดวง คือ โฟบอส และ ไดมอส ซึ่งถูกค้นพบโดย เอแสฟ ฮอล ในปี พ.ศ. 2420


ดาวพฤหัสบดี เป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีดวงจันทร์เป็นบริวาร 28 ดวง อยู่ห่างดวงอาทิตย์เป็นอันดับ 5 เป็นดาวที่มีความหนาแน่นน้อย เพราะเป็นดาวเคาระห์ก๊าซ ไม่มีหินแข็งเหมือนกับโลกของเรา จาการสำรวจของยานวอยเอเจอร์ 1 และ 2 ของสหรัฐอเมริกา พบว่า มีจุดแดงใหญ่เป็นวง เป็นกลุ่มก๊าซร้อนหมุนวนด้วยความเร็วสูง มีดวงจันทร์ใหญ่สุด 4 ดวง คือ ไอโอ ยูโรปา แกนิมีด และคัลลิสโต รวมกันเรียกว่า ดวงจันทร์กาลิเลียน ซึ่งถูกค้นพบโดยกาลิเลโอ เมื่อ 340 ปีมาแล้ว


ดาวเสาร์ เป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 รองมาจากดาวพฤหัสบดี มีดวงจันทร์เป็นบริวาร 30 ดวง ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นอันดับที่ 6 จากการผ่านไปสำรวจของยานวอยเอเจอร์ 1 และ 2 พบว่า ดาวเสาร์ มีวงแหวน 7 วงใหญ่ๆ และมีวงแหวนเล็กซ้อนกันอยู่มากมาย ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของดาวเสาร์ วงแหวนนั้น คืออนุภาคน้ำแข็งและก้อนหินที่ปกคลุมด้วยน้ำ้แข็ง ไททันเป็นดวงจันทร์บริวารที่ใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ และใหญ่เป็นอันดับ 2 ในบรรดาดวงจันทร์บริวารทั้งหมดของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ


ดาวยูเรนัส หรือดาวมฤตยู เป็นดาวเคราะห์ดวงใหญ่เป็นอันดับ 3 รองจากดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ ค้นพบโดย วิลเลียม เฮอร์เซล เมื่อ พ.ศ. 2324 ดาวยูเรนัสมีดวงจันทร์บริวารที่ถูกค้นพบแล้วรวม 21 ดวง จากการผ่านไปสำรวจของยานวอยเอเจอร์พบว่ามีวงแหวนบางๆ 10 ชั้นอุณหภูมิพื้นผิว -210 องศาเซลเซียส บรรยากาศประกอบด้วย ก๊าซไฮโดรเจน ฮีเลียม มีเทน และอะเซททีลีน เนื่องจากก๊าซมีเทนในบรรยากาศชั้นบนดูดซับแสงสีแดงไว้ จึงทำให้เรามองเห็นดาวยูเรนัสมีสีน้ำเงินเขียว


ดาวเนปจูน หรือดาวเกตุ เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นอันดับที่ 8 นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน โจฮันน์ จี. กาเล ใช้กล้องโทรทรรศน์ตรวจพบเมื่อ พ.ศ. 2389 หลังจากนั้นไม่นาน มีการค้นพบดวงจันทร์บริวารของดาวเนปจูน ชื่อ ไทรตัน กับเนรีด และมีการค้นพบเพิ่มอีก 6 ดวง ดาวเนปจูน จึงมีดวงจันทร์ที่ค้นพบแล้ว 8 ดวง จากการสำรวจของยานวอยเอเจอร์ 2 พบว่า ดาวเนปจูนมีวงแหวน 4 ชั้น และมีอุณหภูมิพื้นผิว -220 องศาเซลเซียส นอกจากนี้พบว่ามีพายุหมุนขนาดใหญ่เท่าโลกอยู่ทางซีกใต้ ของดาวเนปจูน ลักษณะคล้ายกับจุดแดงบนดาวพฤหัสบดี

Posted by ครูพเยาว์ at 7:36 AM