Daisypath Anniversary tickers

พระพุทธศาสนา การบริหารจิต และเจริญปัญญา (ตอนจบ )

Saturday, September 4, 2010


วันนี้มาเข้าเรื่องการบริหารจิตและเจริญปัญญา แบบที่ชาวต่างประเทศเขาเห็น ทีนี้ไม่เกี่ยวกับการมองต่างในด้านศาสนาแล้ว..... มีข่าวที่ตีพิมพ์ไปทั่วโลกว่า มีโรงเรียนในประเทศอังกฤษ ได้เอาแบบเรียนการนั่งสมาธิ ไปสอนในโรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าแก่ของประเทศ เป็นโรงเรียนชั้นนำ นั่นคือ โรงเรียน Tonbridge แห่งเมือง Kent หลักสูตร บทเรียนที่เอามาสอนได้มาจากอาจารย์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และเคมบริดจ์ ซึ่งแค่ได้ยินชื่อแล้วก็รู้ถึงกิตติศัพท์ที่สั่งสมมานาน คุณครู Richard Burnett ที่เป็นครูผู้เริ่มโครงการนี้ บอกว่า เป็นการเปลี่ยนวัฒนธรรมกันเลยทีเดียว ในการรับรู้ถึงความสงบสำหรับครูและนักเรียน อย่างหนึ่งก็คือ ความสงบ เกี่ยวเนื่องกับพลัง ให้เห็นว่า ความสงบนั้นทำให้เกิดปิติ (savoured) และ อิ่มใจ (enjoyed)
ศาสตราจารย์ Mark Williams ผู้อำนวยการของศูนย์สมาธิของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า โรงเรียนทอนบริดจ์เป็นโรงเรียนแรกที่เข้ามาแนะนำ สอนหลักสูตรการนั่งสมาธิด้วยการปฏิบัติจริง ซึ่งต่างออกไปจากการสอนที่เป็นแค่บทเรียน ยังกล่าวต่อไปอีกว่า “นี่ไม่ใช่การเปลี่ยนการนับถือศาสนาไปเป็นชาวพุทธ แต่ผลที่พิสูจน์ได้ในทางวิทยาศาสตร์ว่าการปฎิบัตินั้นมีประโยชน์ แล้วทำไมเราต้องปฎิเสธ (การนั่งสมาธิ) ด้วยล่ะ”
Andrew McCulloch ผู้บริหารสูงสุดของสมาคมสุขภาพจิต กล่าวว่าการฝึกสมาธิทำให้โอกาสที่จะช่วยให้หลีกเลี่ยงความซึมเศร้าและอาการวิตกจริตไปได้ในช่วงบั้นปลายของชีวิต
จะเห็นว่านักวิชาการเหล่านั้นเขามองเห็น การปฎิบัติจริง นำไปสู่ผลที่ได้จริง เท่ากับว่า เขาเลือกเอาชิ้นปลามันไปได้ แถมบอกว่านั่นคือวิทยาศาสตร์นะ ก็ไม่ว่ากัน การที่บอกให้รู้ว่าการนั่งสมาธิมีประโยชน์มากมายขนาดนั้น ก็เพียงพอแล้วสำหรับเรา.....ทีนี้ การเรียนของเขาเป็นอย่างไร การเรียนการสอนใช้แค่ 40 นาที ต่อสัปดาห์ และใช้เวลานั้นฝึกการนั่งสมาธิ ในตอนเย็นก่อนที่จะทำการบ้าน
สัปดาห์ที่ 1 - ฝึกจิตให้นิ่ง โดยให้เพ่งความสนใจไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เหมือนกับการฝึกสุนัขให้นิ่ง(Puppy Training : First steps in focusing attention)
สัปดาห์ที่ 2 - เข้าสู่ความสงบ โดยสร้างความสงบให้เกิดขึ้นในใจ และให้จิตเป็นสมาธิ (Turning Toward Calm : Establishing calm and concentration)
สัปดาห์ที่ 3 - กลับมาที่ความรู้สึกรู้ตัว พิจารณาอารมณ์ และการตระหนักรู้ (Coming to Your Senses : Recognizing rumination and coming home to the body)
สัปดาห์ที่ 4 - อยู่กับปัจจุบันขณะ พัฒนาการรู้ตัวทั่วพร้อม ณ ปัจจุบัน ให้เกิดขึ้นในทุกๆวัน (Being Here Now : Developing present moment awareness in the every day)
สัปดาห์ที่ 5 - ทำอย่างช้าๆ และไปเรื่อยๆ โดยดำเนินกิจกรรมต่างๆในชีวิตอย่างช้าๆ และมีความสุข รวมถึงการเดินด้วย (Slowing and Flowing : Slowing and savouring activities, including walking)
สัปดาห์ที่ 6 - ถอยห่างเพื่อมองดู คือถอยออกจากความคิดที่เกิดขึ้นฉับพลัน แล้วดูความคิดที่เกิดขึ้นนั้น ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล (Stepping Back : Stepping back from thoughts that hijack you)
สัปดาห์ที่ 7 - เต็มใจรับอุปสรรคที่เข้ามา ยอมรับและอยู่กับสภาพอารมณ์ไม่ดีที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข (Befriending the Difficult : Allowing, accepting and being with difficult emotions)
สัปดาห์ที่ 8 - ไตร่ตรองเรื่องทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิต และหาวิธีจัดการด้วยตนเอง (Pulling it all Together : Looking back and making it personal)
ถ้าเราอ่านหลักการปฎิบัติอย่างช้าๆ ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรเลยจากการที่เราปฎิบัติกันอยู่ เวลาไปปฎิบัติธรรม ทำไมฝรั่งถึงตื่นเต้นกันนัก เราเองก็ต้องหันมาดูวิธีการสอนกันใหม่ได้แล้วหรือยัง ความหวังเรื่อง “บวร” คือ บ้าน วัด โรงเรียน ดูท่ายังไม่ถึงเป้าหมายใช่มั้ยคะ