พระพุทธศาสนา การบริหารจิต และเจริญปัญญา (ตอนที่ 2/3 )
Saturday, September 4, 2010
ตอนที่แล้ว ครูยกตัวอย่างของครอบครัวที่มาฟังธรรมเป็นประจำ ทั้งครอบครัว สรุปให้เห็นภาพว่า การฝึกนั้น ต้องค่อยเป็น ค่อยไป อย่าหักโหม อย่าใส่อะไรๆ เท่าที่เราอยากให้ใส่ลงในสมองเด็ก นอกจากจะทำให้เด็กเครียดแล้ว พาลเบื่อหน่าย ไม่อยากเรียนเอาดื้อๆ เพราะศาสนาเป็นนามธรรมเสียเป็นส่วนมาก อย่างที่ตั้งหัวเรื่องเอาไว้...จิต และ ปัญญา...มองอย่างไรก็ไม่เห็นภาพเลย มีอยู่อย่างเดียวคือบังคับให้ท่องจำ ถ้าจำไม่ได้ ก็ทำข้อสอบไม่ได้...พูดอย่างนี้ อาจมีคำถามว่า...แล้วมีวิธีอย่างไรล่ะคุณครู....ซึ่งอันที่จริงแล้ว ครูได้ทำเรื่องนี้เป็นประจำ เหมือนกับเด็กสองคนที่คุณแม่พามาวัด...ให้เขาเล่นๆอยู่ข้างวัดนั่นแหละ...ครูก็ให้เด็กนักเรียนนั่งสมาธิเล่นๆในห้องเรียน ก่อนที่จะเข้าบทเรียน...นั่งสัก 5 นาที...10 นาที พอเรียกสติกลับคืนให้มาอยู่กับตัว แล้วก็เข้าสู่บทเรียน ครูไม่อยากพูดเลยละค่ะว่า เนื้อหาสาระของบทเรียนนั่นเป็นอย่างไร...เดาว่า เราคงอยากให้เด็กของเราเป็นนักธรรมกันทุกคนมั้ง...ทั้งหมดที่พูดมานี่ เพียงแค่อยากบอกว่า ถ้าอยากให้เด็กของเราเป็นชาวพุทธจริงๆ ไม่ใช่แค่ทำข้อสอบได้ แล้วได้เป็นชาวพุทธเลย...เคยคิดกันบ้างมั้ยคะ...ถ้าเราอยากเห็นว่าเด็กของเราเป็นชาวพุทธ การปฏิบัติที่เอาจริงเอาจัง ปฏิบัติจริง เหมือนกับชาวคริสต์ที่ไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ เรื่องนี้ครูจะเล่าให้ฟังก็ได้ว่าสำคัญอย่างไร ในบ้านนาหลวงนั่น ถึงแม้ว่าเราจะมีวัดพุทธอยู่ 4 – 5 วัดก็เถอะ แต่ก็มีโบสถ์คริสต์อยู่ด้วย วันหนึ่งครูไปให้ช่างไม้ทำชั้นวางหนังสือให้ บ้านช่างไม้อยู่ใกล้กับโบสถ์คริสต์ท้ายหมู่บ้าน วันนั้นมีคนมาสอนร้องเพลงด้วย ซึ่งมาก่อนวันเข้าโบสถ์หนึ่งวัน เป็นวันเสาร์เพื่อสอนเด็กๆที่เป็นลูกหลานชาวคริสต์ในหมู่บ้าน ออกมาเล่นกันนอกโบสถ์บ้าง ดูๆแล้วก็สนุกละสำหรับเด็กๆ เพราะมีวัยรุ่นสาวๆ สังเกตจากการแต่งตัว หน้าตา พอจะรู้ได้ว่ามาจากในเมือง...สอนการละเล่น ร้องเพลง ปรากฎว่าหลานสาวของช่างไม้ อายุน่าจะราวๆ 3 – 4 ขวบ อยากไปเล่นกับเด็กๆพวกนั้นด้วย...ทั้งตาและยายต่างก็บอกว่าไม่ได้..หลานก็ร้องไห้ ตามประสาเด็กที่เอาแต่ใจ...วิ่งออกไป ยายก็ไล่ตามอุ้มกลับมา...เป็นอยู่อย่างนั้นหลายนาที ครูเลยบอกว่าให้แกไปเถอะ...ตัวครูเองก็เคยไปโบสถ์คริสต์เหมือนกันสมัยเด็กๆ...ที่นั่นเขามีของเล่น เพื่อนก็อยู่ในนั้น ขนมก็อยู่ในนั้น...ครูพูดเรื่องนี้เพื่ออยากบอกให้รู้ว่า ในศาสนาพุทธ เราไม่มีที่ว่างให้เด็กๆไปได้เองเลย จะมีที่ว่างก็เฉพาะวันไปทำบุญ เวียนเทียน ที่ต้องตีกลอง บรรเลงดุริยางค์ เดินแถว ถือธงนำหน้า แล้วไปกันที ยกโรงเรียนไป โรงเรียนไหนมีเด็กมาก ครูใหญ่ครูน้อยอาจแอบยิ้มอยู่ในใจในแสนยานุภาพของโรงเรียน...ภาพมันฟ้องอย่างนั้นค่ะ แต่การปลูกฝังการเป็นชาวพุทธไม่ได้ทำเลย...เอาละไหนๆก็พูดถึงนี่แล้ว พูดเรื่องนี้ต่อให้จบ ทีนี้การปฏิบัติของชาวมุสลิมบ้าง อันที่จริงครูไม่อยากเอาศาสนาอื่นมา เปรียบเทียบกันสักเท่าไหร่ แต่ว่าถ้าไม่พูด เราก็จะไม่เห็นจุดบกพร่องของเรา ศาสนาอิสลามนี่ยึดหลักสำคัญไว้ 3 อย่าง คือหลักการศรัทธา หลักจริยธรรม หลักการปฏิบัติ เท่าที่สังเกตที่เรามองจากคนต่างศาสนา เหมือนว่าเขาจะเน้นเรื่องหลักการปฏิบัติเสียเป็นส่วนใหญ่ เอาจริงเอาจัง เช่นการละหมาด 5 ครั้งต่อวัน ตั้งแต่เช้ามืด เที่ยงวัน ตอนบ่าย ตอนตะวันตกดิน และตอนค่ำ บางทีเพราะคำสอนที่ว่า “การนมัสการหรือละหมาดคือความสัมพันธ์โดยทางลับกับพระเจ้า อันจะนำมาซึ่งศีลธรรมอันดีงาม” จากการที่เด็กๆเห็นการปฏิบัตินี้บ่อยๆ ซึ่งเราไม่อาจปฏิเสธได้เลย ว่าเขาเคร่งครัดจริงๆ ถ้าเราได้อยู่ในหมู่ชาวมุสลิม...นั่นเป็นการจูงใจ จูงเด็กเข้ามัสยิด..นอกจากนั้นการปฏิญาณตนในการเข้านับถือศาสนา และพิธีเข้าสุนัต เป็นเรื่องสำคัญ ของพ่อแม่เลยทีเดียว แบบนี้ครูคิดว่า การปฏิบัตินำหน้าศรัทธา ในเบื้องต้นสำหรับเด็ก....เมื่อเด็กเริ่มเรียนรู้ถึงจะดึงเอาศรัทธาเข้ามาเสริม เมื่อพอมีสติปัญญา ศรัทธาและจริยธรรมถึงจะเข้ามา ซึ่งจะมาเสริมการปฏิบัติให้เข้มแข็งขึ้นไปอีก....ยกตัวอย่างยาวไปนิด...สรุปให้สั้นๆว่า...เน้นปฏิบัติไปก่อน จูงเด็กเข้าวัด...จูงใจก็ได้...เราบกพร่องเรื่องนี้มั้ยคะ...วันที่เราไปวัดฟังธรรมเทศนา ถ้าจะสังเกตดู และเป็นอย่างนี้มาตลอด มีแต่คุณย่า คุณยาย หรือผู้หญิงเสีย 85 เปอร์เซ็นต์ อุบาสกน้อยเสียเหลือเกิน เด็กรุ่นๆแทบจะไม่มีเลยค่ะ....ขออย่าหลอกตัวเองกันต่อไปเลยนะคะ ว่าเราจูงเด็กเข้ามาเป็นพุทธถูกทางแล้ว
Labels: การศึกษา, พุทธศาสนา, วัดอภิญญาเทสิตธรรม