Daisypath Anniversary tickers

รอบรั้ว พุทธศาสนา เบญจธรรม

Wednesday, August 1, 2007

เมื่อเราฝึกอบรมกายและวาจาให้งดเว้นจากการทำชั่วได้แล้ว ในทางพุทธศาสนาถือว่ายังไม่เพียงพอ เราต้องทำ "ความดี" ด้วย เพื่อประโยชน์สุขของตนเอง ผู้อื่น และสังคมที่เราอยู่

การทำความดีสามารถปฏิบัติได้ตามหลักธรรมต่อไปนี้ คือ "เบญจธรรม"

เบญจธรรม เป็นหลักธรรมที่เกื้อกูลแก่การรักษาศีล ควรปฏิบัติควบคู่กัน เพราะถ้าเรามีเบญจธรรมแล้ว เราจะไม่ผิดเบญจศีล

1. เมตตาและกรุณา เป็นคุณธรรมที่ทำให้คนเราอยู่ร่วมกันด้วยความสุข คู่กับศีลข้อ 1....เมตตา หมายถึง ความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นเป็นสุข พ้นทุกข์ ดังนั้น เมื่อเรามีความสุขแล้ว ก็ควรแสดงความเมตตากรุณาต่อผู้อื่น

การที่เรารักษาศีลข้อ 1 ได้ เรายังไม่ได้ชื่อว่าเป็นคนมีเมตตา เช่น เราพบสุนัขที่ถูกรถชนได้รับบาดเจ็บ เราพอจะช่วยมันได้ แต่เราไม่ช่วย ศีลข้อ 1 เราก็ไม่ขาด เพราะเราไม่ใช่เป็นคนทำให้มันได้รับบาดเจ็บ แต่เราขาดความเมตตาต่อสัตว์ ซึ่งเป็นเบญจธรรมข้อ 1

2. สัมมาอาชีวะ คือ การหาเลี้ยงชีพในทางสุจริต ซึ่งคู่กับศีลข้อ 2.... คนเราต้องหาเลี้ยงชีพ เมื่อรักษาศีลข้อ 2 ได้ คือไม่ลักขโมยของผู้อื่นแล้ว ก็ต้องประกอบอาชีพสุจริต เพื่อให้มีรายได้มาเลี้ยงตนเองและครอบครัว อย่างเพียงพอ จึงจะเป็นการเกื้อกูลให้รักษาศีลข้อ 2 ให้มั่นคงขึ้น

อาชีพสุจริตทุกอาชีพ ถือเป็นงานมีเกียรติ ที่ผู้ประกอบอาชีพนั้นๆ ควรจะภาคภูมิใจ ถือเป็นการทำความดี ไม่ต้องคอยหลบซ่อนผู้อื่น แต่คนที่ประกอบอาชีพทุจริต ถึงแม้ว่าจะหาเงินได้มามาก ก็ต้องคอยหลบๆ ซ่อนๆ เนื่องจากกลัวผู้อื่นจะรู้ถึงความไม่ดีของตน และจะถูกจับไปลงโทษตามกฎหมาย

3. กามสังวร คือ ความสำรวมระวัง รู้สึกยับยั้ง ควบคุมตัวเองไม่ให้หลงไหลในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส คู่กับศีลข้อ 3

สำหรับหญิงชายที่มีคู่ครองแล้ว เมื่อรักษาศีลข้อ 3 ได้แล้ว ถ้าจะให้มั่นคง จิตใจควรมีเบญจธรรมข้อ 3 ควบคู่กันไปด้วย คือ รู้จักมีความพอใจในคู่ครองตน หรือหญิงชายที่ยังไม่มีคู่ครอง ก็ให้รู้จักควบคุมตนเองไม่ให้หลงไหลในกามารมณ์จนเกินพอดี

4. สัจจะ หมายถึง ความสัตย์ ความซื่อตรง คู่กับศีลข้อ 4....ศีลข้อ 4 จะรักษาได้อย่างมั่นคง ควรมีเบญจธรรมข้อ 4 คอยเกื้อหนุน คือ ยึดมั่นในความจริง มีความซื่อสัตย์ ซื่อตรง เราจะไม่ต้องคอยตรวจสอบว่า เราเคยพูดโกหกกับใครบ้าง

5. สติสัมปชัญญะ คือ ฝึกตนให้เป็นคนรู้จักยั้งคิด รู้สึกตัวอยู่เสมอว่า สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ คู่กับศีลข้อ 5....เมื่อเราไม่ดื่มของมึนเมาหรือเสพสิ่งเสพติด ที่คอยบั่นทอนสติสัมปชัญญะของเรา ซึ่งจะทำให้เกิดความประมาทแล้ว เราควรฝึกอบรมตนเองให้มีสติสัมปชัญญะก่อนที่จะทำ หรือจะพูดสิ่งใดก็ตาม กล่าวคือ ระลึกได้ก่อนทำและก่อนพูด แล้วจึงค่อยทำหรือพูดสิ่งนั้น และรู้สึกตัวเสมอในขณะทำและขณะพูด
สติสัมปชัญญะเป็นคุณธรรมที่ช่วยให้ทำงานสำเร็จได้โดยไม่ผิดพลาด

และเพื่อให้จำได้ง่ายขึ้น ลูกๆก็ควรที่จะหัดอ่านคำประพันธ์ ถ้าท่องจำได้ ก็จะดีค่ะ
เบญจศีล - เบญจธรรม
เบญจศีล คือ ศีลห้า ท่านว่าไว้
หนึ่ง คือไม่ ฆ่าสัตว์ ให้อาสัญ
สองไม่ลัก ของเขา เอาไปพลัน
ข้อสาม นั้น ต้องไม่คิด ผิดทางกาม

สี่ ต้องไม่ พูดเท็จ หลอกลวงเขา
ห้า น้ำเมา ไม่ดื่ม ให้ใครหยาม
หากผู้ใด เคร่งครัด ปฏิบัติตาม
เรียกขานนาม ชาวพุทธได้ ไม่อายใคร

เบญจธรรม คือธรรม คู่ศีลห้า
หนึ่ง เมตตา กรุณา นั่นไฉน
สอง สัมมา-อาชีพ สุจริตใจ
สาม นั่นไซร้ สำรวมอยู่ คู่ครองตน

สี่ มีความ ซื่อสัตย์ สุจริต
ห้า ความคิดรอบคอบ มีเหตุผล
มีสติ สัมปชัญญะ ไม่ลืมตน
เป็นบุคคล เรียกว่า " กัลยาณชน "
หากชาวพุทธ มีศีล และมีธรรม
จะน้อมนำ สันติสุข ทุกแห่งหน
จึงเชิญชวน พุทธศาสนิกชน
ทั่วทุกคน ปฏิบัติ เคร่งครัดเอย ฯ
.......................................

Posted by ครูพเยาว์ at 7:58 PM