Daisypath Anniversary tickers

รอบรั้ว เรื่องเก่าๆ ท่องบทอาขยาน

Wednesday, August 1, 2007

ในการศึกษาสมัยใหม่ มองถึงการท่องจำเหมือนกับว่า เราสอนเด็กให้เป็นนกแก้วนกขุนทอง ถึงกับมีการโฆษณาออกทีวีอยู่ช่วงหนึ่ง เอาเด็กมาสวมหัวโขนเป็นหัวนกแก้ว นกขุนทองออกมาท่องจำให้คนดู ทำนองว่า นี่คือการเดินพลาดในวงการการศึกษาของไทย ว่าเรายังล้าหลังค่ะ....มองๆดูในครั้งนั้นก็ขำ ว่าช่างเอามาเปรียบเทียบ

แต่พอนานๆไป ถ้าเรามานึกย้อนหลัง ว่าทำไมคนในสมัยเก่าก่อนของเรา เป็นคน "เจ้าบทเจ้ากลอน" จะพูดจะจาอะไร ก็เอาคำพูดที่คล้องจองสละสลวยออกมาใช้ได้...น่าฟังค่ะ เดี๋ยวนี้ยังมีให้เราได้ยินหรือเปล่า

การที่เราจะฝึกเด็กของเราให้รู้จักการออกเสียงให้ถูกต้อง โดยการท่องมันก็ไม่น่าผิดใช่มั้ยคะ ทุกอย่างถ้าจะให้ดี มันต้องฝึกฝน เด็กตัวเล็กๆ ก็ต้องฝึกลิ้น ดัดลิ้น พูดให้ถูกต้อง ตัว ร, ล อีกทั้งตัวกล้ำในภาษาไทย ต้องฝึกทั้งนั้น เราไม่ได้ท่องจำในสิ่งที่ไม่ต้องทำ บางอย่างต้องทำความเข้าใจ อย่างนั้นก็ไม่มีข้อโต้แย้งค่ะ แต่บางอย่างมันต้องฝึก เราก็สมควรที่จะคงเอาไว้ อย่างเช่น ท่องบทอาขยานในภาษาไทย ไม่ว่าเรื่องอะไร อย่างเช่นการใช้ สระ ไ_ ,สระ ใ_ อย่างนี้เป็นต้น ทุกคำที่ท่องออกไปนั้นมันทั้งให้ความรู้ที่ต้องติดตัวไป คำพูดที่คล้องจอง สละสลวยเหล่านั้น ก็เอาออกมาพูดได้อย่างไม่ขัดเขิน เพราะเคยท่องมาจนคล่องปากแล้ว

อยากให้ดูบทอาขยาน บทท่องจำจากหนังสือวรรณคดี ลำนำ หรือจากดรุณศึกษา เล่ม 3 ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นบทอาขยานที่เคยให้นักเรียนท่องจำกัน ว่ามีประโยชน์อย่างไรบ้างค่ะ

วิชาเหมือนสินค้า ...... กาพย์ยานี 11

วิชาเหมือนสินค้า..............อันมีค่าอยู่เมืองไกล

ต้องยากลำบากไป...........จึงจะได้สินค้ามา

จงตั้งเอากายเจ้า..............เป็นสำเภาอันโสภา

ความเพียรเป็นโยธา.........แขนซ้าย-ขวา เป็นเสาใบ

นิ้วเป็นสายระยาง.............สองเท้าต่างสมอใหญ่

ปากเป็นนายงานไป..........อัชฌาสัยเป็นเสบียง

สติ เป็นหางเสือ................ถือท้ายเรือไว้ให้เที่ยง

ถือไว้อย่าให้เอียง.............ตัดแล่นเลี่ยงข้ามคงคา

ปัญญา คือกล้องแก้ว........ส่องดูแถวแนวหินผา

เจ้าจงเอาหูตา...................เป็นล้าต้าฟังดูลม

ขี้เกียจ คือปลาร้าย............จะทำลายให้เรือจม

เอาใจเป็นปืนคม................ยิงระดมให้จมไป

จึงจะได้สินค้ามา...............คือวิชาอันพิศมัย

จงหมั่นมั่นหมายใจ............อย่าได้คร้านการวิชา
ฟังดูเป็นยังไงบ้างคะ พูดแค่เรื่องเดียว เปรียบเทียบแค่ว่าวิชาเหมือนกับสินค้า แต่ในนั้นสอดแทรกเรื่องอื่นๆไว้ตั้งเยอะ ไม่ว่าเรื่องส่วนประกอบของเรือ หรืออื่นๆอีก อยากให้ดูคำศัพท์ที่เอามาใช้ แม้ว่าบางคำเราเองยังไม่ได้ใช้แล้ว แต่ก็ยังแสดงถึงรากของคำเหล่านั้นว่ามาอย่างไร มาจากไหน อย่างเช่นกล้องแก้ว ซึ่งก็น่าจะเป็นกล้องส่องทางไกล นี่คงสมัยอยุธยา คำว่า ล้าต้า คือ คนถือบัญชีเรือสำเภา, ผู้ดูแลบัญชีใหญ่ ทำให้เรารู้ลึกลงไปอีกว่า ในสมัยก่อนโน้น ราชสำนักอยุธยาใช้ประโยชน์จากความสามารถในการแล่นเรือสำเภาของชาวจีน โดยเรือสำเภาหลวงนั้น ผู้ที่ประจำตำแหน่งต่างๆ รวมทั้งลูกเรือนั้น ล้วนเป็นชาวจีน และมีศักดินาเป็นขุนนางระดับล่างด้วย ต้องค้นลงลึกลงไปอีกว่ามีอีกหลายตำแหน่ง เช่น จุ่นจู๊ (นายสำเภา) ศักดินา 400, ต้นหน (ผู้ดูทาง) ศักดินา 200, ล้าต้า (ผู้ดูแลบัญชีใหญ่) ศักดินา 100, ไต้กง (นายท้าย) ศักดินา 80, อาปั๋น (กระโดงกลาง) ศักดินา 50, เอียวก๋ง (บูชาพระ) ศักดินา 30, เท่าเต้ง (ว่าสมอ) ศักดินา 30

จะคิดอย่างไรในเรื่องนี้ ก็แล้วแต่ค่ะ แต่อยากบอกว่า ไม่มีสิ่งไหนที่ดีไปหมดทุกอย่าง หรือเลวไปหมดทุกอย่าง อย่างเช่น ค่าเงินบาทที่แข็งอยู่เดี๋ยวนี้ คนส่วนหนึ่งอาจว่าไม่ดี แต่อีกส่วนหนึ่งก็ว่านี่ดีแล้ว ทุกอย่างนั่นแหละค่ะ มีสองด้าน เพียงแค่ เราจะปรับอย่างไรให้มันลงตัว เหมาะกับเรา

Posted by ครูพเยาว์ at 9:54 PM