Daisypath Anniversary tickers

รอบรั้ว การศึกษา ระหว่างครูกับศิษย์

Tuesday, April 29, 2008


การมีอาชีพเป็นครูนี่ เป็นการท้าทายความสามารถของเราอยู่ค่ะ จะเอาลูกศิษย์ให้สอบผ่านในแต่ละปีนี่ ถ้าไม่แน่จริงๆแล้ว ทำได้ยาก แม้ว่าในสมัยหนึ่ง นโยบายที่จะไม่ให้เด็กตกซ้ำชั้น ได้เอามาใช้ คนไหนทำข้อสอบไม่ได้ก็ให้สอบแก้ตัวได้ หรือจะให้ชิ้นงานมาส่งก็ยังมีอยู่บ้าง

ครูยังไม่เข้าเรื่องที่ครูอยากจะพูดจริงๆ อยากให้ฟังเรื่องเล่าสักเรื่องของพระนักเทศน์สองพี่น้อง พระที่เป็นพี่ชาย ไปเทศน์ที่ไหน ญาติโยมก็ตามไปฟังจนแน่นวัด ส่วนพระที่เป็นผู้น้อง เทศน์ครั้งเดียวญาติโยมก็นั่งฟัง ถ้าจะเทศน์ครั้งต่อไป ก็ไม่มีใครตามไปฟังอย่างหนาแน่นเหมือนผู้พี่ จนลูกศิษย์ต้องออกปากถามว่า ทำไมไม่เทศน์เหมือนพระผู้พี่ล่ะ จะได้มีคนมาฟังเยอะๆ ท่านก็ตอบว่า “แก...ไม่รู้เรื่องอะไร ฉันน่ะ พูดทีเดียวคนเข้าใจหมด แต่ที่พี่ฉันเทศน์ยังไงๆ คนเขาก็ไม่เข้าใจ ถึงตามไปฟังแล้วฟังอีก ทีนี้เข้าใจมั้ย” ลูกศิษย์ก็ได้แต่เกาหัว คำตอบและผลที่เห็นมันก็อยู่คาตา แต่จะจริงหรือไม่.... ก็เป็นเรื่องของญาติโยมเองที่รู้อยู่แก่ใจ

การเป็นครูอาจารย์ก็เหมือนๆกัน …“บางท่าน”… ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยเปิด อย่างเช่นรามคำแหง ลูกศิษย์ลูกหา ต้องถึงกับจองเก้าอี้กันล่วงหน้า เข้าไปฟังท่าน อาจารย์โรงเรียนกวดวิชาหลายๆคน สอนจนเป็นอาชีพหลักไปเลย เปิดโรงเรียนเป็นธุรกิจร้อยๆล้าน ก็มีให้เห็น ลองคิดเทียบเคียงกับพระนักเทศน์พี่น้องสองรูปนั่นดูค่ะ

ทีนี้ก็มาเข้าเรื่องที่ครูอยากจะพูดตรงๆเสียที....เราจะสอนลูกศิษย์ที่นั่งหน้าสลอนอยู่ข้างหน้าอย่างไร เพราะที่เห็นๆอยู่นั่น ทั้งหน้าตา สมองความจำ นิสัยรักวิชานั้น เกลียดวิชานี้ ล้วนแต่เป็นปัญหาที่จะให้ผลมันออกมาเป็นบวกไปทั้งหมด มันก็ต้องมีมั่ง ที่เด็กไม่รับสิ่งที่เราให้ไปเลย จะด้วยสาเหตุอะไรก็แล้วแต่...ผลสุดท้าย เรื่องมันก็จะเกิดอยู่ระหว่างครูกับศิษย์ ตัวต่อตัว ครูจะให้ผ่านมั้ย เพราะเธอทำวิชาของครูไม่ได้ถึงครึ่งเลย เพื่อนๆเธอผ่านไปหมดแล้ว เธอเองก็ซ้ำชั้นไปแล้วหนึ่งปีกับวิชาของครูนี่ แก้วิชานี้มาสามครั้งแล้ว ก็ยังไม่ผ่าน...มีเรื่องอย่างนี้บ้างมั้ยคะ

ก็ต้องยอมรับค่ะ ว่าทุกปี เราจะได้ยินเรื่องอย่างนี้ ซึ่งก็มีอยู่ทุกช่วงชั้น ไม่ว่าประถม มัธยม แต่ที่สำคัญคือระดับมหาวิทยาลัย ที่เด็กบางคนหมดกำลังใจ ถอดใจ รีไทร์ไป หรือไม่ก็เปลี่ยนสาขา ยอมเสียเวลาไปสักปีหรือสองปี....ถ้าตีค่าราคาที่สูญเสียไปนั้นเป็นเงิน...นับกันไม่ไหวค่ะ แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับการสูญเสียความตั้งใจตั้งแต่ต้นที่จะเรียนให้มันสำเร็จ...เราอาจได้ยินเรื่องมาบ้างว่าบิล เกตส์ เจ้าของไมโครซอฟท์ มหาเศรษฐีโลกคนนั้น ไม่ได้จบมหาวิทยาลัย...สมองดีมากจนเกินกว่าที่ครูจะสอน (หรือเปล่า)..อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ก็ไม่ได้เก่งไปเสียทุกวิชา ยิ่งชีววิทยาและภาษาแล้วสอนอย่างไรก็ไม่จำ (หรือเปล่า) ...แล้วเด็กหน้าตาไทยๆ ที่นั่งต่อหน้าครูอยู่ทุกวันนี้ จะมีสิทธิเหมือนอย่างเขาบ้างมั้ย และถ้าเขามืดบอดในวิชาที่ครูสอนจนไม่สามารถรับได้แม้แต่เศษธุลี...แล้วจะทำอย่างไร(ถึงจะ)ดีกับเขาคะ

ครูเองมีคำตอบอยู่ในใจค่ะ...แต่อยากฝากถามเรื่องนี้ลอยลมไปยังครูทั่วๆไปและ....ในมหาวิทยาลัย....ที่ต้องเติมมหาวิทยาลัยเข้าไป ไม่ใช่เพราะมันประจวบกันกับที่มีเรื่องไม่เหมาะ ไม่ควรที่จะเกิดขึ้น แต่ว่าลึกๆแล้ว มันก็มีเรื่องแบบนี้อยู่พอที่จะจับสังเกตได้ เพียงแต่ว่า มันจะดังขึ้นมาให้คนนอกได้ยินหรือเปล่าเท่านั้น....ครูจะไม่พูดเรื่องจรรยาบรรณหรอกค่ะ เพราะเท่าที่ฟังๆมา บางแห่งบางที่ ถ้ายังไม่ได้เขียนเป็นตัวบทกฏหมายขึ้นมา อาจจะได้ยินคำตอบที่ว่า...แล้วมันเขียนไว้ว่าอย่างไร ซึ่งจริงๆแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องตราเอาไว้ในกฎที่ไหนหรอกค่ะ ตราไว้ในใจก็เพียงพอแล้ว เอาแค่ข้อเดียวคือ ครูต้องรักและเมตตาต่อศิษย์....แค่นี้ก็ช่วยได้เยอะแล้วค่ะ

Posted by ครูพเยาว์ at 4:45 PM