Daisypath Anniversary tickers

รอบรั้ว เมืองอุดรธานี ต้นศรีมหาโพธิ์

Saturday, April 12, 2008


ต้นโพธิ์ต้นนี้มีความสำคัญกับความเป็นมาของจังหวัดอุดรธานีอยู่ส่วนหนึ่ง ที่คนรุ่นหลังมักจะไม่รู้ว่าต้นโพธิ์ที่ยืนอยู่ข้างถนน ฝั่งตรงข้ามกับวัดมัชฌิมาวาสมีความเป็นมาอย่างไร ยังโชคดีที่มีหน่วยงานทางราชการอย่างเช่นเทศบาลได้รื้อฟื้น ให้เด็กๆรุ่นหลังได้รู้ปูมประวัติ ซึ่งก็ยังมีอีกหลายแห่ง ที่จะต้องเอามาปรับปรุงภูมิทัศน์ ให้กลายเป็นที่ศึกษาของเด็กรุ่นหลัง และให้เป็นจุดท่องเที่ยวให้ชาวบ้านต่างเมืองเข้ามาชม ต้นโพธิ์ต้นนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มก่อตั้งเมืองอุดรธานีทีเดียว ซึ่งเราเองก็ต้องศึกษาไปพร้อมกับประวัติศาสตร์ของชาติไทย และจะได้รู้ถึงการเอาเปรียบของชาติมหาอำนาจ ที่ถืออำนาจบาตรใหญ่ เข้ามาบังคับ ให้เราที่เป็นชาติที่เล็กกว่าต้องสูญเสียดินแดนบางส่วนของเราไป

พ.ศ.2428 (1885)
ในปี พ.ศ.2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้ยกกองทัพไปทางเหนือหนองคายถึงแขวงเมืองพวนขึ้นไปปราบฮ่อทางหลวงพระบางและเมืองหัวพันห้าทั้งหกซึ่งขณะนั้นเป็นดินแดนประเทศราชของไทย เมื่อศึกปราบฮ่อสงบลงในปี พ.ศ.2434 พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ได้รับกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการหัวเมืองลาวพวนหรือหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือประทับอยู่ที่หนองคาย

พ.ศ.2436 (1893)
จนเมื่อเกิดปัญหาพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ไทยจำต้องสูญเสียฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและสนธิสัญญาสงบศึกกับฝรั่งเศษเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2436 (ร.ศ.112) ห้ามไทยตั้งกองกำลังทหารประชิดริมฝั่งขวาฟากตะวันตกของแม่น้ำโขงในรัศมี 25 กิโลเมตร ด้วยเหตุนี้ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม จึงย้ายกองบัญชาการมณฑลลาวพวนจากเมืองหนองคาย มาตั้งที่ริมหนองนาเกลือ (หนองประจักษ์ปัจจุบัน) บริเวณบ้านเดื่อหมากแข้ง (หมากแข้ง หมายถึง ต้นมะเขือพวง)

ซึ่งเป็นต้นที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติธรรมดาอยู่หนึ่งต้น โดยอยู่ในบริเวณวัดมัชฌิมาวาสในปัจจุบัน ดังนั้นจึงให้ชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านหมากแข้ง” และเรียกค่ายทหารว่า “ค่ายหมากแข้ง”

พ.ศ. 2436 (1893)

จากหนังสือประวัติวัดมัชฌิมาวาสกล่าวไว้ว่า การย้ายกองบัญชาการดังกล่าวต้องใช้เกวียนประมาณ 200 เล่ม ต้องออกเดินทางมาเป็นลำดับ ผ่านน้ำสวย จนถึงบ้านเดื่อหมากแข้งจึงได้พักกองเกวียนซึ่งอยู่ใกล้ต้นโพธิ์ใหญ่ข้างวัดมัชฌิมาวาส (ปัจจุบันบริเวณนี้เป็นที่ตั้งที่ทำการสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี) ต้นโพธิ์ใหญ่ที่ว่า ก็คือต้นศรีมหาโพธิ์ในปัจจุบันนี่แหละ จากนั้นเสด็จในกรมฯจึงได้ให้ออกสำรวจดูห้วย หนอง คลอง บึง ในบริเวณใกล้เคียง จึงให้ตั้งกองทัพในบริเวณนี้ ด้วยเหตุผล 4 ประการคือ

1.เป็นพื้นที่โล่ง (บ้านร้าง เนื่องจากโรคระบาด) จึงไม่ต้องถางป่า และห่างแนวกำหนดมากกว่า 25 กิโลเมตร
2.มีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับกองทัพ
3.เป็นชุมชนทางของสายโทรเลข
4.สามารถติดต่อเชื่อมโยงไปยังเมืองต่างๆได้สะดวก

พ.ศ. 2449 (1906)

จากนั้นในระยะแรกๆบ้านหมากแข้งเป็นเพียงค่ายทหารเท่านั้น ต่อมาจึงมีประชาชนอพยพมาสร้างบ้านเรือนรอบๆค่าย เมื่อบ้านหมากแข้งเรี่มเป็นชุมชนหนาแน่น เสด็จในกรมฯจึงได้ให้ทหารตัดถนนหนทางเชื่อมกันหลายสาย จนมีฐานะเป็นกิ่งอำเภอมีการปกครองขึ้นกับอำเภอหนองหาน

ครึ้งถึงสมัยเมื่อพระยาศรีสุริยะราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) มาเป็นข้าหลวงมณฑลเทศาภิบาลคนแรกนั้นได้สร้างความเจริญให้แก่กิ่งอำเภอหมากแข้งอย่างมากมาย เช่น ก่อสร้างวัดโพธิสมภรณ์, ก่อสร้างถนนโพธิ์ศรี (ถนนโพศรีปัจจุบัน) นับแต่ปี พ.ศ.2449 เป็นต้นมา

พ.ศ. 2450 (1907)

ปีรุ่งขึ้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกฐานะกิ่งอำเภอหมากแข้งขึ้นเป็นเมืองมีชื่อเรียกว่าเมืองอุดรธานี อันเป็นนามที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยคิดขึ้น บ้านหมากแข้งจึงมีฐานะเป็นเมืองอุดรธานีแต่ปี พ.ศ.2450 เป็นต้นมา (มีพิธีตั้งเมืองอุดรเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2450)

ปัจจุบัน จังหวัดอุดรธานีมีอายุครบ 115 ปี ในวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2551 โดยถือเอาวันที่พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ทรงย้ายกองบัญชาการมณฑลลาวพวนจากหนองคายมาที่บ้านหมากแข้งเป็นวันก่อตั้งจังหวัดอุดรธานี

เอาละค่ะ ต้นโพธิ์ต้นเดียวที่ยืนตระหง่านอยู่ข้างถนน บอกเราให้รู้ถึงประวัติความเป็นไปของบ้านเมืองเราได้เป็นอย่างดี ถ้าลูกๆเดินไปแถวนั้น หรือผ่านไปก็ควรที่จะเข้าไปอ่านเรื่องราวต่างๆที่เขาเขียนเล่าเอาไว้นะคะ

Posted by ครูพเยาว์ at 1:22 PM