Daisypath Anniversary tickers

รอบรั้ว เพื่อนบ้าน เขาสร้างชาติอย่างไร

Tuesday, June 30, 2009


เมื่อวานได้เขียนเรื่องคอร์รัปชั่นเอาไว้ เพราะเมื่อเห็นข่าวทำนองนี้แล้ว ยังอดใจไม่ไหวที่จะพูด ประเทศของเราน่าจะไปไกลกว่านี้มาก ถ้านักการเมืองและประชาชนของเรา ไม่ร่วมกันฉ้อฉล คดโกงประเทศชาติ เป็นพวกที่เห็นแก่ตัวมากที่สุด ไม่ได้นึกถึงส่วนรวม หรือประเทศชาติเลย การพัฒนาก็ไปไม่ถึงไหน ดูแค่การขนส่งอย่างเดียว การรถไฟไทย ไม่ได้มีความก้าวหน้าอะไรเลย ว่ากันว่า รางมีเท่าไหร่ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสร้างไว้ มาบัดนี้ก็ยังเท่าเดิม นี่แค่พูดเปรียบเทียบให้เห็น ว่ายังไม่เจริญไปกว่านั้น

นี่ถ้าเราขยายทางรถไฟทางภาคใต้ ฝั่งอันดามันให้เพิ่มอีกสาย ขนานไปกับฝั่งอ่าวไทย ครูว่าเศรษฐกิจของเราน่าจะไปไกลกว่านี้อีก นักท่องเที่ยวที่ยังแบกเป้ไปเป็นกลุ่มๆ ต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน ประเทศอื่นแถบนี้ยังคิดขยายกิจการ เพิ่มเป็นรถไฟความเร็วสูง อย่างเวียดนาม ซึ่งเพิ่งผ่านพ้นสงครามมาเพียงไม่กี่สิบปี กว่าจะตั้งตัวหลังสงครามได้ก็นับสิบปีแล้ว มาบัดนี้ คิดก้าวหน้ากว่าไทยเสียอีก เราเองมัวหลงอยู่กับวังวนแย่งอำนาจของนักการเมือง นักโกงเมือง เป็นเบี้ยให้นักการเมืองหลอกใช้ ประเทศเราก็ไปไม่ถึงไหน สามัญสำนึกเรื่องความก้าวหน้าของประเทศชาติไม่เกิด เพราะมัวหลงลมปากของนักการเมือง ที่มีสัญญาสารพัดจะมอบให้

เรื่องนี้หยุดแค่นี้เอาไว้ก่อน มาต่อเรื่องคอร์รัปชั่นอีกสักตอน เมื่อวานได้พูดเอาไว้ว่าทำไมสิงคโปร์เขาถึงรักษาบ้านเมืองของเขาให้ปลอดเรื่องคอร์รัปชั่นเอาไว้ได้ ทั้งๆที่เมื่อก่อนโน้น สิงคโปร์ก็มีเรื่องแบบนี้ไม่ได้น้อยหน้าใครเลย จากบทความของ BOI บางตอน เขียนเอาไว้ว่า

“เมื่อนายลีกวนยูเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะปราบปรามคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง โดยได้ดำเนินการในรูปแบบต่างๆ อย่างเข้มงวด ทำให้สถานการณ์ปรับเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ประการแรก ผู้นำประเทศ รวมถึงคณะรัฐมนตรี ต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี ไม่คอร์รัปชั่นเสียเอง มิฉะนั้น ข้าราชการและประชาชนทั่วไปจะหัวเราะเยาะและไม่เชื่อถือกับมาตรการปราบปรามคอร์รัปชั่น โดยเขาเคยกล่าวปราศรัยเมื่อปี 2522 ว่าประเทศสิงคโปร์จะอยู่รอดได้ก็ต่อเมื่อบรรดารัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูงต้องไม่คอร์รัปชั่น ทั้งนี้ จากรัฐบาลที่ดำเนินการอย่างจริงจัง ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อถือ และกระตือรือร้นในการส่งเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายคอร์รัปชั่นให้แก่รัฐบาล

นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ได้เคยกล่าวให้ทัศนะเปรียบเทียบกับไทยและสิงคโปร์ในประเด็นนี้เมื่อเดือนธันวาคม 2544 ว่ากรณีของประเทศไทย “ผมแปลกใจที่ไม่มีการตรวจสอบบ้านของคนใหญ่คนโตที่หรูหรา มีที่หลายสิบไร่ มีที่จอดรถได้ 18 - 20 คัน ซึ่งมองไม่ออกเลยว่ามีมาได้อย่างไร ไปได้เงินทองมากมายมาจากไหน ... สังคมของสิงคโปร์ที่พ้นภาวะคอรัปชั่นได้เพราะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกคนไม่กิน รวมถึงข้าราชการด้วย เขาใช้วิธีกำจัดออกไป”

ประการที่สอง มอบอำนาจอย่างเต็มที่ให้แก่หน่วยงาน Corrupt Practices Investigation Bureau (CPIB) ซึ่งขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี มีอำนาจที่จะสอบสวนการกระทำผิดอย่างจริงจัง สามารถเรียกบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาให้ปากคำ ไม่ว่าบุคคลนั้นๆ จะมีตำแหน่งใหญ่โตเพียงใดก็ตาม และดำเนินการสอบสวนอย่างรวดเร็ว ไม่ดำเนินการสอบสวนแบบชักช้า หรือแบบลูบหน้าปะจมูกเป็นมวยล้มต้มคนดู

อนึ่ง นอกจากดำเนินคดีภายหลังคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นแล้ว หน่วยงานแห่งนี้ยังมีอำนาจในการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาคอร์รัปชั่นที่ต้นเหตุ ตามกฎหมายป้องกันคอร์รัปชั่น Prevention of Corruption Act (POCA) กล่าวคือ หน่วยราชการบางแห่ง เช่น หน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง หน่วยงานศุลกากร กรมสรรพากร หน่วยงานตำรวจจราจร ฯลฯ เดิมมีปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นอย่างมาก และสาเหตุของปัญหาอยู่ที่ขั้นตอนและระบบการทำงาน

ดังนั้น หน่วยงาน CPIB ได้เข้าไปตรวจสอบกระบวนการทำงาน รวมถึงตรวจสอบระยะเวลาการอนุมัติอนุญาตต่างๆ เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานเสียใหม่ให้มีโอกาสเกิดคอร์รัปชั่นลดลง นับว่าเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้ปัญหาคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นที่ต้นเหตุอย่างได้ผล

ประการที่สาม ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย โดยกำหนดว่าการที่ข้าราชการที่ร่ำรวยผิดปกติ หรือมิฉะนั้น ก็มีวิถีชีวิตใช้จ่ายเงินจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ที่ได้รับแล้ว เป็นต้นว่า มีเงินเดือนเพียงแค่นิดเดียว ไม่ได้เกิดมาร่ำรวย แต่กลับขับรถยนต์หรูหราราคาแพงมาทำงาน อาศัยอยู่ในบ้านราคาหลายสิบล้านบาท ถือว่าเป็นพยานหลักฐานสำคัญในการพิสูจน์ว่าบุคคลนั้นๆ ประพฤติมิชอบในการปฏิบัติราชการ พนักงานสอบสวนไม่ต้องไปหาหลักฐานใบเสร็จให้เหนื่อยยาก ดังนั้น เว้นแต่ข้าราชการคนนั้นๆ สามารถอธิบายถึงแหล่งที่มาของเงินดังกล่าวแล้ว จะถูกดำเนินคดี ส่วนบรรดาทรัพย์สินดังกล่าวจะถูกริบเป็นของทางราชการด้วย

ประการที่สี่ กำหนดโทษระดับสูง โดยกฎหมายกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 เหรียญสิงคโปร์ หรือประมาณ 2.5 ล้านบาท รวมถึงต้องจ่ายค่าปรับเท่ากับเงินสินบนที่ได้รับ ยิ่งไปกว่านั้น หากคอร์รัปชั่นเกี่ยวข้องกับสัญญาของรัฐบาลหรือเป็นสมาชิกรัฐสภาแล้ว โทษจำคุกเพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 7 ปี

ประการที่ห้า ขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการให้พอเพียงต่อการดำรงชีพและอยู่ระดับใกล้เคียงกับเงินเดือนในภาคเอกชน เนื่องจากข้าราชการบางคนนั้น แม้จะมีทัศนคติที่ดีไม่ต้องการคอร์รัปชั่น แต่อาจจะถูกสถานการณ์บีบบังคับ

ประการที่หก รณรงค์ประชาชนให้ตระหนักว่าคอร์รัปชั่นเป็นเชื้อโรคร้ายที่บั่นทอนการพัฒนาประเทศผ่านสื่อต่างๆ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในอดีตว่ากระทบต่อประเทศสิงคโปร์มากน้อยเพียงใด หน่วยงาน CPIB ได้เปิดพิพิธภัณฑ์คอร์รัปชั่นขึ้นที่สำนักงานใหญ่เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เยี่ยมชม โดยกำหนดลูกค้าเป้าหมายเป็นเด็กนักเรียนสิงคโปร์ที่เป็นคนรุ่นใหม่ของประเทศ ที่เกิดภายหลังรัฐบาลปราบปรามคอร์รัปชั่นแล้ว ส่วนใหญ่จึงไม่เคยมีประสบการณ์ในด้านคอร์รัปชั่นมาก่อน ต้องมาทัศนศึกษาที่พิพิธภัณฑ์ว่าในอดีตคอร์รัปชั่นเป็นไปอย่างไร รวมถึงลูกค้าเป้าหมายเป็นบรรดาข้าราชการต่างประเทศที่เดินทางมาดูงานเพื่อต้องการเรียนรู้ถึงเคล็ดลับความสำเร็จในการปราบปรามคอร์รัปชั่นของสิงคโปร์ด้วย

พิพิธภัณฑ์ได้แสดงคดีดังคดีเด่นให้ประชาชนได้รับทราบ โดยเฉพาะ “เกียรติประวัติ” บุคคลสำคัญหลายคน เป็นต้นว่า คดีที่นาย Teh Cheang Wan ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาประเทศ ซึ่งได้ฆ่าตัวตายเมื่อปี 2529 ขณะอยู่ระหว่างถูกสอบสวนคดีคอร์รัปชั่นโดยหน่วยงาน CPIB รวมถึงนิทรรศการเกี่ยวกับคดีของนาย Wee Toon Boon อดีตรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ที่ถูกพิพากษาว่ากระทำผิดในด้านคอร์รัปชั่นเมื่อปี 2518 ซึ่งถูกพิพากษาให้จำคุก 4 ปี 6 เดือน ซึ่งต่อมาเขาอุทธรณ์ จึงได้ลดโทษจำคุกลงเหลือ 3 ปี”

เรื่องนี้ครูต้องพูดกันบ่อยๆ เพราะหวังเอาไว้ว่า เด็กนักเรียนรุ่นใหม่ของเรา จะได้รับทราบถึงโทษภัยของการคดโกง ว่าได้บั่นทอนศักยภาพของประเทศไปอย่างไร เงินภาษีที่เราได้จ่ายลงไปนั้น จะต้องกลับมาพัฒนาประเทศ คืนมาสู่สังคม ไม่ใช่ไปตกอยู่ในมือของนักการเมืองและพวกพ้องของเขา

ขอบคุณเจ้าของบทความค่ะ คุณยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ในหัวข้อเรื่อง ทำไมสิงคโปร์แก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นผลสำเร็จ? และเว็บไซท์ www.boi.go.th