Daisypath Anniversary tickers

รอบรั้ว เมืองอุดรเมื่อก่อนเก่า

Monday, December 17, 2007


รูปนี้ถ่ายที่วัดโพธิสมภรณ์ มองจากหน้าวัดเข้าไป เมื่อเดือนกรกฎาคม 2505 ในพิธีรับศพและทำบุญศพท่านเจ้าประคุณธรรมเจดีย์ แต่จากรูปที่ให้สังเกตนั้น เราจะเห็นการแต่งตัวของเด็กนักเรียนในสมัยนั้น ต่างจากที่พวกเราแต่งกันในปัจจุบัน คือวัฒนธรรมการสวมหมวก ซึ่งเรารับมาจากชาวตะวันตก เพื่อเป็นการแสดงว่าเราเองก็เจริญเทียมเท่ากันแล้ว เราก็ต้องพัฒนาการแต่งกาย กริยามารยาทก็ต้องเลียนแบบเขามา การทักทายเราก็อาจได้ยินมาบ้างจากบทพูดในภาพยนตร์ที่ย้อนยุคไปสมัยนั้น เช่น อรุณสวัสดิ์ สายันต์สวัสดิ์ ราตรีสวัสดิ์ค่ะ ท่านชายกลาง อะไรทำนองนี้


ครูเองสมัยเป็นเด็กนักเรียนก็เคยสวมหมวกกะโล่สีขาวหรือไม่ก็หมวกปีกสีขาวอยู่ระยะหนึ่ง ทำหล่นหายไปก็คงจะหลายใบ แล้วก็จำไม่ได้ว่าเขาเลิกกันตอนไหน แต่ระเบียบการแต่งกายแบบสวมหมวกนี้เริ่มใน พ.ศ. 2499 ระเบียบการแต่งกายของนักเรียนเราก็ยังยึดถือแบบนั้นอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน จะยกเลิกไปก็คือวัฒนธรรมการสวมหมวกนี่แหละ


จะแปลกไปก็คือการเรียนการสอนในสมัยนั้น (พ.ศ. 2499) ที่เขาแยกย่อยจุดประสงค์ในการเรียนการสอนชั้นอนุบาล ซึ่งคาดกันว่า การสอนนั้นก้าวล้ำหน้าไปถึง 20 ปีทีเดียว และในสมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียนอนุบาลแพร่หลายเหมือนในสมัยนี้ ครูอยากให้ดูว่าเด็กในสมัยนั้นเขาต้องทำอะไรบ้าง และครูในสมัยนั้นต้องสั่งสอน อบรมลูกศิษย์กันแบบไหน

1. อบรมความเป็นระเบียบเรียบร้อย ตลอดจนการเล่นและร้องเพลง
2. อบรมให้มีความประพฤติดี มีสติปัญญา เฉลียวฉลาด ไม่ได้มุ่งแต่จะให้อ่านออกเขียนได้
3. ทำให้เด็กมีอารมณ์ชื่นบานผ่องแผ้วอ่อนโยน โดยที่ได้พบเห็นแต่ความสวยสดงดงาม ตลอดจนสิ่งที่ดี งามอันเป็นที่เจริญตา เจริญใจ เช่น ได้เห็นสีต่าง ๆ อันเป็นสีที่เย็นตาเย็นใจ ได้เห็นของสวย ๆ งาม ๆ เช่น ดอกไม้ รูปภาพ ธรรมชาติที่งดงาม สถานที่และเครื่องใช้ เห็นสิ่งที่เป็นระเบียบเรียบร้อยสะอาดตา
4. หัดให้คิด ให้สังเกต ค้นคว้าหาเหตุด้วยตนเอง เพื่อสร้างความเจริญงอกงามให้แก่จิตใจของเด็ก ปลูกฝังอันดีงาม โดยจัดทำตัวอย่างที่ดีติดตาติดใจเด็กไป
5. ปลูกฝังให้รู้จักรักสวยรักงาม เช่น แต่งกายเรียบร้อย มีระเบียบ สะอาด
6. ให้รู้จักเข้าแถวตามลำดับ ใครมาก่อนมาหลัง เพื่อให้รู้จักสิทธิ์ของผู้มาก่อน มาหลัง
7. ปลูกฝังให้เป็นคนอดทนต่อความไม่พอใจ ความโกรธ ความหิวและเพื่อความพร้อมเพรียง
8. รู้จักเคารพต่อคำสั่ง ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ
9. ปลูกฝังให้เป็นผู้มีใจดี มีเมตตากรุณาที่เป็นคุณธรรมอันสูงสุดของมนุษย์และเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เช่น ให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เอาเปรียบ มีน้ำใจเป็นนักกีฬา ให้มีโอกาสได้เลี้ยงสัตว์ เช่น กระต่าย เป็ด ไก่ นก ฯลฯ เด็กจะได้มีใจอ่อนโยน รักใคร่เอ็นดูสัตว์ที่ตนเลี้ยง ทำให้ไม่เป็นคนใจดำอำมหิต โหดร้าย
10. หัดให้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้เด็กชายรู้จักความเป็นสุภาพบุรุษไม่ข่มเหงผู้อ่อนแอกว่าตน ไม่เอารัดเอาเปรียบ โอบอ้อมอารี ไม่ทำลายของที่เป็นสาธารณประโยชน์ ไม่ขีดเขียนตามฝาและตู้โต๊ะ
11. อบรมให้มีนิสัยไม่เย่อหยิ่งจองหอง ทุกคนต้องมีสิทธิ์เสมอกันไม่ว่าใครจะเกิดมาในสกุลใด ให้รักกันดังพี่น้อง ให้เด็กเห็นคุณค่าของการเป็นคน เข้าไหนเข้าได้ ไม่เป็นที่รังเกียจของหมู่คณะให้รู้ว่าเกียรติยศนั้นอยู่ที่ความประพฤติดี มีมารยาทสุภาพ มีใจโอบอ้อมอารี เป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไป
12. อบรมให้มีนิสัยสุภาพอ่อนโยนไม่ใช่อ่อนแอ แข็งแรงไม่ใช่แข็งกระด้าง พูดจาอ่อนหวานน่าฟังไม่เอะอะตึงตัง มีมานะบากบั่นกล้าหาญ
13. มีศีลธรรมประจำใจ ไม่ทำลายประโยชน์ของผู้อื่นและส่วนรวมเพื่อตน ไม่ปรักปรำใส่ร้ายผู้อื่นเพื่อให้ตนพ้นผิด มีเมตตากรุณาเห็นอกเห็นใจในความทุกข์ของเพื่อนร่วมโลก รู้จักเสียสละประโยชน์ตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
14. หัดให้มีความซื่อสัตย์ กล้ารับผิด รู้จักบังคับใจตนเอง เกลียดและมีความละอายที่จะทำความชั่ว
อบรมให้เกิดความรักเกียรติของโรงเรียน รักหมู่ รักคณะ รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ
15. สอนให้มีความภูมิใจในชาติของตน ปฏิบัติตนตามหน้าที่พลเมืองดี เชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา มีความเคารพในองค์พระมหากษัตริย์
16. ให้ใช้วาจาอ่อนหวาน รู้จักกล่าวคำสวัสดี ขอบคุณ ขอโทษ รู้จักให้เกียรติแก่ผู้ที่ทำความดี เช่น ตบมือ
17. ให้รู้จักขนบธรรมเนียมและประเพณีของไทย เช่น การเคารพ การถอดหมวก และรองเท้าก่อนขึ้นบ้านและโรงเรียน
18.ให้เด็กมีอิสรภาพ รู้จักรับผิดชอบและเคารพในสิทธิของผู้อื่น เพื่อส่งเสริมให้เกิดนิสัยอันดีงาม เช่น ให้มีตู้เก็บสิ่งของของตนเป็นส่วนสัด รวมทั้งเครื่องใช้ในการเรียน การฝีมือ จะได้รู้จักรับผิดชอบและเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน
19. ส่งเสริมให้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ฝึกให้รู้จักการประหยัดทรัพย์ รู้จักเก็บ รู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์
20. หัดให้กล้าในที่ควร เช่น ให้แสดงตัวบนเวทีในการเล่น และการเรียน ซึ่งเป็นอุปนิสัยประจำตัวเด็กอยู่แล้ว คือเด็กชอบเด่น
21. ให้รู้จักระเบียบของชีวิต เช่น กิน นอน เรียน เล่น เป็นเวลา ให้รู้จักแบ่งเวลาและการใช้เวลา
22. อบรมให้รู้จักสิ่งที่ล้อมรอบ เช่น บิดามารดา พี่ป้าน้าอา เพื่อนบ้าน สัตว์เลี้ยง พื้นดิน ต้นไม้และธรรมชาติอันสวยงาม ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เช่น พาไปชมสวนสัตว์ สวนพฤกษชาติ
23. หัดให้พึ่งตนเอง เช่น ปฏิบัติกิจส่วนตัวได้เอง มีแต่งตัว รับประทานอาหาร อาบน้ำ ปูที่นอน
24. การรับประทานอาหาร ฝึกไม่ให้รับประทานมากอย่าง และเหมือนกันทั้งคนมีคนจน
25. ควบคุมมารยาทในเวลารับประทาน เวลานอน และเวลาเล่น เช่น ไม่ให้รับประทานมูมมาม สกปรกเปรอะเปื้อน เวลานอนไม่ส่งเสียงอึกทึกให้เป็นที่รำคาญของผู้อื่น เป็นการหัดให้รู้จักเกรงใจผู้อื่น ไม่เอาแต่ใจตนฝ่ายเดียว
26. ฝึกให้รู้จักการประหยัด รู้จักเก็บ รู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ เช่น การเล่นอะไรหรือทำอะไรแล้วให้เก็บและทำความสะอาด ไม่แต่งกายหรูหรา
27. ให้เด็กได้มีการร้องเพลง รำละคร เต้นรำ กระโดดโลดเต้น เพื่อความสนุกสนานรื่นเริงและอนามัยที่ได้ออกกำลัง และเปลี่ยนอิริยาบท


ลูกๆจะเห็นข้อปฎิบัติของเด็กอนุบาลในสมัยนั้นนะคะ ว่าเขาต้องทำอะไรบ้าง เรียนอะไรบ้าง อายุของเด็กอนุบาลในสมัยนั้นคือ 3ปีครึ่ง ถึง 6 ปีค่ะ มีเรื่องให้เขาทำในโรงเรียนเมื่อแยกย่อยออกมาแล้ว ตั้ง 27 ข้อ เดี๋ยวนี้ที่ลูกต้องเรียน ต้องปฎิบัติ ต้องฝึกฝนอยู่ มีอะไรบ้างคะ
source: http//gold.pbru.ac.th/rLocal


Posted by ครูพเยาว์ at 9:00 AM