Daisypath Anniversary tickers

รอบรั้ว บ้านที่ต้องซ่อมแซมและพัฒนา

Wednesday, October 13, 2010

ครูได้ดูหนังเพราะเกิดไปเจอเข้าโดยบังเอิญหลายๆครั้ง จบแล้วก็แล้วไปเป็นส่วนมาก แต่บางเรื่องต้องจำเอาไว้ วันหลังถ้ากลับมาฉายอีกก็จะได้ตั้งใจดู วันนี้มีหนัง 2 เรื่อง ที่ครูดูแล้วแม้จะไม่ปะติดปะต่อเท่าไหร่ ก็พอจะมีเรื่องราวให้เอามาคิดได้ เรื่องที่ได้ดูคือ Invictus ที่ดำเนินเรื่องในประเทศอัฟริกาใต้ อีกเรื่องคือ The perfect catch (Fever pitch) เป็นหนังรัก- ตลกของอเมริกัน ทั้งสองเรื่อง เนื้อหาก็ไม่มีอะไรสำคัญมาก หากแต่ว่าเบื้องหลังบางอย่างในเรื่อง ที่เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยนั่นที่สำคัญกว่า

ในเรื่อง Invictus อินวิคตัส ไร้เทียมทาน ชื่อในภาษาไทย เรื่องจะพูดถึงการแข่งรักบี้ซึ่งอัฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพในปี 1995 ในขณะนั้นยังมีการเหยียดผิวอย่างรุนแรงอยู่ แมนเดลลาเอง อยากให้คนในประเทศลืมเรื่องในอดีตกันให้หมด แล้วก็ร่วมกันสร้างประเทศให้เจริญต่อไป เขาจึงสนับสนุน ให้กำลังใจทีมรักบี้ของอัฟริกาใต้ ผู้เล่นส่วนมากเป็นคนผิวขาว ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าจะเก่งกาจอะไรนัก การให้กำลังใจนั้น เป็นส่วนสำคัญในการต่อสู้กับทีมตรงข้าม ซึ่งทีมที่สำคัญคือทีม All blacks จากนิวซีแลนด์ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งการที่จะปรองดองให้คนอัฟริกาใต้ซึ่งเป็นคนผิวดำส่วนมากเลิกเกลียดชังคนผิวขาว ที่ทำให้เห็นในหนังก็คือ ส่งทีมรักบี้ไปสอนเด็กนักเรียนให้เล่นกีฬานี้ เหมือนกับยื่นมือคนผิวขาวให้คนดำจับมือเอาไว้ กีฬาเป็นเครื่องประสานใจของคนในชาติ เพราะนักกีฬาต้องสู้ให้กับประเทศที่เป็นของทุกคน ไม่ว่าผิวดำหรือขาว ที่สำคัญการให้กำลังใจกับทีมรักบี้ของเมนเดลาก็คือเล่าเรื่องที่ตัวเองติดคุกอยู่ 27 ปี.....อะไร....เป็นแรงขับ อะไร...เป็นแรงบันดาลใจให้เขาอดทนยืนรอคอยได้ถึงขนาดนั้น เขากล่าวถึงบทกวีชิ้นหนึ่งของชาวอังกฤษที่เขียนโดย William Ernest Henley บทกวีชิ้นนั้นคือ Invictus ซึ่งอันที่จริงน่าจะแปลตามความรู้สึกว่า ไม่ยอมแพ้เสียมากกว่า เพราะเป็นแรงขับเคลื่อนของจิตวิญญาณที่ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคต่างๆ เป็นบทกวีที่ทำให้แมนเดลลาฮึดสู้

Invictus

Out of the night that covers me,
Black as the pit from pole to pole,
I thank whatever gods may be
For my unconquerable soul.

In the fell clutch of circumstance
I have not winced nor cried aloud.
Under the bludgeonings of chance
My head is bloody, but unbowed.

Beyond this place of wrath and tears
Looms but the Horror of the shade,
And yet the menace of the years
Finds and shall find me unafraid.

It matters not how strait the gate,
How charged with punishments the scroll,
I am the master of my fate:
I am the captain of my soul.

หนังจบลงด้วยดี จะเห็นคนทั้งประเทศดีใจ ไชโยโห่ร้องไปทั่วประเทศเมื่อเห็นทีมของตัวเองชนะ หนังเรื่องนี้สอนเราให้ต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ แม้ว่าดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ คือความปรองดองของคนในประเทศ การแข่งขันรักบี้ แต่ท้ายสุด ความปรองดองของคนในชาติก็มีให้เห็น ทีมรักบี้ก็คว้าถ้วยชนะเลิศไปครองได้...อยากให้ไปดูนะคะ แล้วเอามาคิด การปรองดองของคนในชาติ คนไทยเราไม่น่าจะรุนแรงเหมือนกับประเทศอัฟริกาใต้ นั่นมันคนละเผ่าพันธุ์ คนของเรานี่เชื้อชาติเดียวกัน ภาษาเดียวกัน ไม่ได้ต่างอะไรกันเลย คิดให้ได้...ว่าแตกแยกกันเพราะอะไร...ขอแค่คิดอย่างเดียว...ตั้งสติให้ดี อย่าเชื่อใครง่ายๆ ยิ่งนักปลุกระดมแล้ว...ต้องตั้งคำถามในใจของตัวเองให้มาก...กาลามสูตร เรื่องอย่าเพิ่งเชื่อ...ต้องเอามาประกบกับคำที่เข้าหูทุกครั้ง...พวกนี้เก่งเกินคนธรรมดาอยู่แล้วในการโน้มน้าวใจ…

อีกเรื่องหนึ่งคือ The perfect catch เป็นเรื่องของคนที่ชื่นชอบกีฬาที่เป็นทีมของตัวเอง ถ้าจะเทียบกับกีฬาบ้านเราก็คือ ฟุตบอล ที่เรามีสโมสรของจังหวัดทั่วประเทศ อย่างอุดรธานีก็มีทีมของเราอยู่ คืออุดรธานี เอฟซี (ยักษ์แสด) เมื่อก่อนชื่อ อุดรไจแอนท์เสียด้วย ครูเคยเขียนไปครั้งหนึ่งแล้ว เพราะไม่เห็นด้วยที่จะตั้งชื่อไจแอนท์ หรือแม้แต่ยักษ์แสดก็เถอะ เพราะท้าวเวสสุวรรณท่านไม่ใช่เป็นยักษ์ธรรมดา ท่านเป็นท้าวจตุโลกบาล เป็นผู้คุ้มครองดูแลโลกมนุษย์ คนจีนนับถือท่านเป็นไฉ่ซิ่งเอี้ย เป็นเทพแห่งขุมทรัพย์ เป็นมหาเทพแห่งความร่ำรวยทีเดียว แล้วเรามาเรียกท่านว่ายักษ์แสดเสียเฉยๆ ครูเคยคิดว่าจะเดินไปบอกสักวัน ขอเสนอว่าให้เปลี่ยนเป็นทีม The Guardian แทน ความคิดเห็นก็คือคงอยากจะตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษกัน เพราะดูทีมไหนๆก็เอาแต่ภาษาอังกฤษกันหมด ครูก็คิดว่า ผู้คุ้มครองที่ตรงกับภาษาอังกกฤษก็คือ The guardian ตรงตัวเลย นอกเรื่องไปเยอะแล้ว กลับไปที่หนังเรื่อง The perfect catch กันต่อ เรื่องนี้ กีฬาเป็นชีวิตจิตใจของคนอเมริกันอย่างที่เรานึกไม่ถึง เมืองบอสตันเป็นเมืองหลวงของรัฐแมสซาจูเซตส์ มีทีมเบสบอล เรด ซอคส์ ที่ยืนยงมาตั้งแต่ปี 1901 นั่นก็ฝังรากลึกลงไปไม่รู้ว่ากี่รุ่นแล้ว จะเห็นว่าคนที่เข้าไปชมการแข่งขันนั่นแน่นสนามทุกครั้ง เพราะเขาถือว่านั่นเป็นทีมของเขา เขาเป็นส่วนหนึ่งของทีมทีเดียว และตั้งกันเป็นชนชาติเรด ซอคส์ (ชื่อทีม) เก้าอี้ที่นั่งชมในสนามส่วนหนึ่งก็เป็นเหมือนกับมรดกกันทีเดียว ถ่ายทอดกันมา ทีนี้อะไรในหนังเรื่องนี้ที่สอนให้หันมาดูตัวเราเองบ้าง ความรักค่ะ ความรักอย่างแน่นแฟ้น...ในทีมของตัวเอง...เราได้สร้างความรักในทีมของเราบ้างหรือเปล่า มีใครไปดูทีมของจังหวัดเราบ้าง แน่นสนามบ้างมั๊ย...ทีมเราแข่งชนะแล้ว ได้แห่ทีมให้ชาวเมืองได้ดีใจกันบ้างหรือเปล่า...ครูไม่เคยเห็นเลยนะ ในสนามก็ดูโหรงเหรงเต็มที....แล้วเราจะปลูกความรักในกีฬาของคนในจังหวัดได้อย่างไร...ยาก..ยากมากกกกค่ะ....จุดเริ่มต้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากการปลูกฝังตั้งแต่เด็ก....เราไม่เห็นการแข่งขันแบบเหย้าเยือนของโรงเรียนต่างๆ (ซึ่งจำเป็นต้องมี) เราไม่ได้เห็นการเอาใจใส่อย่างจริงจังเลย ที่ทำอยู่นี่ ดูเหมือนจะทำเพื่อเงิน เพื่ออาชีพนักฟุตบอล เลยตั้งเป็นสโมสรกันขึ้นมา มีนายทุน มีผู้จัดการทีม หานักกีฬาแบบซื้อๆขายๆกัน ฯลฯ....เอาละนั่นก็เป็นจุดหมายปลายทางที่ใครๆก็อยากจะเห็น แต่ต้นทางล่ะ...หันกลับไปดู ครูว่ามีแต่ความเวิ้งว้างว่างเปล่า ไม่มีที่มา...เรากลับไปเริ่มต้นได้ค่ะ เริ่มตั้งแต่เด็กๆกันเลย นับหนึ่งกันตั้งแต่วันนี้ แล้วเราก็จะได้พลเมือง...ชาวอุดรธานีที่ใส่ใจต่อทีมกีฬาของเขาเองตามมา...เอาละครูไม่ได้เล่าเรื่องหนังให้ฟัง อยากให้ไปหาดูกันเอง สนุกกว่าครูเล่าให้ฟังแน่ๆ...หนังจบแล้ว ก็หันมาดูตัวเราเองบ้าง เผื่อเห็นมุมมองที่ต่างออกไป และจะได้กลับมาพัฒนากีฬาบ้านเราได้ค่ะ