Daisypath Anniversary tickers

รอบรั้ว เรื่องเล่า เขื่อนของกุ่นและต้าอวี่

Tuesday, October 19, 2010


ช่วงนี้บ้านเราน้ำกำลังไหลหลากท่วมบ้านเรือนไปทั่ว ก็เกิดจากฝนที่ตกลงมาหนักเป็นเวลาต่อๆกันหลายวัน ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ น้ำในเขื่อนพร่องจนเกือบแห้ง จนต้องห้ามชาวบ้านปลูกข้าวก่อนกำหนด เพราะกลัวว่าน้ำจะมีไม่พอ แต่พอถึงหน้าฝน กลายเป็นว่ามาจนล้นเขื่อน เรื่องนี้ครูมีนิทานจากจีนมาให้อ่าน ซึ่งที่จริงก็แฝงเอาไว้กับประวัติศาสตร์จีน ถ้าอ่านในแนวประวัติศาสตร์เรื่องก็จะออกมาในเรื่องคนที่เก่งในเรื่องชลประทาน แต่เพื่อไม่ให้เรื่องนี้หายไป เขาจึงเล่าในแนวนิทาน ซึ่งก็ต้องแอบเอาของวิเศษเข้าไปช่วยในการแต่งเรื่องให้คนติดตาม หรือเด็กๆได้ตาโตตอนฟังนิทาน เรื่องมีอยู่ว่า

ในประเทศจีน เรื่องราวเกี่ยวกับ “อวี่”แก้ปัญหาอุทกภัยเป็นที่รู้กันโดยทั่วไป แต่ท่านทราบไหมว่า “กุ่น” ผู้เป็นบิดาของ“อวี่”ก็เป็นวีรบุรุษอีกคนหนึ่งที่สร้างคุณงามความดี ในการแก้ปัญหาอุทกภัยเช่นกันค่ะ
ในสมัยดึกดำบรรพ์ของจีน เกิดภัยน้ำป่าไหลหลาก ต่อเนื่องกันถึง 22 ปี พื้นพิภพและพืชพันธุ์ธัญญาหารต่าง ๆ จมน้ำหมด ชาวบ้านพลัดที่นาคาที่อยู่ อีกทั้งยังถูกคุกคามจากสัตว์ร้ายด้วย จำนวนประชากรจึงลดลงอย่างรวดเร็ว “เหยา”ผู้เป็นกษัตริย์ทรงห่วงใยทุกข์สุขของประชาชน จึงเรียกหัวหน้าเผ่าชนต่าง ๆ มาประชุม เพื่อหาผู้สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม ในที่สุด “กุ่น”ก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ทำหน้าที่นี้ “กุ่น” รับคำสั่งนี้ไว้ ต่อหน้าอุทกภัยที่ร้ายแรง เขาขบคิดตั้งนาน จึงนึกถึงสุภาษิตจีนประโยคที่ว่า “พลทหารมานายพลต้าน น้ำไหลมาดินกั้น” จากประโยคนี้ เขาได้แนวความคิดที่ดีคือ สร้างทำนบล้อมรอบหมู่บ้าน ก็จะสามารถป้องกันไม่ให้น้ำท่วม หมู่บ้านได้ แต่ว่า ที่ไหนก็มีแต่น้ำป่าไหลหลาก จะไปหาก้อนหินและดินที่ใดมาสร้างทำนบได้เล่า ขณะที่“กุ่น” กำลังกลุ้มใจอยู่นั้น มีเต่าวิเศษตัวหนึ่งคลานขึ้นมาจากน้ำและบอกว่า “บนสวรรค์มีสิ่ง วิเศษชนิดหนึ่งเรียกว่า ซีหรั่ง ถ้าเธอได้ซีหรั่งแล้ว โปรยไปสู่พื้นพิภพ ซีหรั่งก็จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นเนินสูงและตั้งเป็นเขื่อนกั้นน้ำ ” “กุ่น”ฟังแล้วดีใจมาก จึงลาเต่าวิเศษตัวนั้น เดินทางไปภาคตะวันตกที่ไกลแสนไกล

ด้วยความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามานานวัน “กุ่น” จึงไปถึงภูเขาคุนหลุนที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกและพบเทพเจ้า เขาอ้อนวอนขอเทพเจ้าประทานซีหรั่งให้ เพื่อนำไปต้านภัยน้ำหลาก ช่วยชีวิตของชาวบ้าน แต่พระองค์ทรงปฏิเสธ “กุ่น”ห่วงใยทุกข์สุขของชาวบ้านที่กำลังเดือดร้อนจากอุทกภัย จึงถือโอกาสที่องครักษ์ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ ไปขโมยสิ่งวิเศษที่เรียกว่า “ซีหรั่ง” จนสำเร็จ เมื่อ “กุ่น” กลับถึงประเทศตนที่อยู่ทางตะวันออก ก็รีบนำซีหรั่งโปรยในน้ำ อย่างที่เต่าวิเศษตัวนั้นพูด พอโปรยซีหรั่งในน้ำ ซีหรั่งก็เติบโตขึ้นรวดเร็ว น้ำขึ้น1เมตร ซีหรั่งก็โตขึ้น 1 เมตร น้ำขึ้น 10 เมตร ซีหรั่งก็ขึ้น 10 เมตร ไม่นาน น้ำก็ถูกกั้นอยู่นอกเขื่อน ชาวบ้านที่พ้นจากอุทกภัยดีใจมาก ทุกคนรีบทำไร่ไถนา เพื่อชดเชยความเสียหายจากภัยน้ำท่วม

เทพเจ้าทรงทราบเรื่องที่ “กุ่น” ขโมยซีหรั่งไป จึงมีโองการให้ทหารสวรรค์ไปเอาซีหรั่งกลับคืนมา เมื่อซีหรั่งถูกนำไปจากพื้นพิภพแล้ว น้ำป่าไหลหลากจึงทำลายเขื่อน น้ำท่วมไร่นา ชาวบ้านเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก กษัตริย์เหยาทรงกริ้วมาก พระองค์ตรัสว่า “กุ่นรู้จักแต่สร้างทำนบกั้นน้ำอย่างเดียว เจ้าไม่รู้ว่า ถ้าทำนบพังลงแล้ว จะสร้างภัยที่ร้ายแรงกว่า ไปแก้ปัญหาอุทกภัย 9 ปีก็ยังไม่สำเร็จ น่าจะลงโทษประหารชีวิต” กษัตริย์ “เหยา” โปรดให้ขัง “กุ่น” ที่เขาอวี่ซันสามปีและประหารชีวิตเสีย ก่อนถูกลงโทษ กุ่นก็ยังคิดถึงชาวบ้านที่เดือดร้อนจากภัยน้ำท่วม

อีก20ปีต่อมา กษัตริย์เหยาได้โอนราชบัลลังก์ให้ “ซุ่น” กษัตริย์“ซุ่น”ให้“ต้าอวี่”บุตรของกุ่นไปแก้ปัญหาอุทกภัยต่อ เทพเจ้าก็ ประทานซีหรั่งให้ต้าอวี่ ตอนแรก ต้าอวี่ก็ใช้วิธีสร้างทำนบกั้นน้ำเช่นเดียวกับบิดา แต่เมื่อทำนบ สร้างเสร็จแล้ว น้ำที่ถูกกั้นไว้กลับรุนแรงกว่า ทำนบมักจะถูกซัดกระหน่ำจนพังลงมา ทดลองมาหลายครั้ง ต้าอวี่จึงได้รู้ว่า “การแก้ปัญหาอุทกภัย วิธีกั้นอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องควบคู่กับวิธีการระบายน้ำด้วย” ต้าอวี่จึงให้เต่าวิเศษตัวหนึ่งขนซีหรั่ง ตามเขาไป ไปถึงพื้นที่ต่ำ ก็ใช้อิทธิฤทธิ์ของซีหรั่งทำให้ที่อยู่อาศัยของชาวบ้านเป็นเนินสูง พร้อมกันนี้ เขาอาศัยการนำร่อง ของมังกรวิเศษตัวหนึ่ง นำชาวบ้านไปขุดคลองระบายน้ำให้ไหลลงสู่ทะเล

เล่ากันว่า ต้าอวี่ใช้อิทธิฤทธิ์ของตนผ่าภูเขา หลงเหมินเป็นสองส่วน ให้น้ำในแม่น้ำเหลืองไหลจากหน้าผา ไปสู่ข้างล่าง กลายเป็นช่องแคบหลงเหมิน ต้าอวี่ยังผ่าภูเขาที่อยู่ระหว่างทางระบายน้ำให้เป็นหลายส่วน น้ำจึงไหล เลี้ยวลดคดเคี้ยวไปสู่ทะเลตุงไห่ ทั้งนี้ก็เป็นที่มาของช่องแคบ “ซานเหมิน” นานแสนนานมาแล้ว ช่องแคบหลงเหมินกับช่องแคบซานเหมินล้วนเป็นสถานที่ ที่ขึ้นชื่อลือชาเพราะ น้ำไหลเชี่ยวและมีทัศนียภาพสวยงาม

เรื่องราวเกี่ยวกับต้าอวี่แก้ปัญหาอุทกภัยยังมีมากมายหลายเรื่อง เล่ากันว่า ต้าอวี่แต่งงานได้เพียง 4 วันก็รับคำสั่งไปแก้ปัญหาน้ำท่วม ในช่วงเวลา 13 ปี เขาผ่านหน้าบ้านสามครั้ง แต่ไม่เคยเข้าบ้านเลย ครั้งหนึ่ง ขณะที่เขาผ่านหน้าบ้านนั้น ภรรยาเขาได้คลอด ลูกชายชื่อ ”ฉี่” พอดี แม้ต้าอวี่ได้ยินเสียงร้องไห้ของทารกแล้ว แต่ก็อดกลั้นใจไว้ไม่แวะเข้าบ้านของตนเขาอดทนต่อความยากลำบากและความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเป็นเวลานาน ต้าอวี่จึงประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาอุทกภัย แม่น้ำ สายใหญ่มีทางระบายน้ำ ลำธารสายน้อยสายใหญ่บรรจบกันไหล ไปสู่ทะเล ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข เพื่อขอบคุณต้าอวี่ ประชาชนจึงเคารพนับถือต้าอวี่เสมือนหนึ่งกษัตริย์ กษัตริย์ซุ่นก็ทรงยกราชบัลลังก์ให้ต้าอวี่ เนื่องจากเขาได้สร้างคุณ งามความดีในการพิชิตอุทกภัย

ในสังคมสมัยดึกดำบรรพ์ที่กำลังการผลิตค่อนข้างต่ำ ประชาชนร่วมแรงร่วมใจต่อสู้กับน้ำป่าไหลหลาก เทพนิยายก็แสดง ให้เห็นความปรารถนาที่จะพิชิตภัยธรรมชาติของประชาชน “กุ่น”กับ “ต้าอวี่”จึงเป็นวีรบรุษตัวแทนที่แสดงถึงความปรารถนา ของประชาชน ในเทพนิยายดังกล่าวนี้ ประสบการณ์และอุปสรรคต่าง ๆ ในกระบวนการแก้ปัญหาอุทกภัยของ “กุ่น”และ“ต้าอวี่”ก็เป็นประสบการณ์ในการต่อสู้กับภัยน้ำท่วมของตน ตามบันทึกในประวัติศาสตร์ บรรพบรุษของเราอาศัยภูมิปัญญา และประสบการณ์ของตน สรุปวิธีการจัดการปัญหาอุทกภัยคือ ต้องสร้างทำนบกั้นและขุดคลองระบายน้ำ เทพนิยายเกี่ยวกับ การแก้น้ำท่วมของ “กุ่น”และ “ต้าอวี่”ก็เล่าขานกันมาจนบัดนี้

ภาพ//wikipedia.org
เรื่อง//CRI/ChinaABC