รอบรั้ว พุทธศาสนา ประวัติพุทธสาวก
Saturday, October 13, 2007
พระโสณโกฬิวิสะ
_______โสณโกฬิวิสะ เกิดในตระกูลอุสภาเศรษฐีในเมืองจัมปานคร เป็นผู้เพียบพร้อมไปด้วย ทรัพย์สมบัติในนครแทบทั้งสิ้น สีผิวของท่านมีสีเหมือนทองคำและละเอียดอ่อน ด้วยเหตุนี้คนทั่วไปจึงขนานนามท่านว่า โสณะ ( แปลว่า ความงาม )
_______ในสมัยนั้นพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปเผยแผ่ธรรมะในกรุงราชคฤห์พระเจ้าพิมพิสารรับสั่งให้ โสณโกฬิวิสะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ท่านจึงไปยังกรุงราชคฤห์พร้อมด้วยชาวบ้านจำนวนมากและมีโอกาสได้ฟังธรรม บังเกิดความเลื่อมใสจึงได้ขอบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา
_______หลังจากโสณโกฬิวิสะได้อุปสมบทแล้ว ท่านได้ศึกษาธรรมในสำนักของพระพุทธเจ้าซึ่งอยู่ใน สีตวัน ปฏิบัติธรรมโดยหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับหมู่คณะ หมั่นประกอบความเพียรโดยตั้งจิตไว้ว่า เราควรฝึกปฏิบัติธรรมให้ถึงที่สุด แม้ร่างกายจะได้รับความลำบาก เพื่อการบรรลุธรรมของพระศาสดา ท่านโสณ โกฬิวิสะ มุ่งมั่นทำความเพียรจนร่างกายได้รับความทุกข์ เช่น ฝ่าเท้าพุพอง เป็นต้น แต่ก็ไม่สามารถ บรรลุธรรมได้ เพราะท่านทำความเพียรมากเกินไป จึงเกิดการท้อแท้และคิดว่า แม้เราพยายามอยู่อย่างนี้ก็ไม่อาจบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ไม่มีประโยชน์อะไรกับการบรรพชาเราจะลาสิกขาเพื่อทรัพย์สมบัติและทำบุญดีกว่า
______พระพุทธเจ้าทรงทราบวาระจิตของท่านโสณโกฬิวิสะ จึงเสด็จไปให้โอวาท โดยทรงแสดงโอวาทที่เปรียบเหมือนพิณ 3 สาย คือ การปฏิบัติธรรมที่เพียรพยายามมากเกินไปจนร่างกายได้รับความลำบากไม่อาจบรรลุธรรมได้เปรียบเหมือนสายพิณที่ตึงเกินไป เสียงไม่ไพเราะและสายอาจจะขาดได้ ในขณะเดียวกันการปฏิบัติธรรมที่ย่อหย่อนไม่ขยันเพียร ก็ไม่สามารถบรรลุธรรมได้เช่นกัน เปรียบเหมือนสายพิณที่หย่อนเกินไป เสียงไม่ไพเราะ ดังนั้นการปฏิบัติธรรมควรยึดปฏิบัติทางสายกลางโดยการปฏิบัติที่ไม่เคร่งเกินไป ไม่ย่อหย่อนเกินไป ควรปฏิบัติให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย สติปัญญาของตนมีความเพียรสม่ำเสมอเปรียบเหมือนสายพิณที่ตั้งได้พอดีไม่ตึงหรือหย่อนเกินไปเสียงไพเราะ
_______พระโสณโกฬิวิสะ ได้ฟังโอวาทของพระพุทธเจ้าและได้ประกอบความเพียรอย่างสม่ำเสมอ ถือปฏิบัติตามแนวทางสายกลางในที่สุดก็บรรลุเป็นพระอรหันต์
_______พระโสณโกฬิวิสะ ได้ชื่อว่าเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเพราะท่านสามารถชักนำชาวบ้านให้หันมานับถือพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก
พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระโสณโกฬิวิสะว่าเป็นผู้เลิศในด้านปรารภความเพียรในพระพุทธศาสนา