Daisypath Anniversary tickers

รอบรั้ว หน้าที่พลเมือง

Monday, June 6, 2011


เวลามันผ่านไปอย่างรวดเร็ว...ยิ่งเดี๋ยวนี้ ยิ่งเร็วขึ้นไปอีก ทุกอย่างมันฉับพลันทันใด...ครูเขียนเว็บ “รอบรั้วโรงเรียน” มาถึงวันนี้ครบ 4 ปีเต็ม โชคดีที่มีคนคอยนับให้ทุกวัน ถ้าไม่มีครูก็ยังคงคิดว่าไม่ยาวนานถึงขนาดนี้ ช่วงปีนี้ครูยังไม่ได้เขียนอะไรเลย เพราะเรื่องต่างๆที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน เขียนมาครบถ้วนแล้ว ยังเหลือแค่หน้าที่พลเมือง ที่ยังต้องพูดต่อไป

หลายอย่างที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเรา ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับ “หน้าที่พลเมือง” ยังไม่ได้สอนกันในบทเรียน แต่ครูอยากเกริ่นเอาไว้ก่อน ว่าสิ่งที่เราเห็น และเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของประเทศไทย เป็นประวัติของเมืองอุดรธานีของเราด้วย นั่นคือการเผาบ้านเผาเมืองที่กรุงเทพฯ เผาศาลากลางหลายจังหวัด อุดรธานีของเรา ศาลากลางก็โดนเผา สำนักงานเทศบาลนครอุดรธานีและรถยนต์อีกนับสิบคันยังนอนกองเป็นซากอยู่ เงินที่ต้องเอามาสร้างและซ่อมใหม่น่าจะเกือบ 500 ล้านบาท นี่ยังไม่นับจำนวนรถยนต์ของทางราชการนะ

เป็นหน้าที่ “พลเมือง” หรือเปล่าที่ออกมาเผาทำลายกันขนาดนั้น พลเมืองมีความหมายอย่างไรคะ ต่างจากราษฎร ประชาชน คนธรรมดาอย่างไร...ต่างกันค่ะ ในความหมายที่ลึกลงไป พลเมือง หมายถึง “พละกำลังของประเทศ” หนักแน่นกว่า ราษฎรและประชาชน ถ้าเรามีราษฎรหรือประชาชน ที่รู้ถึง “หน้าที่พลเมือง” เราจะเป็นประเทศที่ต้องก้าวหน้ามากกว่านี้...ตอนนี้เรามี คนในประเทศของเราเอง บ้านเราเอง มาจุดไฟเผาเมืองตัวเอง เนื่องมาจากความไม่พอใจของผู้ชักนำของเขาจะสาเหตุอะไรก็แล้วแต่ แต่ก็ทำลายบ้านเมืองไปแล้ว...ครูจะสอนต่อไปในเนื้อหาซึ่งคงจะไม่กล่าวถึงเรื่องนี้อีกค่ะ

แต่ก่อนที่จะเข้าบทเรียนหน้าที่พลเมือง ครูขอทำความเข้าใจ คำศัพท์เบื้องต้นที่จะต้องเจอในบทเรียนต่อไป 3 คำสั้นๆ คือ สิทธิ เสรีภาพและหน้าที่....สิทธิคือ อำนาจหรือผลประโยชน์ของบุคคลที่กฎหมายให้ความคุ้มครอง เรามีสิทธิที่จะทำอะไร อย่างไร ได้แค่ไหน...เสรีภาพ หมายถึงความมีอิสระในการกระทำของบุคคลที่อยู่ในขอบเขตของกฎหมาย เรามีเสรีภาพในการพูด การเขียน การกระทำได้แค่ไหน อย่างไรถึงจะไม่เป็นการล่วงเกินผู้อื่น และหน้าที่ หมายถึงภาระหน้าที่รับผิดชอบของบุคคลที่จะต้องปฏิบัติ.... หน้าที่ของพลเมืองที่ดีมีอะไรบ้าง และจุดประสงค์สูงสุดของการเรียนก็คือ เราทุกคนจะปฏิบัติอย่างไรต่อกัน เพื่อให้ทุกคนมีประโยชน์-สุข ร่วมกัน

รูปภาพประกอบ http://province.m-culture.go.th/phichit/cultureDemocracy.php

Posted by ครูพเยาว์ at 2:54 PM