รอบรั้ว เรื่องเล่า
Saturday, December 26, 2009
ครูได้ไปอ่านเรื่อง “โต๊ะแห่งความสุข” จากหนังสือพิมพ์ “ไทยโพสต์” ของคุณเปลว สีเงิน อ่านแล้วก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ดีมากทีเดียว เหมาะสำหรับทุกๆคนที่ยังต้องต่อสู้เพื่อที่จะยืนหยัดอยู่ในสังคมในยามนี้ กำลังใจ การใส่ใจ ความเอื้อเฟื้อที่ดูเหมือนจะห่างหายไปจากสังคมของเรา อ่านจากหน้าหนังสือพิมพ์ ข่าวในทีวี จะมีแต่เรื่องที่มุ่งร้ายกัน เอาผลประโยชน์กันเสียส่วนมาก ดูแล้วน่าหดหู่นะคะ ถ้ารู้สึกอย่างนั้นเข้ามาบ้าง ลองอ่านเรื่องนี้ดูซิคะ
โต๊ะแห่งความสุข
เรื่องเล่าจากญี่ปุ่น
เรื่อง บะหมี่น้ำ หนึ่งชาม
เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ 19 ปีที่แล้ว วันที่ 31 ธันวาคม 2528 ซึ่งเป็นวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
ที่ร้านบะหมี่ ” ฮอกไก ” บนถนนซัปโปโร
การกินบะหมี่โซบะในคืนวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นั้นเป็นประเพณีของชาวญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้เอง
จึงทำให้ร้านบะหมี่ขายดีในวันสิ้นปี
“ร้านฮอกไก” นี้ก็เช่นกัน ในวันนี้คนแน่นร้านแทบทั้งวัน จนกระทั่งถึงเวลา 22.00 น.
คนก็เริ่มน้อยลง โดยปกติแล้ว บนถนนสายนี้คนจะแน่นขนัดไปจนถึงเช้าตรู่
แต่วันนี้ทุกคนจะต้องรีบกลับบ้านเพื่อไปต้อนรับปีใหม่กัน ดังนั้นถนนสายนี้ จึงปิดร้านเร็วกว่าปกติ
เถ้าแก่ของร้าน “ฮอกไก” เป็นคนซื่อ และเถ้าแก่เนี้ยก็เป็นคนอัธยาศัยใจคอดี
ในคืนวันส่งท้ายปีเก่า พอลูกค้าคนสุดท้ายกลับไปในขณะเถ้าแก่เนี้ยก็จะปิดร้าน
ประตูร้านก็ถูกเปิดออกอย่างเบา ๆ มีผู้หญิงคนหนึ่งพาเด็กชายสองคน คนหนึ่งประมาณ 6
ขวบกับอีกคนหนึ่งประมาณ 10 ขวบเข้ามาในร้าน เด็กชายทั้งสองคน สวมชุดกีฬาใหม่เอี่ยมเหมือนกันทั้งสองคน
ส่วนหญิงคนนั้นสวมโอเวอร์โค้ท ลายสก๊อตเก่า ๆ เชย ๆ
“เชิญนั่งครับ” เถ้าแก่ร้องทักทายออกมา หญิงคนนั้นเอ่ยปากอย่างขลาดกลัวว่า
“ขอบะหมี่น้ำสักชามได้ไหมคะ” เด็กชายสองคนที่อยู่ข้างหลังสบตากันอย่างไม่ค่อยสบายใจนัก
“ได้ค่ะ ได้ค่ะ ทำไมจะไม่ได้ล่ะค่ะ เชิญนั่งก่อนค่ะ”
เถ้าแก่เนี้ยพาพวกเขาไปนั่งที่โต๊ะเบอร์สองชิดกำแพง แล้วตะโกนบอกไปทางห้องครัวว่า
“บะหมี่น้ำหนึ่งชาม” บะหมี่ 1ชามมีบะหมี่แค่หนึ่งก้อน
เถ้าแก่คิดแล้วก็ใส่บะหมี่เพิ่มไปอีกครึ่งก้อน ต้มบะหมี่ได้ชามเบ้อเริ่ม ทั้งเถ้าแก่เนี้ย
และสามแม่ลูกต่างก็ไม่รู้เรื่อง สามแม่ลูกนั่งล้อมชามบะหมี่กินกันอย่างเอร็ดอร่อย กินพลางพูดพลาง
“ทานเถอะครับ” ลูกคนพี่พูด
“แม่ทานหน่อยสิครับ” ลูกคนน้องพูดไปก็คีบบะหมี่ให้แม่กิน
ไม่นานก็กินบะหมี่หมดชาม จ่ายเงินไปหนึ่งร้อยห้าสิบเยน แล้วทั้งสามคนก็ชมว่า
“ขอบคุณมากค่ะ(ครับ) บะหมี่อร่อยมากค่ะ(ครับ)” พร้อมกับค้อมตัวเล็กน้อยแล้วลาจากไป
“ขอบคุณมากค่ะ(ครับ) สวัสดีปีใหม่ค่ะ(ครับ)”
ทั้งเถ้าแก่และเถ้าแก่เนี้ยต่างก็กล่าวขอบคุณ ทำงานไปวันแล้ววันเล่ายุ่งตั้งแต่เช้าจรดเย็น
และแล้วก็ผ่านไปอีกหนึ่งปี
วันที่ 31 ธันวาคมก็เวียนมาครบรอบอีกครั้งหนึ่ง ในวันส่งท้ายปีเก่า ร้านบะหมี่ “ฮอกไก”
ก็ยังคงขายดีและดูเหมือนจะขายดีกว่าปีที่ผ่านมา สองตายายยังคงยุ่งวุ่นวายอยู่กับการค้าขาย
และแล้ววันที่วุ่นวายก็จบสิ้นลง
22.00 น. กว่า ๆ ในขณะที่เถ้าแก่เนี้ยกำลังจะปิดร้านอยู่นั้น ประตูร้านก็ถูกผลักออกเบา ๆ
ผู้ที่เข้ามาก็คือหญิงวัยกลางคนกับเด็กชายสองคน พอเห็นเสื้อโอเวอร์โค้ทที่เก่าและเชย
เถ้าแก่เนี้ยก็นึกขึ้นมาได้ว่าเป็นลูกค้าคนสุดท้ายในวันส่งท้ายปีเก่าของปีที่แล้วนั่นเอง
“ขอบะหมี่น้ำหนึ่งชามได้มั๊ยคะ”
“ได้ค่ะ ได้ค่ะ เชิญนั่งตามสบายนะคะ”
เถ้าแก่เนี้ยนำพวกเขาไปนั่งที่เดิมที่เคยนั่งเมื่อปีที่แล้ว โต๊ะเบอร์สอง ตะโกนไปพลางว่า
“บะหมี่น้ำหนึ่งชาม” เถ้าแก่รับคำพลาง
จุดเตาที่เพิ่งจะดับไปพลาง “ได้ครับ บะหมี่น้ำหนึ่งชาม”
เถ้าแก่เนี้ยแอบไปพูดที่ข้างหูของเถ้าแก่ว่า
“นี่ตาแก่ ต้มบะหมี่ให้พวกเขาสามชามไม่ได้หรือ”
“ไม่ได้ ถ้าทำแบบนั้นจะทำให้พวกเขาอายและไม่สบายใจได้รู้มั๊ย”
สามีตอบพลาง แล้วโยนบะหมี่อีกครึ่งก้อนลงไปในหม้อที่น้ำกำลังเดือดพล่าน เดินไปยืนข้างภรรยาแล้วก็ยิ้ม
ภรรยาก็พูดขึ้นว่า
“เห็นเธอซื่อ ๆ ทึ่ม ๆ ไม่นึกเลยว่าจิตใจก็ดีเหมือนกันนะ”
ฝ่ายสามีเดินไปตักบะหมี่ชามใหญ่ที่กลิ่นหอมชวนกินชามนั้นแล้วให้ภรรยายกไปให้สามแม่ลูก
สามแม่ลูกนั่งล้อมชามบะหมี่ กินไปพลางคุยไปพลาง เสียงคุยของสามแม่ลูกดังถึงหูของตายาย
“หอมจังเลย…ยอดไปเลย…อร่อยจริง ๆ “
“ปีนี้สามารถกินบะหมี่ของร้านฮอกไกได้ นับว่าไม่เลวทีเดียว”
“ถ้าปีหน้าสามารถมากินได้อีกก็ดีนะสิ”
กินเสร็จก็จ่ายเงินไปหนึ่งร้อยห้าสิบเยน แล้วสามแม่ลูกก็เดินออกจากร้านฮอกไกไป
“ขอบคุณค่ะ(ครับ) สวัสดีปีใหม่ค่ะ(ครับ)” มองตามหลังสามแม่ลูกจนลับหายไป
สองตายายก็ยกเรื่องสามแม่ลูกมาพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกไปได้ระยะหนึ่ง ในวันสิ้นปีของสามปีมานี้
กิจการของร้านฮอกไกดีมาก
สองตายายต่างก็ยุ่งจนไม่มีเวลาคุยกัน แต่พอเลย 21.00 น. ไปแล้ว สองตายายก็เริ่มกระวนกระวายใจขึ้นมา
พอถึง 22.00 น.
พนักงานในร้านต่างก็รับอั้งเปาแล้วก็แยกย้ายกันกลับไป
พอคนกลับไปหมดแล้วเจ้าของร้านทั้งสองก็ช่วยกันเอาป้ายราคาบะหมี่ในร้านที่เขียนไว้ว่า
“บะหมี่ชามละสองร้อยเยน” ที่แขวนไว้ตามผนังทั้งหมดพลิกกลับหลัง แล้วช่วยกันเขียนใหม่ว่า
“บะหมี่ชามละร้อยห้าสิบเยน” 30 นาทีก่อนเถ้าแก่เนี้ยก็เอาป้าย “จองแล้ว”
ไปวางไว้บนโต๊ะเบอร์สอง เหมือนกับว่าจะมีเจตนารอแขกที่ลูกค้าออกจากร้านไปหมดแล้วถึงจะมาอย่างนั้นแหละ
22.30 น. ในที่สุดสามแม่ลูกก็ปรากฎตัวขึ้น พี่ชายสวมเครื่องแบบมัธยมของรัฐแห่งหนึ่ง
น้องชายสวมเสื้อแจ๊คเก็ทที่พี่ชายสวมเมื่อปีก่อนดูหลวมและไม่พอดีตัว เด็กทั้งสองคนโตขึ้นมาก
ส่วนผู้เป็นแม่ก็ยังคงสวมเสื้อโค้ทลายสก๊อตที่ทั้งเก่าและเชยแถมสีซีดตัวเดิม
“เชิญค่ะ เชิญค่ะ”
เถ้าแก่เนี้ยกล่าวทักทายอย่างมีน้ำใจ มองใบหน้าอันยิ้มแย้มและท่าทางต้อนรับอย่างเต็มที่ของเถ้าแก่เนี้ย
ทำให้ผู้เป็นแม่นั้นเปล่งคำพูดออกมาอย่างงกงกเงิ่นเงิ่นว่า
“รบกวนช่วยทำบะหมี่น้ำให้สักสองชามได้ไหมค่ะ”
“ได้ค่ะ เชิญนั่งทางนี้ค่ะ”
เถ้าแก่เนี้ยนำแม่ลูกไปนั่งยังโต๊ะเบอร์สอง
แล้วรีบเอาป้าย”จองแล้ว”ออกเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แล้วตะโกนบอกไปทางครัวว่า
“บะหมี่น้ำสองชาม”
“ได้ครับ บะหมี่น้ำสองชามได้เดี๋ยวนี้แหละครับ”
เถ้าแก่พลางตอบ พลางโยนบะหมี่ลงไปในหม้อน้ำสามก้อน สามแม่ลูกกินไปพูดไป ดูแล้วเหมือนมีความสุขกันมาก
สองสามีภรรยาที่ยืนอยู่หลังโต๊ะทำบะหมี่ได้รับรู้ถึงความสุขที่พวกเขาได้รับกัน ในใจก็พลอยเบิกบานไปด้วย
“ลูกรัก วันนี้แม่ต้องขอบคุณลูก ๆ เป็นอย่างมาก”
“ขอบคุณ ?”
“ทำไมครับ”
“เรื่องป็นอย่างนี้ คือคุณพ่อของลูกที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตไปได้ทำให้คนอีกแปดคนได้รับบาดเจ็บ
และทางบริษัทประกันก็ไม่รับผิดชอบในส่วนนั้น
ในช่วงหลายปีมานี่ทำให้เราต้องจ่ายเงินเดือนละห้าหมื่นเยนทุกเดือน”
“เอ๊ะ เรื่องนี้เราก็ทราบกันอยู่แล้วนี่ครับ” ผู้เป็นพี่ตอบ
ส่วนเถ้าแก่เนี้ยได้แต่ตั้งใจฟังอย่างเงียบ ๆ อยู่หลังโต๊ะทำอาหาร
“แต่เดิมนั้นเเราต้องชำระหนี้ไปจนถึงปีหน้าเดือนมีนาคม แต่ตอนนี้เราได้ชำระหนี้ไปหมดแล้ว”
“จริง ๆ หรือครับ แม่”
“จริงสิจ๊ะ นี่เป็นเพราะว่าพี่ชายของลูกขยันไปส่งหนังสือพิมพ์
ส่วนตัวลูกเองก็ช่วยแม่ซื้อกับข้าวทำอาหาร
ทำให้แม่ไปทำงานได้อย่างเต็มที่ ทางบริษัทจึงได้ให้เงินเบี้ยขยันพร้อมทั้งเงินโบนัสพิเศษอื่นๆ อีก
จึงทำให้วันนี้ สามารถชำระในส่วนที่เหลือได้หมด”
“ว้าว แม่ครับ พี่ครับ อย่างนี้ก็วิเศษสิครับ
แต่ว่าต่อไปขอให้ผมได้ช่วยทำอาหารต่อไปเถอะนะครับ”
“ผมก็จะส่งหนังสือพิมพ์ต่อนะครับ ไอ้น้องชาย เราต้องร่วมแรงร่วมใจกันสู้หน่อยแล้วนะ”
“ขอบใจลูกทั้งสองมาก ขอบใจจริง ๆ “
“แม่ครับผมกับน้องก็มีความลับจะบอกกับแม่เหมือนกันครับ
คือในวันอาทิตย์วันหนึ่งของเดือนพฤศจิกายนโรงเรียนของน้อง
ได้แจ้งให้ผู้ปกครองไปเยี่ยมชมนักเรียนในห้องเรียนในวันพบผู้ปกครอง
คุณครูของน้องยังได้แนบจดหมายมาอีกหนึ่งฉบับว่า
เรียงความของน้องได้ถูกคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของฮอกไกโด เพื่อไปแข่งขันเรียงความทั่วประเทศ
นี่ผมได้ยินมาจากเพื่อน ๆ
ของน้องนะครับผมถึงทราบ ดังนั้นในวันนั้นผมจึงไปเป็นตัวแทนแม่ ไปร่วมในงานวันพบผู้ปกครองของน้อง”
“จริงหรือลูก แล้วต่อมาล่ะ”
“หัวข้อที่คุณครูให้เรียงความคือ ความปรารถนาของข้าพเจ้า
น้องได้เอาเรื่องของบะหมี่น้ำหนึ่งชามมาเขียนเป็นเรียงความ
แล้วยังได้อ่านต่อหน้าทุกคนด้วย”
“เรียงความเขียนว่า…หลังจากที่คุณพ่อประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์แล้ว ได้ทิ้งหนี้สินให้เรามากมาย
เพื่อที่จะชำระหนี้ คุณแม่ต้องทำงานดึกดื่นหามรุ่งหามค่ำทุกวัน
แม้แต่เรื่องของผมที่ต้องไปส่งหนังสือพิมพ์ น้องก็ยังเอาไปเขียนเลย…”
“ยังมีอีก น้องยังเขียนถึงในคืนวันที่ 31 ธันวาคม พวกเราสามคนแม่ลูกได้มาล้อมวงกันกินบะหมี่น้ำ
อร่อยมาก…สามคนกินบะหมี่น้ำแค่ชามเดียว คุณตาคุณยายเจ้าของร้านยังกล่าวขอบคุณพวกเราอีก
แล้วยังอวยพรวันปีใหม่ให้พวกเราอีก
เสียงเหล่านั้นเหมือนกับว่าให้กำลังใจให้เข้มแข็งที่จะยืนหยัดมีชีวิตอยู่ต่อไป
พยายามปลดเปลื้องหนี้สินทั้งหลายของคุณพ่อให้หมดให้เร็วที่สุด…”
“ด้วยเหตุนี้น้องจึงได้ตัดสินใจว่าโตขึ้นน้องจะเปิดกิจการร้านบะหมี่
แล้วจะต้องเป็นเจ้าของร้านบะหมี่ยอดเยี่ยมอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นอีกด้วย
แล้วยังจะให้กำลังใจแก่ลูกค้าทุกคน…ขอให้มีความสุขครับ…ขอบคุณครับ…”
สองตายายเจ้าของร้านบะหมี่ที่ยืนฟังอยู่หลังโต๊ะทำบะหมี่จู่ ๆ ก็หายตัวไป
พวกเขาไม่ได้หายไปไหนเลยเพียงแต่คุกเข่ากันอยู่ใต้โต๊ะ ในมือถือปลายผ้าขนหนูกันคนละข้าง
พยายามซับน้ำตาที่ไหลไม่ยอมหยุดเหมือนทำนบพังนั้นอย่างไม่ลดละ
“พอน้องอ่านเรียงความจบ คุณครูก็พูดว่า “วันนี้พี่ชายได้มาเป็นตัวแทนของคุณแม่
ดังนั้นขอเชิญพี่ชายขึ้นมากล่าวอะไรสักหน่อยค่ะ “
“จริงหรือลูก แล้วลูกทำอย่างไรล่ะ”
“ก็มันกระทันหันเกินไป ตอนแรก ๆ ก็ไม่รู้ว่าจะพูดอะไรดี
ผมจึงพูดว่า…ขอบคุณทุกคนที่เอาใจใส่น้องผมเป็นอย่างดี
น้องผมต้องไปจ่ายตลาดซื้อกับข้าวกลับมาหุงหาอาหารทุกวัน ดังนั้นในเวลาที่เพื่อน ๆ
ทุกคนมีกิจกรรมกันในตอนเย็นก็มักจะ
อยู่ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ได้เพราะต้องรีบกลับบ้าน
เมื่อเป็นอย่างนี้คงจะทำให้ทุกคนวุ่นวายกันพอสมควร”
“เมื่อครู่นี้ตอนที่ได้ยินน้องอ่านเรียงความเรื่องบะหมี่น้ำหนึ่งชาม ผมรู้สึกอายมาก
แต่พอได้เห็นน้องยืดอกอ่านเรียงความเรื่องบะหมี่น้ำหนึ่งชามด้วยเสียงอันดังจนจบ ถึงได้รู้สึกว่า
ความรู้สึกอายเมื่อสักครู่นี้ถึงจะเรียกว่าเป็นความอายจริง ๆ “
“หลายปีมานี้ ความกล้าของคุณแม่ที่จะสั่งบะหมี่น้ำหนึ่งชามเพื่อกินกันสามคนนั้น
ผมกับน้องจะไม่มีวันลืมเป็นอันขาด ผมและน้องจะต้องขยันและดูแลแม่เป็นอย่างดี
และผมขอฝากน้องของผมให้ทุกคนช่วยดูแลด้วยครับ”
สามแม่ลูกกุมมือกันเงียบ ๆ ตบไหล่ กินบะหมี่หมดอย่างมีความสุขกว่าทุก ๆ ปี
จ่ายเงินไปสามร้อยเยนกล่าวขอบคุณค้อมตัวลงเคารพและเดินออกจากร้านไป
มองตามหลังสามแม่ลูกไป เจ้าของร้านจึงได้รู้สึกว่าปีนี้ได้ผ่านไปแล้วจริง ๆ พร้อมกับกล่าวว่า
“ขอบคุณค่ะ(ครับ) สวัสดีปีใหม่ค่ะ(ครับ)”
และแล้วก็ผ่านไปอีกปีหนึ่ง พอถึงเวลา 21.00
น.ทางร้านฮอกไกก็วางป้าย”โต๊ะจอง”ไว้บนโต๊ะเบอร์สองและเฝ้ารอคอย
การมาเยือนของสามแม่ลูกเช่นเคย แต่ในปีนั้นสามคนแม่ลูกไม่ได้มาปรากฏตัวที่ร้านเลย
ปีที่สอง ปีที่สาม โต๊ะเบอร์สองก็ยังคงว่างอยู่เช่นเดิม สามแม่ลูกไม่ได้มาที่ร้านฮอกไกอีกเลย
กิจการของร้านฮอกไกดีมาก เรียกว่าดีวันดีคืนเลยทีเดียว ภายในร้านมีการตกแต่งใหม่
โต๊ะเก้าอี้ก็มีการเปลี่ยนใหม่ จะมีก็แต่โต๊ะเบอร์สองที่เก็บรักษาไว้เหมือนเดิม
“นี่มันเรื่องอะไรกัน” ลูกค้าหลายคนต่างก็ถามด้วยความกังขา
เถ้าแก่เนี้ยก็เลยเล่าเรื่องบะหมี่หนึ่งชามให้แก่ลูกค้าฟัง
โต๊ะเก่าตัวนั้นวางอยู่กลางร้านเหมือนกับว่าเป็นการให้กำลังใจตัวเองอย่างหนึ่ง
และก้อไม่แน่ว่าวันใดวันหนึ่งลูกค้าทั้งสามอาจจะกลับมาอีก
พวกเขาหวังว่าจะใช้โต๊ะเก่าตัวนั้นในการต้อนรับลูกค้าทั้งสามของเขา
โต๊ะเบอร์สองตัวนั้นเปลี่ยนเป็นชื่อว่า “โต๊ะแห่งความสุข”
ลูกค้าต่างก็พูดต่อๆ กันไป มีนักเรียนหลายคนอยากเห็นโต๊ะตัวนี้
ถึงขนาดที่ว่านั่งรถมาจากที่ไกลแสนไกลมากินบะหมี่ และเจาะจงที่จะนั่งโต๊ะตัวนี้
ผ่านวันที่ 31 ธันวาคม ไปอีกหลาย ๆ ปี พอถึงวันสิ้นปีหลังจากปิดร้านแล้ว
เจ้าของร้านค้าในระแวกใกล้เคียงร้านฮอกไก ก็มักจะมารวมตัวฉลองโดยการกินบะหมี่ที่ร้านฮอกไก
กินไปพลางก็รอเสียงระฆังส่งท้ายวันสิ้นปีเก่าไปพลาง แล้วทุกคนก็ไปวัดเพื่อไหว้พระด้วยกัน
เป็นธรรมเนียมมา 5-6 ปีแล้ว ในวันนี้พอเลย 21.30 น. ไปแล้ว
เจ้าของร้านขายปลามาถึงก่อนพร้อมทั้งนำซาซิมิมาด้วย ต่อจากนั้นก็มีคนมาเรื่อยๆ เป็นระยะ
บ้างก็เอาเหล้ามา บ้างก็เอาอาหารกับแกล้มมา ปกติแล้วก็จะรวมตัวกันได้ประมาณ 30-40 คน ต่างก็คึกคักกันมาก
ทุกคนที่มานั้นต่างก็รู้ตำนานเกี่ยวกับโต๊ะเบอร์สอง
ทุกคนก็พยายามไม่เอ่ยถึงมันแต่ในใจต่างก็คิดกันว่า วันนี้”โต๊ะจอง”
ตัวนั้นไม่มีคนที่พวกเขาเฝ้ารอมานั่ง มันคงจะว่างเปล่าเพื่อส่งท้ายปีเก่าอีกเช่นเดิม
พวกเขาบ้างก็กินเหล้า บ้างก็กินบะหมี่ บ้างก็เข้า ๆ ออก ๆ พอเตรียมกับข้าวกับแกล้ม
ต่างก็กินกันไปคุยกันไป พูดเรื่องการค้าบ้าง คุยเรื่องโน้นเรื่องนี้ แม้แต่น้ำทะเลขึ้นลง
ในระยะนี้บ้านไหนมีเด็กเกิดใหม่ ก็นำมาพูดคุยในวงสนทนา คุยมันทุก ๆ เรื่อง
จนเหมือนกับว่าเป็นครอบครัวเดียวกัน
เวลาผ่านไปจนถึง 22.30 น. ทันใดนั้นเองประตูร้านก็ถูกผลักออกเบา ๆ ทุกคนในร้านหยุดพูดคุยกัน
สายตาทุกคู่มองตรงไปยังประตูร้าน
ชายหนุ่มสองคนยืนสง่าในชุดสูทสากล พาดโอเวอร์โค้ทไว้บนแขน
พอเห็นว่าผู้ที่มาเป็นใครทุกคนก็รู้สึกว่าบรรยากาศเริ่มผ่อนคลายลง และเริ่มสนทนากันต่อไปอย่างคึกคัก
ในขณะที่เถ้าแก่เนี้ยกำลังจะพูดว่า “ขอโทษค่ะ ที่นั่งเต็มหมดแล้วค่ะ”
เพื่อปฏิเสธลูกค้าที่ไม่ได้รับเชิญอยู่นั้น
ก็มีหญิงคนหนึ่งสวมชุดกิโมโนเดินเข้ามายืนระหว่างกลางของชายหนุ่มทั้งสองคน
ทุกคนในร้านแทบจะหยุดหายใจเมื่อได้ยินคุณนายผู้นั้นพูดว่า
“เอ้อ…รบกวน…รบกวนช่วยทำบะหมี่ให้สามชามได้ไหมคะ”
ทันทีที่เถ้าแก่เนี้ยได้ยินสีหน้าก็เปลี่ยนไปทันที แม้เวลาผ่านไปสิบกว่าปีแล้ว
ภาพของสามแม่ลูกในความทรงจำ
กับภาพของสามแม่ลูกตรงหน้า เธอพยายามจะนำทั้งสองภาพมาวางซ้อนกัน เถ้าแก่ที่ยืนตะลึงอยู่ที่โต๊ะทำบะหมี่
ชี้นิ้วไปยังทั้งสามแม่ลูก “พวกคุณ .. พวกคุณ” เขาพูดได้เพียงแค่นั้น คำพูดทุกคำจุกอยู่ที่คอ
ชายหนุ่มหนึ่งในสองคนเห็นท่าทีของเถ้าแก่เนี้ยที่ทำอะไรไม่ถูก ก็เลยพูดกับเถ้าแก่เนี้ยว่า
“พวกเราสามคนแม่ลูก ที่เมื่อสิบสี่ปีก่อนในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
มาสั่งบะหมี่น้ำหนึ่งชามทานกันสามคนไงครับ
และพวกเราก็ได้รับกำลังใจจากบะหมี่น้ำชามนั้น พวกเราจึงได้สามารถยืนหยัดมาถึงวันนี้ได้”
“หลังจากนั้นก็อพยพครอบครัวไปอาศัยอยู่กับยายที่อำเภอชิกะ ปีนี้ผมสอบผ่านได้เป็นนายแพทย์แล้ว
ตอนนี้ผมเป็นแพทย์ฝึกหัดแผนกกุมารเวชที่โรงพยาบาลเกียวโต
ปีหน้าเดือนเมษายนก็จะย้ายมาประจำโรงพยาบาลกลางของซัปโปโรแล้ว”
“วันนี้พวกเราก็เลยแวะมาที่โรงพยาบาลเพื่อทำความรู้จักและฝากเนื้อฝากตัว
แล้วเลยไปไหว้สุสานของคุณพ่อ และน้องชายที่ครั้งหนึ่งเคยใฝ่ฝันว่าจะเป็นเจ้าของกิจการร้านบะหมี่นั้น
ขณะนี้ได้ทำงานในธนาคารเกียวโต ได้เสนอความคิดที่เลิศเลออย่างหนึ่งก็คือ ปีนี้ในวันส่งท้ายปีเก่า
พวกเราสามคนแม่ลูกจะมาเยี่ยมคารวะเจ้าของร้านบะหมี่ฮอกไกที่ซัปโปโร
และทานบะหมี่น้ำสามชามของร้านฮอกไกด้วย”
สองตายายฟังไปพลาง พยักหน้าไปพลางด้วยน้ำตาคลอเบ้า เถ้าแก่ร้านขายผักที่นั่งอยู่ตรงหน้าประตู
พยายามใช้แรงอย่างเต็มที่ที่จะกลืนบะหมี่คำที่คาอยู่ในปากลงไปในคอ แล้วลุกขึ้นยืนพูดว่า
“อ้าว…เถ้าแก่… เป็นอะไรไปล่ะ อุตส่าห์เตรียมการมาตลอดสิบปีเพื่อเฝ้าคอยวันนี้ “โต๊ะจอง”
ตัวนั้นไงที่พวกเถ้าแก่จองให้ลูกค้าที่จะมาตอนหลังสิบโมงของคืนวันสิ้นปีไง รีบๆ ต้อนรับพวกเขาสิ
เร็วเข้า”
ในที่สุดเถ้าแก่เนี้ยก็ได้สติ ตบไหล่ของเถ้าแก่ร้านขายผัก แล้วพูดว่า
“ยินดีต้อนรับค่ะ…เชิญนั่งข้างในค่ะ…นี่ตาเฒ่า…บะหมี่น้ำสามชามโต๊ะสอง”
เถ้าแก่ที่ยืนตะลึงอยู่ก็รีบปาดน้ำตาแล้วรับคำว่า
“ครับ..บะหมี่น้ำสามชาม”
หากดูกันตามจริงแล้ว สิ่งที่เถ้าแก่ร้านบะหมี่ทั้งสองได้ให้ไปมันไม่ได้มีค่ามากมายอะไรเลย
มันเป็นแค่เพียงบะหมี่ไม่กี่ก้อน
คำพูดที่จริงใจและให้กำลังใจเพียงไม่กี่คำ รวมทั้งคำอวยพรว่า “ขอบคุณค่ะ(ครับ)
สวัสดีปีใหม่ค่ะ(ครับ)”ก็เท่านั้นเอง
แต่มันกลับให้ผู้ที่ถูกความจริงอันโหดร้ายบีบให้จมอยู่ในสถานการณ์คับขับได้สามารถกลับมามีชีวิตอีกครั้ง
เรื่องนี้สอนให้เรารู้ว่า —
อย่าพยายามมองข้ามตัวเอง
ตัวเราเองสามารถมีอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่ได้
บางทีมันอาจจะเป็นแค่เพียงความใส่ใจความห่วงใยอันจริงใจ
ของคุณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ก็สามารถนำพาเอาแสงสว่างอันเจิดจรัสอย่างไม่มีขีดจำกัดมาสู่โลกได้
ด้วยเหตุนี้ความหวังความใฝ่ฝันที่แรงกล้าของพวกเรา …เพื่อนพ้องทั้งหลาย …
อย่ามัวเห็นแก่ตัวกันหรือเสียดายมันอยู่เลย
หวังว่านับแต่บัดนี้เป็นต้นไป
พวกเราจะสามารถมอบหัวใจแห่งความรักและความเมตตาที่เราอัดเก็บ
ไว้ในใจมาเป็นเวลานานแสนนานนั้นมอบให้กับคนอื่นด้วยความเต็มใจ
จุดประกายแห่งความสว่างแก่โลก ….
ถึงแม้จะเป็นแสงเพียงริบหรี่เท่านั้น
แต่สำหรับคืนอันหนาวเหน็บอันเย็นยะเยือกของฤดูหนาว
มันเป็นประกายแห่งความอบอุ่นและแสงสว่างอันสุกสกาวจริงๆ
เรื่องนี้ตอนที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น
ทำให้คนญี่ปุ่นรู้สึกประทับใจมานับไม่ถ้วนแล้ว
ดังนั้นจึงมีคนพูดกันว่า
“ใครที่อ่านนิทานเรื่องนี้แล้ว
ไม่มีใครเลยที่จะไม่หลั่งน้ำตาให้”
ถึงแม้คำพูดนี้ออกจะเกินจริงไปบ้าง
แต่ก็มีคนจำนวนมากที่ได้อ่านนิทานเรื่องนี้แล้ว
รู้สึกประทับใจจริง ๆ
จนน้ำตาร่วง และน้ำตาที่ร่วงรินเหล่านั้น
มันไม่ใช่น้ำตาจากความรันทดใจ
แต่เป็นน้ำตาที่หลั่งให้แก่ความประทับใจต่อความห่วงใยอย่างจริงใจ
และน้ำใจไมตรีอันกว้างขวางที่มอบให้แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
Labels: เด็กดีขยันเรียน, ทั่วไป ตามใจคิด