Daisypath Anniversary tickers

รอบรั้ว โรงเรียนในเมืองนอก

Friday, November 30, 2007


เมื่อไม่กี่วันมานี้ ครูได้ดูหนังอยู่เรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ ในโรงเรียนที่อยู่ในอเมริกา ที่เราเองมักลอกต้นแบบการศึกษาของเขามาใช้อยู่เป็นประจำ และจากสภาพของความสัมพันธ์ของเด็กนักเรียน และครูก็ได้ถ่ายทอดผ่านออกมา นึกไม่สบายใจเท่าไหร่นักกับสภาพอย่างนั้นนัก เพราะมันก็ยังฝืนความรู้สึกกับความเป็นคนไทย ที่ยังต้องเคารพผู้มีอาวุโสอยู่เป็นเบื้องต้น แต่อย่างน้อยกับคำพูดที่ว่าดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว ทำให้หนังเรื่องนี้สะท้อนอะไรออกมาหลายๆอย่าง เช่นระบบที่เราคิดว่าดี มันก็ไม่ใช่ดีอย่างที่ว่า เพราะคนคุมกฎก็ยังเป็นคน ที่ยังมี รัก โลภ โกรธ หลง อยู่เป็นอาวุธประจำกาย กฏที่ว่าดีๆ พังพินาศไปทันที และยังทำให้เราเห็นคนดีๆ ครูดีๆ ที่มีความพยายามช่วยเหลือเด็กให้ประสบกับความสำเร็จ ทั้งการเรียนและในการดำรงชีวิต

หนังเรื่องนี้คือเรื่อง "Freedom Writers" เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆในโรงเรียน Woodrow Wilson High School ใน เมือง Long Beach รัฐ California เป็นเรื่องของหญิงสาวคนหนึ่งที่เข้าทำหน้าที่เป็นครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียน แล้วก็เข้าไปผจญกับเด็กนักเรียนผิวสีต่างๆที่ต่างก็มีปัญหาในการดำรงชีวิตให้รอดในเมืองนั้น ซึ่งแบ่งออกเป็นพวกผิวดำ ลาติน เอเชีย และผิวขาว ที่ไม่ถูกชะตากันเลย ต้องถือพรรค ถือพวก เข้ากันไม่ได้ แล้วก็ออกมาฆ่ากัน ยิงกันตามท้องถนน ตามแต่โอกาสจะอำนวย เรื่องนี้เกิดราวปี 1999 แต่หนังที่สะท้อนเรื่องนี้ออกมา ปี 2007 ราวเดือนมกราคมค่ะ เอาละ เข้าเรื่องเลย หญิงสาวที่เข้ามาเป็นครูสอน ชื่อ Erin Gruwell เอ-ริน กรูเวล ..... ครูกรูเวลหลังจากที่เข้าสอนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเด็กถึงเกลียดเธอ โดยเฉพาะเด็กผิวดำที่แสดงออกมานอกหน้า หลังจากที่อดทนสอนเรื่อยมา และสังเกตการรวมกลุ่มของเด็กๆในโรงเรียนก็เริ่มเข้าใจถึงการแบ่งแยกสีผิวของเด็กๆในโรงเรียน จนวันหนึ่งมีเด็กคนหนึ่งวาดรูปการ์ตูนล้อเลียนเด็กผิวดำคนหนึ่งแล้วก็ส่งต่อกันในห้อง แล้วก็หัวเราะกัน ครูกรูเวล เอารูปนั้นมาดู แล้วก็บอกว่านี่ มันไม่ถูกต้อง ในสมัยก่อนหน้าโน้น ชาวยิวก็โดนพวกนาซีเยอรมัน สร้างความดูถูกเหยียดหยาม จงเกลียดจงชังให้มีกับชาวยิว จนต้องจับชาวยิวไปฆ่าทิ้งเป็นล้านคน ก็เนื่องมาจากการ์ตูนล้อชาวยิว จมูกงุ้ม และโตรูปนั้น เหมือนกับในโรงเรียนเดี๋ยวนี้ที่ถือเชื้อชาติ สีผิว ไม่ผิดเพี้ยน แล้วครูก็พยายามให้เด็กได้อ่านประวัติของแอน แฟรงค์ ที่หนีไปสู่อิสระภาพได้ว่าต้องเจออะไรมาบ้างในช่วงวัยเด็กของเธอ แต่โรงเรียนก็ไม่ยอมให้เธอยืมหนังสือออกจากห้องสมุด ไปให้เด็กอ่าน จากตอนนี้ในหนังก็แสดงให้เห็นถึงความบกพร่องของคนที่ถือกฏ กลัวว่าถ้าหนังสือไปถึงมือนักเรียนเมื่อไหร่ละก็ ไม่มีทางที่จะได้คืนมาสู่โรงเรียนอีก
แล้วจากในหนังเราก็ได้เห็นความตั้งใจอันเด็ดเดี่ยวของครูอีกนั่นแหละ ที่จะเอาชนะอุปสรรคให้ได้ โดยยอมทำงานล่วงเวลาอีก 2 ที่ เพื่อที่จะเอาเงินนั้นมาซื้อหนังสือให้เด็กได้อ่าน จนเด็กๆเห็นความตั้งใจของเธออย่างแท้จริง
เธอพยายามหาทุนให้เด็กๆของเธอได้ทัศนศึกษานอกสถานที่ โดยเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ที่เก็บเอาเรื่องราวของค่ายกักกัน ห้องสังหารหมู่ชาวยิว เรื่องราว รูปภาพอันทารุญโหดร้ายที่ชาวยิวได้รับในสมัยนั้นให้เด็กๆได้เข้าไปชม ซึ่งเด็กไม่เคยได้รับโอกาสรับรู้มาก่อนหน้านี้ เธอสามารถติดต่อกับคนที่มีชีวิตในช่วงสงครามที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวยิว ที่ยังมีชีวิตอยู่ในยุโรป ในออสเตรีย เชิญมาเล่าเหตุการณ์จริงๆให้เด็กนักเรียนฟัง หนังจบไปด้วยดีค่ะ เด็กๆทุกคนต่างก็เปลี่ยนทัศนคติในด้านร้ายๆต่อกัน และหันมาปรองดองกันได้ ตั้งใจเรียนกันทุกคน เธอได้สอนเด็กจนจบจากโรงเรียน และยังติดตามไปดูแล แม้จะไปเรียนขั้นมหาวิทยาลัยไปแล้ว เด็กนักเรียนของเธอ ก็ได้เขียนเรื่องราวของเขาสู่ชาวโลกในหัวข้อเรื่อง Freedom Writers จนเป็นที่รู้จักกันทั่ว
อย่างไรก็ตาม แม้หนังเรื่องนี้ทำให้คนดูขยาดกับสภาพของการเป็นอยู่ในมุมหนึ่งของเมืองที่คนยอมรับกันว่าเจริญแล้ว แต่ชีวิตก็ต้องดำเนินไป เราอาจเคยชินการเป็นอยู่แบบเรา เขาก็ต้องเคยชินกับการอยู่แบบนั้น ดูหนังแล้ว ก็ทำให้รักเมืองไทยขึ้นมาเป็นกองค่ะ

Posted by ครูพเยาว์ at 9:18 AM