Daisypath Anniversary tickers

รอบรั้ว พระพุทธศาสนา หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 บทที่ 2 ตอนที่ 1

Monday, June 25, 2007


วันนี้จะมาเล่าเรื่องประวัติของพระพุทธเจ้าค่ะ เรียกว่าเป็นพุทธประวัติ เป็นตอนแรกค่ะ ตอนที่สองเป็นตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ ตอนที่สามเป็นกิจหรืองานที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเป็นประจำวัน เรียกว่าพุทธกิจค่ะ ทั้งหมด 3 เรื่องนะคะ วันนี้เอาแค่เรื่องแรกค่ะ คือพุทธประวัติ


เมื่อเล่าถึงพุทธประวัติ ต้องย้อนกลับไป 2600 กว่าปีนะคะ ในดินแดนที่เรียกว่า ชมพูทวีป ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตประเทศอินเดีย เนปาลและปากีสถาน ที่เหล่านั้นเป็นที่ตั้งของแคว้นต่างๆ ในแต่ละแคว้นก็จะมีกษัตริย์เป็นผู้ปกครอง และในแคว้นหนึ่ง นามว่า "แคว้นสักกะ" เมืองหลวงชื่อ กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นนี้เป็นต้นกำเนิดแห่งพุทธประวัติค่ะ


พระเจ้าสุทโธทนะ ซึ่งเป็นกษัตริย์ราชสกุลศากยวงศ์ ทรงเป็นกษัตริย์ปกครองกรุงกบิลพัสดุ์ พระองค์มีพระมเหสีพระนามว่า พระนางสิริมหามายา ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าอัญชนะ กษัตริย์ราชสกุลโกลิยวงศ์แห่งกรุงเทวทหะ


เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงมีพระครรภ์ และทรงรู้พระองค์ว่า จะถึงเวลาประสูติในไม่ช้า พระนางจึงได้ทูลขออนุญาตจากพระราชสวามีเสด็จไปเยี่ยมนครเทวทหะอันเป็นบ้านเกิดของพระนาง เมื่อเสด็จไปถึงกึ่งกลางทางระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ ขบวนเสด็จของพระนางได้ทรงหยุดพัก ณ สวนลุมพินีวัน ซึ่งเป็นสวนป่าอันร่มรื่น และพระนางได้ประสูติพระราชโอรส ที่ใต้ต้นสาละ(ต้นรัง) ที่คุณครูได้เอาดอกของต้นไม้นี้มาให้ดูแล้วครั้งหนึ่งนะคะ วันที่ประสูติคือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เวลาใกล้เที่ยงวัน ก่อนพุทธศักราช 80 ปีค่ะ นี่คือตอนประสูตินะคะ


ต่อมา หลังจากพระราชกุมารประสูติได้ 5 วัน พระเจ้าสุทโธทนะทรงจัดให้มีพิธีขนานพระนามของพระราชกุมารตามธรรมเนียมในสมัยนั้น โดยได้เชิญบรรดานักปราชญ์มาประชุมกัน และในที่ประชุมนักปราชญ์ได้ขนานพระนามพระราชกุมารว่า "สิทธัตถะ" ซึ่งแปลว่า "ผู้มีความสำเร็จในทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนตั้งใจจะทำ" และบรรดาเหล่านักปราชญ์ยังได้ทำนายว่า ถ้าพระราชกุมารทรงอยู่ในเพศฆราวาส จะได้เป็นจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ในโลก แต่ถ้าทรงออกผนวช จะได้เป็นศาสดาเอกของโลก และในที่นี้มีเพียงโกณทัญญะพราหมณ์ผู้เดียวที่ทำนายว่า "พระราชกุมารจะสละราชบัลลังก์และจะประพฤติพรหมจรรย์บรรลุธรรมเป็นศาสดาเอกของโลก" นี่คือตอนขนานพระนามนะคะ


หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ 7 วัน ก็เกิดเรื่องใหญ่ค่ะ พระมารดาสิ้นพระชนม์ น่าสงสารนะคะ พระองค์จึงได้รับการดูแลจากพระนางปชาบดีโคตมีซึ่งเป็นพระน้านางและเป็นพระมารดาเลี้ยง เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเจริญวัย พระราชบิดาทรงให้การศึกษาศิลปะวิทยาการในสำนักครูวิศวามิตร เจ้าชายได้ศึกษาวิชาความรู้ที่ควรจะศึกษาได้อย่างรวดเร็ว นี่คือตอนที่เป็นวัยกุมารของพระพุทธเจ้าของเรานะคะ


จากนั้น เมื่อถึงประเพณีแรกนาขวัญประจำปี เจ้าชายได้ตามพระราชบิดาไปด้วย เมื่อเจ้าชายอยู่เพียงพระองค์เดียว พระองค์ได้ทรงพิจารณาถึงสิ่งต่างๆ ที่พบเห็นอย่างลึกซึ้ง และทรงมีความเห็นว่า "ความทุกข์อันใหญ่หลวงกำลังครอบงำคนและสัตว์จำนวนมากอยู่ตลอดเวลา"


ครั้นพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบว่า พระโอรสทรงเริ่มคิดไปในทางธรรม พระองค์จึงโปรดให้พวกช่างสร้างปราสาทอันสวยงามขึ้น 3 ปราสาท สำหรับให้พระโอรสประทับในแต่ละฤดู เพื่อให้พระโอรสเกิดความรื่นรมย์ ซึ่งเป็นการโน้มน้าวจิตใจของพระโอรสให้เพลิดเพลินในทางโลก นี่คือตอนแรกนาขวัญนะคะที่เจ้าชายเริ่มคิดถึงความทุกข์ของคนและสัตว์


เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะย่างเข้าสู่วัยหนุ่ม พระองค์ได้อภิเษกสมรสกับพระนางพิมพา(ยโสธรา) แต่พระองค์ยังทรงอยากทราบความเป็นไปภายนอกพระราชวังว่า ประชาชนมีความเป็นอยู่อย่างไร ครั้นพระองค์ได้เสด็จประพาสพระนครและได้พบเห็นคนแก่ชรา คนที่มีอาการเจ็บไข้ และคนตาย ทำให้พระองค์ตกพระทัย เพราะไม่เคยทรงทราบมาก่อนว่า คนเรา จะมีลักษณะอาการเช่นนี้ เนื่องจากไม่เคยพบเห็นคนแก่ คนเจ็บและคนตาย ในเขตพระราชวังของพระองค์


เจ้าชายทรงครุ่นคิดถึงหนทางรอดอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อช่วยให้พระองค์และคนอื่นๆพ้นจากความแก่ ความเจ็บไข้และความตาย ในเวลาต่อมา ขณะที่พระองค์ทรงม้าประพาสอุทยานนอกวัง พระองค์ทอดพระเนตรเห็นนักบวช(สมนะ) พระองค์ทรงพอพระทัยในความสงบของนักบวช และ ณ เวลานั้น ทรงมีพระทัยน้อมนำไปสู่การออกจากบ้านเรือน ขณะนั้นได้มีผู้มากราบทูลพระองค์ว่า พระชายาของพระองค์ได้ประสูติพระโอรสแล้ว พระองค์ทรงพลั้งพระโอษฐ์ออกไปเบาๆว่า "บ่วงเกิดแก่ฉันแล้ว บ่วงเกิดแก่ฉันแล้ว" นี่คือตอนวัยหนุ่มของพระพุทธเจ้าค่ะ


นับแต่วันที่พระกุมารราหุลประสูติไม่นานนัก เจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดสินพระทัยออกผนวช เพื่อแสวงหาสิ่งที่เป็นความสุขอันแท้จริง ที่จะทำให้พระองค์และผู้อื่นหลุดพ้นจากความแก่ ความเจ็บและความตายได้ พระองค์จึงเสด็จออกจากพระนครพร้อมกับนายฉันนะมหาดเล็กและม้ากัณฐกะ จนกระทั่งเสด็จถึงริมฝั่งแม่น้ำอโนมา พระองค์จึงทรงเปลื้องเครื่องประดับ เพื่อให้นายฉันนะนำกลับพระนครพร้อมกับม้าทรง พระองค์ใช้พระขรรค์ตัดพระเมาลี และทรงอธิษฐานเป็นนักบวช เมื่อพระองค์มีพระชนมายุ 29 พรรษา นี่คือตอนสละโลกค่ะ


ขณะที่ออกผนวช พระสิทธัตถะได้ทรงศึกษากับอาฬารดาบสและอุทกดาบส ซึ่งเป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น แต่พระองค์ไม่ทรงพบหนทางที่จะดับทุกข์ที่แท้จริงได้ จึงเลิกเสาะแสวงหาวิชาความรู้จากสำนักเจ้าลัทธิต่างๆ ในสมัยนั้น มีผู้ที่เชื่อว่า การอดอาหารและการทรมานกายจะทำให้ได้รับความสุข จึงมีผู้สละบ้านเรือนมาประพฤติตนตามวิธีดังกล่าวเป็นจำนวนมาก พระสิทธัตถะ จึงได้ทรงกระทำการทรมานกาย ด้วยวิธีต่างๆ อยู่ตลอดเวลา 6 ปีที่พระองค์ออกผนวช แต่พระองค์ไม่ทรงค้นพบวิธีพ้นทุกข์ ซ้ำร้ายยังทำให้พระวรกายทรุดโทรม พระองค์จึงทรงเลิกทรมานพระวรกายและหันกลับมาบริโภคอาหารจากการบิณฑบาตเช่นเดิม นี่คือตอนความเพียรพยายามก่อนตรัสรู้นะคะแต่ไม่สำเร็จค่ะ


ทีนี้ ถึงตอนสำคัญ เมื่อพระองค์มีพระกำลังอย่างเดิมแล้ว พระองค์ได้ทรงประทับนั่ง ณ โคนใต้ต้นโพธิ์ โดยตั้งพระทัยแน่วแน่ว่า ถ้าไม่ค้นพบทางดับทุกข์แล้ว จักไม่ยอมลุกจากที่นั้น เมื่อจิตของพระองค์เป็นสมาธิแล้ว จึงเกิดปัญญารู้แจ้ง และตรัสรู้อริยสัจ 4 หรือความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ


พระสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ เมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ขณะที่มีพระชนมายุ 35 พรรษา นับจากเวลาที่ออกผนวชได้ 6 ปี และเป็นเวลา 45 ปี ก่อนพุทธศักราช


หลังจากที่พระสิทธัตถะตรัสรู้แล้ว พระองค์ทรงทบทวนธรรมที่ได้ตรัสรู้ แล้วจึงได้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดปัญจวคีย์ ณ ป่าอิสิปตมมฤทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี จนกระทั่งปัญจวคีย์สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงครั้งแรก (ปฐมเทศนา) เรียกว่า "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" ว่าด้วย อริยสัจ 4 และมรรคมีองค์ 8 นี่คือตอนที่พระองค์ตรัสรู้ค่ะ ที่จริงเรื่องสนุกกว่านี้อีกนะคะ เพราะพระองค์ต้องผจญมาร แต่สักหน่อยก็จะได้เรียนอีกค่ะ


เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเริ่มประกาศพระศาสนานั้น ทรงมีพระอรหันต์สาวกทั้งหมด 60 รูป ทรงรับสั่งให้สาวกทั้งหลายแยกย้ายกันไปเผยแผ่ศาสนาตามทิศทางต่างๆทิศทางละ 1 รูป ส่วนพระองค์เองได้เสด็จไปโปรดชฏิลทั้ง 3 พี่น้อง พร้อมด้วยบริวาร 1000 คน ที่ตำบลอุรุเวลาเสนาสิคม กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ซึ่งชฏิลทั้งหมดก็ยอมละทิ้งลัทธิความเชื่อเดิมของตน และกราบทูลขอบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า


หลังจากนั้น พระองค์ได้เสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสารและชาวเมืองราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงแสดงความเคารพนับถือในพระรัตนตรัย โดยสร้างวัดถวายเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า ชื่อว่า "พระเวฬุวันมหาวิหาร" ซึ่งนับได้ว่า "เป็นวัดแห่งแรก"ในพระพุทธศาสนา


เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบข่าวว่า พระโอรสของพระองค์บัดนี้ ได้ตรัสรู้แล้ว และประทับอยู่ที่กรุงราชคฤห์ จึงทรงส่งผู้เดินข่าวให้ไปทูลอาราธนาให้เสด็จสู่กรุงกบิลพัสดุ์ เมือ่เห็นว่าได้เวลาอันสมควรแล้ว พระพุทธเจ้าจึงเสด็จสู่กรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อโปรดพระราชบิดา พระมารดาเลี้ยงและพระประยูรญาติ ให้มีศรัทธาตั้งมั่นในพระรัตนตรัย


หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงเผยแผ่พระศาสนา ก็ได้มีผู้เลื่อมใสศรัทธาเข้ามาบวชเป็นอันมาก จนพระพุทธศาสนาได้ประดิษฐานอย่างมั่นคงในชนพูทวีป นี่คือตอนที่พระพุทธเจ้าประกาศธรรมค่ะ


และตอนนี้มาถึงตอนสุดท้ายของประวัติพระพุทธเจ้าค่ะ ภาพยนตร์ทุกเรื่องมีตอนจบนะคะ เรื่องของพระพุทธเจ้าก็เช่นเดียวกันค่ะ หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงประชวรหนักระหว่างจำพรรษาที่ 45 อันเป็นพรรษาสุดท้าย ณ กรุงเวสาลี พระองค์ได้ทรงปลงอายุสังขารด้วยการตั้งพระทัยว่า จะเสด็จดับขันธปรินิพพานนับจากนี้ไปอีก 3 เดือนข้างหน้า ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธองค์ได้ประทานปัจฉิมโอวาทแก่เหล่าสาวกว่า "ดูก่อน..ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราตถาคตเตือนท่านทั้งหลายให้รู้ว่า สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลาย จงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยธรรมอันไม่ประมาทเถิด"


จากนั้น พระองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานในยามสุดท้ายของวันเพ็ญขึ้นเดือน 15 ค่ำ เดือน 6 ขณะพระชนมายุ 80 พรรษา


เมื่อมัลลกษัตริย์ได้ทราบข่าวปรินิพพานของพระพุทธเจ้า จึงได้จัดตบแต่งพระพุทธสรีระ แล้วเปิดโอกาสให้ประชาชนเตารพพระศพ 7 วัน รอจนพระมหากัสสปะเถระเดินทางมาถึง จึงได้ทำพิธีถวายพระเพลิง ส่วนพระบรมสารีริกธาตุและพระอังคารได้แจกจ่ายแก่ผู้แทนนครต่างๆ รับไปสักการบูชาที่บ้านเมืองตน


จบแล้วค่ะ ไม่ยาวเกินไปใช่มั้ยคะ อ่านแล้วจำให้เหมือนกับไปดูภาพยนตร์มาแล้วเอาไปเล่าให้คุณย่า คุณยาย คุณพ่อ คุณแม่ฟัง อาจมีรางวัลจากท่านก็ได้นะคะ ถ้ามาเล่าให้คุณครูฟัง ก็ได้คะแนนไปค่ะ


ทีนี้เป็นของแถม ที่คุณครูอยากให้ลูกๆได้รู้เอาไว้ จากเรื่องพุทธประวัติค่ะ จากพุทธประวัตินั้นทำให้เกิด "สังเวชนียสถาน 4"คือ


1. สถานที่ประสูติ อยู่ที่สวนลุมพินีวัน ปัจจุบันเรียก "รุมมินเด" ประเทศเนปาล


2. สถานที่ตรัสรู้ อยู่ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ปัจจุบันเรียก"พุทธคยา" รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย


3. สถานที่แสดงธรรมครั้งแรก อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤทายวัน กรุงพาราณสี แคว้นกาสี ปัจจุบันอยู่ที่สารนาถ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย


4. สถานที่ปรินิพพาน อยู่ที่สาลวโนทยาน กรุงกุสินารา แคว้นมัลละ ปัจจุบันอยู่ที่รัฐอุตรประเทศ ประเทศอินเดีย

Posted by ครูพเยาว์ at 10:25 PM