รอบรั้ว พระพุทธศาสนา อิทธิบาท 4
Tuesday, August 24, 2010
ฉันทะ- ความพอใจ เราต้องสร้างความพอใจ ใฝ่ใจกับสิ่งที่เราจะทำนั้นอยู่เสมอ เมื่อก่อนไม่ชอบคณิตใช่มั้ย เปลี่ยนใหม่ ลองเผชิญหน้ากันดู มันมีดีอะไรบ้าง ทำความเข้าใจกับมัน อยู่กับมันบ่อยๆเข้า แล้วก็จะเข้าใจ โจทย์ตัวนี้ทำไม่ได้ ถามเพื่อน ถามคุณครู ให้คนอื่นเจาะให้ดู แล้วเราก็จะเห็นว่ามันเป็นอย่างไร จากนั้นก็จะแก้โจทย์ได้เอง ยกเว้นคุณครูตั้งโจทย์มาผิด เรื่องตุ๊กตาก็เหมือนกัน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตุ๊กตา อยู่ที่คุณแม่ ทำอย่างไรจะให้คุณแม่ใจอ่อนลงมา ปัญหาอยู่ตรงนี้ แก้ได้มั้ย แก้ได้ค่ะ...เชื่อฟังคุณแม่ไว้ก่อน ช่วยงานบ้าน ขยันเรียนให้มากขึ้น คะแนนที่เราทำที่บ้านเพิ่มขึ้นแน่ๆ...คือทำให้คุณแม่พอใจขึ้นมา
วิริยะ – ความเพียร คือขยันเข้าไว้ หมั่นฝึกปรือฝีมือเอาไว้ ดูเด็กที่เล่นเกมส์เป็นตัวอย่างก็ได้ เล่นแพ้มาไม่รู้สักกี่เที่ยว ก็พยายามอยู่นั่นแหละ ตายแล้วตายอีก ถ้าเอาศพมากองในห้องเล่นเกมส์คงจะล้นห้องออกมา แต่เขาก็สู้เล่นจนชนะเกมส์นั้นได้ ขยันจนมีความชำนาญ คณิตก็เหมือนกัน...ครูจะยกคณิตขึ้นมาเรื่อย....เอ้า นั่งสมาธิก็เหมือนกัน...ครั้งแรกอาจปวดเมื่อยขา...แต่พอนานๆมันก็จะหายไปเอง ดูพระที่แก่พรรษานั่งดูซิ เป็นชั่วโมงๆ ไม่เห็นขยับตัวเลย ความชำนาญที่มาจากความเพียร...ตุ๊กตาที่หวังเอาไว้ก็เช่นกัน...เราก็ต้องเพียร ช่วยงานบ้านคุณแม่ ปากหวานๆเข้าไว้...เดี๋ยวคุณแม่ก็อ่อนลงเอง
จิตตะ – ใจจดจ่อในงาน คือ ตั้งจิตให้มั่นว่า เราทำอะไรอยู่ จดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น มันไม่เครียดหรอก เพราะเราหวังผลเป็นเลิศอยู่แล้ว อย่าปล่อยใจล่องลอยไปที่อื่น นั่งสมาธิก็เหมือนกัน จิตตะ คือการตั้งสมาธินั่นเอง เป็นการเสริมพลังให้กับ ฉันทะ กับ วิริยะเข้าไปอีก...เห็นมั้ย เริ่มขลังขึ้นไปอีก การนั่งสมาธิ ก็จะนานขึ้น การแก้โจทย์คณิตก็จะแจ่มแจ้งขึ้น เพราะใจไม่วอกแวก มีสมาธิในการแก้โจทย์ได้มากขึ้น...เรื่องตุ๊กตา ก็คงจะไม่ไปไหนแน่นอน เพราะการเอาใจใส่ต่องานของคุณแม่ให้มากขึ้น ไม่ทำจานแตก...แถมยิ้มหวานๆให้มากขึ้น...มาถึงขั้นนี้แล้ว คุณแม่ก็พร้อมที่จะล้วงกระเป๋าเอาตังค์ให้แล้วละ
วิมังสา – ความไตร่ตรอง คือ การหมั่นใช้ปัญญา พิจารณาใคร่ครวญ หาเหตุผลและตรวจสอบข้อเสีย หรือหย่อนยานในการทำสิ่งนั้น และคิดค้นวิธีแก้ไขข้อผิดพลาด จนถึงปรับปรุงให้ดีขึ้น เห็นมั้ย จนที่สุดเราก็มาถึงขั้นสุดท้ายแล้ว ถ้ายังไม่สำเร็จงานที่ทำเอาไว้เรายังมีเวลาที่แก้ไขได้อีก ปรับปรุงให้ดีขึ้น อย่าลืมว่านี่คือ คาถาของพระพุทธเจ้าที่มีมากว่า 2500 ปีมาแล้ว...ถ้าเธอทำตามนี้ได้ทุกข้อ คณิตศาสตร์ หรือวิชาใดๆ...มันหมูๆไปหมด นั่งสมาธินั่นหรือ...ของเราต้องงดงามแน่นอน ตัวตั้งตรง หลังตรง ตาพริ้มๆ นั่งได้เป็นชั่วโมงทีเดียว...(ครูหวังเอาไว้นะ)...ส่วนตุ๊กตานั่น คุณแม่เตรียมตัวควักตังค์ตั้งแต่ข้อ จิตตะแล้ว...ถึงตอนนี้ถ้ายังไม่ได้ ก็ลองถามอีกทีดู เผื่อว่าอาจต้องรอถึงสิ้นเดือนนะคะ....แต่ครูว่า อย่าเล่นกันมากนักเลย ทั้งเกมส์ทั้งของเล่น เก็บเงินเอาไว้ใช้วันหน้าดีกว่า พวกเธอยังต้องเรียนต่ออีกหลายปี นะคะ เอาบทกลอนไว้อ่านเล่น ต้องขอโทษเจ้าของบทกลอนด้วย เพราะเก็บมานาน จนจำไม่ได้ว่าเอามาจากไหน
ฉ้นทะ-คือ มีใจ ในสิ่งนั้น
รักชอบมัน หัดย้ำ ทำนิสัย
วิริยะ-พากเพียร เรียนด้วยใจ
ขยันไว้ อย่าหน่าย พ่ายตัวตน
จิตตะ-ฝึก ตั้งใจ ให้แม่นมั่น
มุ่งฝ่าฟัน ความลำเค็ญ ให้เห็นผล
วิมังสา-หมั่นตรอง ลองตรวจตน
ว่าตกหล่น พลาดไป ตรงไหนกัน
นี่คือสูตร สำเร็จ ผลเด็ดขาด
ไม่พลั้งพลาด อัปรา ถ้ามุ่งมั่น
พุทธองค์ ตรัสไว้ นัยสำคัญ
เช้าตื่นพลัน ตั้งใจทำ จำไว้เอย
...
Posted by
ครูพเยาว์
at
10:18 AM
Labels: การศึกษา, พุทธศาสนา, วัดอภิญญาเทสิตธรรม