Daisypath Anniversary tickers

รอบรั้ว เมืองอุดร พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม

Saturday, July 28, 2007



พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม พระองค์เป็นผู้สถาปนาเมืองอุดร ฯ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 25 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาสังวาลย์ ประสูติเมื่อปี พ.ศ.2399 ได้รับพระราชทานนามว่า พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ ทรงเป็นต้นราชนิกูล ทองใหญ่ ทรงเริ่มการศึกษาภาษาไทย (อักษรสมัย) และภาษาบาลี จากพระอาจารย์ชาวไทย ทรงศึกษาภาษาอังกฤษ จาก นางแอนนา เลียวโนเว็น และนายแพเตอร์สัน อย่างแตกฉาน จนสามารถตรัส และเขียนได้ดี พระองค์ได้ทรงพิธีโสกันต์ (โกนจุก) เมื่อปี พ.ศ.2410 และได้ทรงผนวชเป็นสามเณรแล้ว เสด็จไปประทับที่วัดบวรนิเวศ เมื่อปี พ.ศ.2411 ขณะทรงผนวชได้ตามเสด็จ พระบรมราชชนกไปทอดพระเนตรสุริยุปราคา ที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันต์

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต พระองค์ได้เปลี่ยนฐานันดรเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ทรงผนวช เมื่อปี พ.ศ.2418 และประทับอยู่ ณ วัดราชประดิษฐ์ ฯ อยู่หนึ่งพรรษาจึงลาสิกขา เพื่อเข้ารับราชการเป็นนักเรียนศาลฎีกา รับราชการในพระบรมมหาราชวัง จนพระชนมายุได้ 25 พรรษา ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาเป็นกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ทรงศักดินา 15,000 โดยได้ทรงบังคับกรมวังนอก และเป็นผู้ช่วยราชการกรมวังในอีกตำแหน่งหนึ่ง ทรงตั้งกรมดับเพลิงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง และได้ริเริ่มกรมทหารล้อมพระราชวัง ซึ่งต่อมาคือ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์

ในปี พ.ศ.2428 พระองค์ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้นายพันเอก พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ ศิลปาคม เป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้ ด้านมณฑลลาวพวน แถบเมืองหนองคาย ยกทัพขึ้นไปปราบพวกจีนฮ่อ ที่เข้ามาปล้นสะดมราษฎรในบริเวณมณฑลลาวพวน หัวพันทั้งห้าทั้งหก กองทัพไทยฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ประสบความยากลำบากในการปราบฮ่อ เนื่องจากภูมิประเทศเป็นป่าเขา แต่ในที่สุดก็สามารถปราบได้ จึงได้ทรงสร้างอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ ขึ้นที่เมืองหนองคาย เมื่อปี พ.ศ.2429 เพื่อบรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวิตเพื่อชาติในครั้งนั้น

หลังจากไทยได้ปราบฮ่อเรียบร้อยแล้ว ฝรั่งเศสได้ฉวยโอกาสเข้ายึดแคว้นสิบสองจุไทย โดยอ้างว่าจะคอยปราบพวกโจรจีนฮ่อ ทำให้เกิดกรณีพิพาทเรื่องอาณาเขตระหว่างไทยกับฝรั่งเศสขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2436 ฝรั่งเศสบังคับให้ไทยลงนามในสนธิสัญญายอมรับสิทธิของฝรั่งเศส เหนือดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และให้ไทยถอยกองกำลังทหารให้ห่างจากชายแดนแม่น้ำโขงในรัศมี 25 กิโลเมตร เป็นเหตุให้นายพลตรีพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษ์ ศิลปาคม ข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวพวน ต้องย้ายที่บัญชาการมาตั้งที่บ้านเดื่อหมากแข้ง ในวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2436 พระองค์ได้ทรงรับราชการต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอุดร (ลาวพวน) และสถาปนาเมืองอุดรธานี และวางระเบียบแบบแผนการปกครองหัวเมืองชายแดนอยู่ 7 ปี เศษ จึงเสด็จกลับกรุงเทพ ฯ เมื่อปี พ.ศ.2442

ต่อมาพระองค์ได้ประชวรด้วยโรคพระอันตะพิการและสิ้นพระชนม์ ณ วังตรอกสาเก เมื่อปี พ.ศ.2467 สิริรวมพระชันษาได้ 68 ปี

อนุสาวรีย์ของ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เมื่อสร้างเสร็จด้วยความร่วมมือของบรรดาข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ก็ได้อัญเชิญมาประดิษฐานเอาไว้ที่ทุ่งศรีเมืองในปี พ.ศ. 2514 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมาทรงเปิดอนุสาวรีย์ ในสมัยนั้นอนุสาวรีย์อยู่ในบริเวณใกล้ๆกับศาลปู่ย่าที่มาสร้างให้ชาวอุดรมากราบไหว้ตอนเดือนธันวาคม หรืออยู่ใกล้ๆกับศาลาทุ่งศรีเมือง ที่เมื่อวันขึ้นปีใหม่ เราชาวอุดรไปรับพรมน้ำมนต์กันที่นั่น ต่อมาเมื่อปี 2524 ได้อัญเชิญมาประดิษฐานเอาไว้ตรงวงเวียนห้าแยกน้อย และเมื่อถึงวันสถาปนาเมืองอุดร (18 มกราคม) เหล่าข้าราชการ หน่วยงานต่างๆ ประชาชน แม่บ้าน ต่างก็พร้อมกันมารำบวงสรวงถวายให้แด่ พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ฯ เป็นประจำทุกปี ตัวคุณครูเองก็มีโอกาสรำถวายให้ด้วย เพราะพวกเราก็เกิดที่นี่ เท่ากับเป็นลูกหลานพระองค์ท่านเหมือนกัน จากรูปด้านซ้ายมือนะคะ นั่นคือชุดพื้นเมืองท้องถิ่นของเราค่ะ นุ่งผ้าซิ่น เสื้อสีแสด ซึ่งเป็นสีของดอกจาน หรือทองกวาว เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดอุดรธานีของเราค่ะ ใครเป็นใครดูเอาเองนะคะ จะเห็นว่ามีคุ้นๆหน้าอยู่หลายคนค่ะ

Posted by ครูพเยาว์ at 7:18 PM