Daisypath Anniversary tickers

รอบรู้ ครูสมัยใหม่

Sunday, July 15, 2007

เมื่อวันก่อนพูดเรื่องครูโบราณไปแล้ว....วันนี้ขอกลับมาพูดเรื่องครูสมัยใหม่ในสายตาของนักวิชาการ...ตามสัญญาค่ะ สิ่งที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลง เพราะพฤติกรรมของคนเปลี่ยนไป เด็กเกิดการเบี่ยงเบนเพราะสังคมตะวันตกเข้ามา เครื่องเล่นใหม่ๆ เกมส์ที่จูงใจ เร้าใจมีมากขึ้น จะเห็นได้ว่าเราจะตกใจกับพฤติกรรมการติดเกมส์ของเด็กมาก ศูนย์การค้าเป็นที่เที่ยวเตร่ของเด็ก สิ่งเหล่านี้ทำให้ดึงความสนใจจากบทเรียนอันน่าเบื่อหน่ายได้ การเรียนก็ตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย ในประเทศที่เขาสร้างระเบียบไว้อย่างเข้มแข็งเช่นสิงคโปร์ เวียตนาม จีน ก็ไม่เจอหนักแบบไทย ผลของการจัดอันดับปรากฎว่าไทยหล่นไปอยู่ในอันดับท้ายๆ ซึ่งเหตุการณ์นี้อเมริกาก็เจอ ผลการเรียนของเด็กอเมริกันก็ตกลงเช่นกัน รัฐบาลของเขาก็ได้เร่งเข้ามาแก้ไข โดยเพิ่มงบประมาณเข้าสนับสนุนนับพันล้านเหรียญเลยทีเดียว ความตกใจของรัฐบาลอเมริกันถ้าจะนับความสูงที่สะดุ้งจากเก้าอี้สัก 2 นิ้ว ของไทยต้องสะดุ้งสูง 5 นิ้วค่ะ

หลังจากสะดุ้งแทบตกเก้าอี้แล้วนะคะ เราก็รีบปฏิรูปกันขนานใหญ่ เอาครูไปอบรมเอย สร้างครูพันธุ์ใหม่เอย เปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบเงินเดือนใหม่เอย...และยังต้องตามมาอีกหลายๆเอย จึงอยากให้ลองพิจารณาเรื่อง "ครูพันธุ์ใหม่" หรือ "ครูยุคใหม่"ว่าเป็นอย่างไร แตกต่างจากครูยุคก่อนๆ อย่างไรจากการที่ได้รวบรวมแนวคิด การทำวิจัย การประกาศหลักการของประเทศต่างๆ การประชุมสัมมนา รวมทั้งการสำรวจแล้วจัดทำคุณลักษณะครูยุคใหม่ที่คาดหวัง ครูเลือดใหม่- ครูพันธุ์ใหม่ น่าจะมีภาพลักษณ์ คุณลักษณ์ ที่สะท้อนมาจากหลักการ (Principle) 10 ประการ ซึ่งน่าจะใช้เป็นมาตรฐานการผลิตและพัฒนาครูใหม่ - ครูเก่าที่ อยู่ในระหว่างการพัฒนาได้

หลักการที่ 1 : ครูพันธุ์ใหม่มีความเข้าใจในเรื่องของแนวคิดหลักแห่งวิชาชีพ ครู มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของเครื่องมือที่จะใช้สำหรับการแสวงหาความรู้ การสอบ ถาม มีความเข้าใจในโครงสร้างของสาขาวิชาที่ตนเป็นผู้สอน และสามารถสร้างสรรค์ ประสบการณ์ในการเรียนรู้ที่จะช่วยส่งเสริมให้เนื้อหาวิชาเหล่านั้นเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน

หลักการที่ 2 : ครูพันธุ์ใหม่มีความเข้าใจในเรื่องของการเรียนรู้และพัฒนาของเด็ก รู้จักสร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นเพื่อช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางสติปัญญาสังคม และพัฒนาการส่วนบุคคล

หลักการที่ 3 : ครูพันธุ์ใหม่มีความเข้าใจถึงความแตกต่างในการเรียนรู้ของเด็ก และสามารถสร้างสรรค์โอกาสในการจัดการเรียนการสอนที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับผู้เรียน ที่หลากหลายได้

หลักการที่ 4 : ครูพันธุ์ใหม่มีความเข้าใจและรู้จักใช้ยุทธวิธีที่หลากหลาย ในการสอน เพื่อกระตุ้นให้เด็กได้รู้จักคิดอย่างมีเหตุผล สามารถแก้ไขปัญหาและมีทักษะ ในเชิงปฏิบัติ

หลักการที่ 5 : ครูพันธุ์ใหม่ใช้ความเข้าใจในตัวเด็กแต่ละบุคคล รวมทั้งการใช้ทั้ง แรงจูงใจและพฤติกรรมของกลุ่มมาสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดปฎิสัมพันธ์ ทางสังคมในเชิงสร้างสรรค์ มีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นในการเรียนรู้และการสร้างแรงจูงใจ ในตัวของผู้เรียน

หลักการที่ 6 : ครูพันธุ์ใหม่รู้จักเลือกใช้ถ้อยคำที่ก่อให้เกิดผล สามารถใช้ กับอากัปกิริยาท่าที รวมทั้งเทคนิควิธีการสื่อความหมายที่ช่วยกระตุ้นให้เด็กรู้จักถาม รู้จัก แสวงหาความรู้ ตลอดทั้งรู้จักสร้างบรรยากาศแห่งความร่วมมือและปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียน อย่างสร้างสรรค์

หลักการที่ 7 : ครูพันธุ์ใหม่รู้จักวางแผนการสอนให้สอดคล้องกับเนื้อหาวิชา ความต้องการของชุมชนและเป้าหมายของหลักสูตร

หลักการที่ 8 : ครูพันธุ์ใหม่มีความเข้าใจและใช้ยุทธวิธีการประเมินผลในรูปแบบ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพื่อประเมินสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นว่าผู้เรียนจะ ได้รับการพัฒนาทั้งทางสติปัญญา สังคม และร่างกายอย่างต่อเนื่อง

หลักการที่ 9 : ครูพันธุ์ใหม่จะต้องเป็นนักปฏิบัติการที่มีความถี่ถ้วน รู้จักที่จะ ประเมินผลการปฏิบัติงานของตนเองและบุคคลอื่นอย่างต่อเนื่อง (นักเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ ในชุมชนการเรียนรู้) พร้อมทั้งหาโอกาสที่จะสร้าง ความก้าวหน้าทางวิชาชีพของตนให้เกิดขึ้น

หลักการที่ 10 : ครูพันธุ์ใหม่จะต้องสร้างความสัมพันธ์กับผู้ร่วมงานในโรงเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และหน่วยงานต่างๆ ในชุมชนขนาดใหญ่ (ชุมชนที่มีเครือข่ายมาก) เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเด็ก

อย่าได้ตกใจและจมหายไปในทะเลข้อมูลข้างบนนะคะ...ครูเองเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงจากฤาษีเป็นนักวิชาการนี่เปลี่ยนไปชนิดที่เรียกว่าจำไม่ได้เลย ว่าครูคนเก่าของเรายังต้องเรียกว่าครูอยู่หรือเปล่า แต่ก็นั่นแหละค่ะ โลกของเรามันเล็กลง บางคนเดี๋ยวนี้บอกว่าโลกแบน ถึงกับเขียนหนังสือออกมาขายจนร่ำรวย อย่างเช่นหนังสือ "ใครว่าโลกกลม" อะไรที่มันเปลี่ยนไปในโลก เราก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย การเปลี่ยนแปลงของเราครั้งนี้ ก็อยู่ในทำนองเดียวกันกับในอเมริกาที่เขากำลังทำอยู่กับการปรับเรื่องครูในรุ่นหน้าหรือรุ่นต่อไป (Project on the Next Generation of Teachers)ที่จะมาเป็นพลังในการสอน ซึ่งจะพูดถึงเรื่อง มาตรการจูงใจให้เข้ามาเป็นครู, มาตรการช่วยเหลือในการสอนของครู และมาตรการในการรักษาคุณภาพในการสอนของครูเอาไว้ เหมือนๆกันกับเรามั้ยคะ

Posted by ครูพเยาว์ at 11:40 AM