Daisypath Anniversary tickers

รอบรั้ว Understanding by design

Monday, June 25, 2007


ช่วงนี้เห็นคุณครูกำลังอบรมเรื่องการสอนอยู่ บอกว่าแนวใหม่ ที่ฝรั่งชาวอเมริกันได้แนะนำเข้ามา ที่จริงขยายแนวการสอนนี้ไปทั่วโลก เขียนหนังสือขาย โกยเงินไปเยอะแล้ว เรียกการสอนนี้ว่า “Understanding by design” แปลง่ายๆ ว่าออกแบบการสอนให้เด็กเข้าใจ หรือ การเข้าอกเข้าใจโดยการออกแบบของครู อะไรทำนองนี้แหละ ครูนักการศึกษาฝรั่งสองคนนั่น ก็ต้องออกชื่อให้เป็นเกียรติแก่ท่านก่อนคือ Grant Wiggins และ Jay McTighe

เอาละค่ะ...เข้ามาสู่เรื่องที่ว่านี่เลย ก่อนอื่น ก็ต้องเข้ามาสู่ คำจำกัดความแบบไทยๆ ที่ต้องแปลความหมายกัน ตีความกัน...นักการเมืองเขาชอบนะคะ...ตีความ อะไรคือความเข้าใจ และมันต่างกันอย่างไรกับการแค่รับรู้ แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่า เด็กๆลูกศิษย์ของเรานั่นเข้าใจอย่างถ่องแท้ และเขาจะนำความรู้ที่ได้เหล่านั้นไปประยุกต์ใช้ให้มันเป็นประโยชน์ที่ถูกทางแก่ตัวเขาได้อย่างไร เราจะออกแบบบทเรียนอย่างไรที่จะทำให้เด็กได้รู้เรื่อง และเข้าใจ โดยไม่รู้ตัวว่านี่กำลังเรียนอยู่ในบทเรียนนะ คำถามเบื้องต้นเหล่านี้ มีคำตอบอยู่แล้วในหนังสือคู่มือ ที่คณะอบรมครูเอามาแจกให้...แต่ที่จะพูดต่อก็คือ ในคู่มือนั้นเขาจะบอกอะไรบ้าง โดยย่อ และพื้นๆว่า พื้นฐานของการสอนแบบนี้ (Understanding by design นี่แหละ) มาจากทฤษฎีการเข้าใจมาจากฐานของการเข้าใจใน 6 แง่มุม หรือแนวทาง หรือเหลี่ยม แล้วแต่จะเลือกเอา อดใจไว้นิดเถอะค่ะ จะนำมาพูดทีหลัง ในหนังสือคู่มือนี้ จะให้แนวทางที่นำไปปฏิบัติได้ มีอะไรบ้าง อย่างเช่น บทเรียนที่เป็นแม่แบบไว้แล้ว, ใบความรู้, แบบฝึกหัด, อุปกรณ์สื่อการสอน, มาตรฐานของบทเรียนรวมกับบททดสอบ และการทบทวนขั้นตอนการเรียนรู้และการนำมาประยุกต์กับแนวความคิดต่างๆในการเรียนรู้แบบนี้ ตามมาด้วยตรรกะของท่านอาจารย์ทั้งสองคนนั่น ที่นำแนวความคิดว่าการสอนแบบย้อนกลับ..ย้อนไปหาจุดเดิม จะพูดไทยว่าอย่างไรดีคะ..ภาษาอังกฤษบอกว่า backward design approach ในหนังสือคู่มือบอกวิธีที่จะวางแผนแนวหลักสูตร, บทเรียน และแนวทางการสอน หนังสือคู่มือนี้ ได้พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยช่วยเหลือครูที่สนใจในการออกแบบบทเรียนในวิชาต่างๆให้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาการเข้าใจในบทเรียนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น อีกอย่างหนึ่งที่ทำบทเรียนแบบนี้ขึ้นก็เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่เด็กในชั้นเรียนต่างๆกัน ไม่ว่าใครก็จะได้มีประโยชน์จากแหล่งเรียนรู้นี้


เมื่อมาถึงจุดนี้ อยากจะเพิ่มเติมให้อีกนิด...ในการสอนแบบนี้ เราที่เป็นชาวพุทธ ควรที่จะได้รับทราบมาบ้างแล้วว่า องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น ได้มีวิธีที่จะโปรดสั่งสอนเราก็ด้วยวิธีที่ไม่แตกต่างกัน นั่นคือ บทที่ว่าด้วยอิทัปปัจยตา..ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมาแต่เหตุ..เกิดสิ่งนี้ขึ้นมาได้ เพราะมันมีปัจจัยอย่างนี้ส่งเสริมให้เกิด สองพันกว่าปีแล้ว ที่ชาวพุทธรับรู้กันมา ท่านพุทธทาส ก็ได้นำคำสอนนี้ไปเทศนา แพร่หลายไปทั่วโลก ขอเรียนถามท่านทั้งหลายว่า ทำไมเราไม่เอาคำสอนนี้มาเป็นหลักในการสอนของเราคะ ไม่เป็นไรค่ะ แค่ขอออกความเห็นสักนิด ก็อดคิดไม่ได้ว่า ทุกอย่างมันเกิดแต่เหตุ เราก็เข้าไปดูเหตุอันนั้น มันก็จะเข้าใจเรื่องทั้งหมดได้ ไม่ต้องสาธุนะคะ จบเรื่องนี้แค่นี้ละค่ะ
ที่นี้ จะนำเข้าไปสู่คำถามหัวใจหลักของการสอนแบบนี้ อะไรคือ Understanding by design ในหนังสือคู่มือของครูไทยเรายังไม่แปลคำนี้ออกมาเลยนะคะ ทับศัพท์เต็มๆตัวไปเลยค่ะ UbD คือโครงร่างแนวทางที่จะปรับปรุงพัฒนาให้เด็กประสบความสำเร็จในการเรียนรู้โดยเน้นไปที่บทบาทหน้าที่ของครูที่จะออกแบบการเรียนการสอนให้ โดยอาศัยหลักพื้นฐานมาจากหลักสูตรส่วนกลาง ที่จะช่วยทำให้ครูมีความเข้าใจอย่างชัดเจนถึงจุดประสงค์ของบทเรียนหรือเป้าหมาย, กลไกที่แสดงให้เห็นว่าเด็กมีความรู้จริง ประเมินได้, ให้เด็กมีความเชี่ยวชาญ และเอาใจใส่ในการเรียนมากขึ้น นั่นคือเป้าหมายขั้นพื้นฐานที่อยากให้เด็กได้มีการพัฒนา มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เมื่อสอนได้เช่นนี้ เด็กๆจะได้แสดงออกให้เห็นเมื่อเขาต้องไปเจอกับเรื่องที่ซับซ้อน เหตุการณ์จริงๆที่เด็กเหล่านั้นจะได้ อธิบายเรื่องราวต่างๆ, เข้าใจความหมายของแต่ละเรื่อง แต่ละเหตุการณืได้, รู้จักนำเอาสิ่งเหล่านั้นเข้ามาใช้หรือประยุกต์ใช้กับตัวเขา, ได้เห็นมุมมองให้กว้างไกลขึ้น แง่มุมที่แตกต่างก็ได้รับรู้ด้วย, มองทะลุในเรื่องต่างๆที่จะเกิดขึ้น มีการรับรู้ เดาเหตุการณ์ต่างได้ โดยไม่ต้องเข้าไปเจอจริงๆ และก็เข้าใจในเรื่องต่างๆมากขึ้น...ถ้าเรามีเด็กแบบนี้จริงๆ ก็น่าดีใจกับอนาคตของประเทศเราได้เลยนะคะ ต้องพร้อมใจกันช่วยทำให้ได้ค่ะ....สู้กันให้เต็มที่เลยค่ะ อันที่จริงได้เอาแง่มุมหลัก 6 ข้อ มาพูดแล้วนะคะ...แต่ยังไม่ได้บอกค่ะว่าอยู่ตรงไหน...นี่ก็พยายามเต็มที่นะคะว่าไม่ให้มันเหมือนกับนั่งเลคเช่อร์ค่ะ
ดูๆจากหนังสือที่คณะอบรมเอามาแจก มีหลายหน้าอยู่นะคะ ยังอ่านไม่หมดค่ะ นี่รับตรงๆเลย แต่จะหาเวลามานั่งอ่านดูสักวัน แต่วันนี้อยากพูดเรื่อง ความหมายของคำบางคำที่น่าสนใจในเรื่องนี้เป็นเบื้องต้นไว้ก่อน ปูพื้นเอาไว้ เผื่อวันหน้าวันหลัง มีโอกาศเขียนอีกจะได้เข้าใจร่วมกัน แต่ขอออกตัวไว้ก่อนนะคะ ขอแค่ว่ามีความเข้าใจอย่างนี้ ในตอนนี้ วันหลังเผื่อว่าท่านผู้รู้(จริงๆ) เขียนว่าอย่างไร จะได้เดินตามหลังท่านได้
คำแรก คือ Theme(s) นี่คือหัวข้อเรื่อง หัวข้อสำคัญ แก่นของเรื่อง ให้มันเข้าใจกันอยู่ในแนวนี้นะคะ เอาละ สมมุติว่าคุณเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ มีบ้างมั้ย หรือบ่อยมั้ย ที่เราออกแบบบทเรียนของเราโดยอาศัยเรื่องราวต่างๆจากบทเรียนที่เราสอนอยู่ ตามความจริงแล้วพื้นฐานของมันก็มาจากภาษาที่มาจากคำพูดของเรานั่นเอง อย่างเช่น
“I’m in the middle of my Huck Finn unit right now; what are you doing?” “I just started my unit on The Things They Carried, by Tim O’Brien.” ในการสอนแบบ Backward design จะยกระดับในการคิดเกี่ยวกับแก่นแท้ของเนื้อหาในภาษามากกว่าคำพูดในบทเรียนซึ่งจะต่างกันหรือตรงกันข้ามกันเลยทีเดียว มันเป็นการเปิดทางกว้างขึ้นในการสอนที่จะนำบทเรียนไปสู่เนื้อหาที่แบบมีทางเดียวโดดๆ มาเป็นแบบหลายทางขึ้นมา หรือที่ฝรั่งบอกว่า multi-genre approach เราก็จะนำบทเรียนนั้น คำพูดนั้นไปสู่แนวความคิดที่ต่างกันออกไป โดยให้มันอาศัยความสัมพันธ์แนวแก่นคำถามอันเดิมเอาไว้ นี่ก็เป็นความจำเป็นที่เรายังต้องเน้นเรื่องสำคัญไปที่ “ความคิดหลักๆและคำถามที่ต่างๆออกไป” ซึ่งก็จะนำให้นักเรียนเข้าสู่บทเรียนแบบสนุกสนาน และทำให้เขาเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงบทประพันธ์และการใช้ภาษา ดังนั้นเราก็อาจเปลี่ยนบทสนทนาให้เป็นในเรื่อง “I’m in the middle of a unit on Social Justice; what are you doing?” “I’m just starting a unit exploring the complexities of War”
ในความจริง ไม่ว่าที่ไหนในโลก โรงเรียนมักมีอุปสรรคในเรื่องงบประมาณที่นำเอาอุดหนุนเรื่องหนังสือซื้อเอามาใส่เพิ่มในห้องสมุด ครูเองก็ต้องอาศัยหนังสือที่มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ยนี่แหละมาประยุกต์ใช้ ซึ่งถ้านำเอามาสอนแล้วก็ไม่ได้ทำให้การสอนแบบนี้ลดคุณค่าลงไปได้เลย...ฟังดูเหมือนโม้เลยนะคะ อีกอย่างหนึ่งถ้านำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาสอนแล้ว หนังสือยังใช้เล่มเดิมอยู่เลยค่ะ พระไตรปิฎก ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย นำมาสอนได้ อย่างหนังสือของท่านพุทธทาส เรื่อง “คู่มือมนุษย์” เก็บไว้จนลูกชายต้องก้มหัวให้เวลาเดินผ่าน เพราะหนังสืออายุมากกว่า ที่จริงก็แก่กว่าครูหลายๆคน เพราะท่านสอนสมัยเราเพิ่งเกิด หรือยังไม่เป็นตัวเป็นตนเลย...อ้าวหลงไปอีกแล้ว

Posted by ครูพเยาว์ at 10:11 PM