Daisypath Anniversary tickers

รอบรั้ว Understanding by design " Part II "

Monday, June 25, 2007



ได้นั่งอ่านทบทวนเอกสารการอบรมเกี่ยวกับการสอนแบบ Understanding by design แล้วก็เห็นว่า มันก็น่าสนใจดี หลายๆประเทศได้นำวิธีการสอนแบบนี้ไปใช้ เราเองก็ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการสอนมาเรื่อยๆ หลายวิธี เลิกใช้แบบเก่าๆ ที่เห็นว่ามันโบราณเต็มที...ค่ะ...แบบท่องจำเอย...ท่องบทอาขยาน..ท่องสูตรคูณ..เสียงแจ้วๆเหล่านั้น นับวันจะไม่ค่อยได้ยิน...นัยว่า มันเก่า แต่เชื่อมั้ยคะ ว่าวิธีแบบนี้นี่แหละ ที่คนโบราณของเราใช้นี่แหละ สร้างประเทศขึ้นมาได้ จนทุกวันนี้ อาจไม่ได้ยิงจรวดไปดวงจันทร์กับเขา ไม่ได้สร้างดาวเทียมด้วยฝีมือของเราเอง แต่จะไปโทษการเรียนการสอนแบบนั้นได้อย่างไร มันอยู่ที่แนวความคิดของคนที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ ให้เอาตัวรอด เราเป็นคนไทยอยู่แบบสบายมาตลอดชั่วปู่ย่าตายาย ตั้งแต่บรรพบุรุษก่อสร้างประเทศมา ต้องดิ้นรนมากมั้ยคะรู้สึกเลยค่ะ ว่าไม่ได้ดิ้นรนแบบพวกฝรั่ง หรือญี่ปุ่น ที่ต้องเอาตัวรอดกันสุดชีวิต...อ้าวๆ..ถ้าบางคนบอกว่า แล้วสิงคโปร์ล่ะ อยู่แถบเดียวกับเราเลย ยังเจริญกว่าเราอีก..นี่ก็กะจะสร้างสถานีปล่อยยานอวกาศแล้ว..เขาไปถึงไหนๆแล้ว...น่าสนใจนะคะ..แต่ว่าสิงคโปร์น่ะเขาก็ต้องเอาตัวรอดแบบสุดชีวิตเหมือนกัน..ขนาดน้ำที่จะเอามาดื่มกิน ยังหาไม่ได้ ต้องต่อท่อจากมาเลเซียเข้าไป...อดีตนายกโก๊ะจ๊กตงบอกว่า..เมืองไทยน่ะน่าอิจฉา..มีอะไรๆมาก และเป็นเอกลักษณ์..แค่ชาวต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยว..เขาแค่ยิ้มและยกมือไหว้..แค่นี้..ก็เป็นเงินแล้ว เขามีวัฒนธรรมที่เป็นของตัวเอง แถมยกตัวอย่างคนสิงคโปร์ เมื่อมีชาวต่างประเทศเข้าไปซื้อของ คำถามที่น่าขัน ที่เอามายกตัวอย่างให้ฟังคือ What you want? ท่านว่าอย่างนี้จริงๆ มีชุดประจำชาติที่สวยงาม ในขณะที่สิงคโปร์ไม่มี..น่าภูมิใจนะคะ แต่..ที่จริงมันไม่น่ามีแต่เลย ถ้าเราพอใจอยู่แค่นี้ ตามความเป็นจริงเราอยู่อย่างนี้ไม่ได้ ถ้าเราอยากตามโลกให้ทัน ซึ่งก็จะดีหรือไม่ดี มันอยู่ที่แนวคิดของแต่ละคนล่ะค่ะ มีความอยู่แบบชาวพุทธ ไม่หวังอะไรมากมาย ไม่สะสม อยู่อย่างพอเพียง เราก็อยู่ได้ แถมไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติด้วย...อย่างนี้ก็น่าอยู่ เอาละค่ะ ถึงอย่างไรเราก็จะปล่อยให้อนาคตของเด็กเราเดินตามหลังคนอื่นไม่ได้ เด็กของเราต้องดี ต้องเก่งกว่านี้ ถึงมีวิธีการสอนแบบใหม่อีก ทีนี้ เมื่ออ่านไปๆ ก็ได้เห็นว่า ถ้าเราทำสำเร็จ ผลสัมฤทธิ์ของวิธีสอนแบบนี้ออกมาอย่างไร อย่างเมื่ออ่านเรื่อง ความเข้าใจที่คงทน ต่อไปจนถึง Backward design เขาบอกว่าถ้าเราตั้งคำถามแบบเปิดกว้าง คำตอบที่ได้จากเด็กในแง่มุมต่างๆนั้น มันครอบคลุมไปหมด มันมีแต่วิธีเท่านั้น ที่เราจะทำอย่างไร ให้เด็กเข้าร่วมอย่างสนุกสนาน เรียนอย่างสนุก
เมื่อมาถึงจุดนี้ มันทำให้นึกถึงรายการทีวีเกมส์โชว์ที่มีคนติดตามมาก ถ้าสมัยก่อนโน้น ก่อนที่ใครบางคนแถวนี้จะเกิดเสียอีก มีรายการ 20 คำถาม ของพันเอก การุณ เก่งระดมยิง รายการนี้มีคนเฝ้าดูมากค่ะ ลุ้นตอบไปด้วยกับจอทีวี คำถามจะงวดเข้างวดเข้า จนถึงหมด 20 คำถาม ถึงจะเฉลยว่าเป็นอะไร นั่นคือผู้เล่นเป็นคนตั้งคำถามเอง ซึ่งก็เหมือนเด็กนักเรียนนั่นแหละที่ตั้งคำถาม จนจบ รายการอย่างนี้ไม่ได้หายไปไหน ไม่ได้ตายตามผู้พันเลยค่ะ กลับเกิดรายการที่มีคำถามให้เลือกคำตอบ คนชอบมาก..จนถึงพูดตามกันได้ เช่น ถูก..ต้อง..แล้ว..คร้าบ...เด็กๆคงเคยนั่งตอบคำถามไปด้วย แต่ที่ชอบมากที่สุดในรายการอย่างนี้คือ “แฟนพันธุ์แท้” เมื่อมาอ่านการสอนแบบ Understanding by design แล้ว ก็อดคิดไม่ได้ว่า เราอาจมีลูกศิษย์ที่ตอบคำถามแบบแฟนพันธุ์แท้เกิดขึ้นหลายคน เพราะบทสรุปของการสอนแบบใหม่นี้ มุ่งไปในทางนั้น ทุกแง่มุมค่ะ ลองฟังคำถามตัวอย่างดูนะคะ นี่ไม่ใช่ยกมาเอง แต่คัดลอกมาจากฝรั่งค่ะ ต้นแบบนั่นแหละ ว่าเด็กต้องตอบแง่ไหนบ้าง

คำถาม// อะไร คือ ความเกี่ยวเนื่องกันระหว่าง”ความขัดแย้ง”และ”การเปลี่ยนแปลง”
ไม่น่าเชื่อว่าเขายกตัวอย่างแบบนี้มาถาม ซึ่งเป็นคำถามที่เปิดกว้างเอามากๆ เอาละค่ะ ว่าเขา”หวัง”กับคำตอบอย่างไร

ให้อธิบาย// ความขัดแย้งนำไปสู่ผลการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร?

ให้แปลความหมาย/ตีความ// ความขัดแย้งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจและปฏิบัติการของคนได้อย่างไร?

ให้ประยุกต์ใช้// มียุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาการขัดแย้งและการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร?

เจตคติ มุมมอง// มีผลต่อแนวความคิดของคนได้อย่างไรในการต่อรองของความขัดแย้ง หรือ การเปลี่ยนแปลง?

ต่อจิตพิสัย// มีความรู้สึกอย่างไร ถ้าต้องอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งที่เข้ามากระทบวิถีชีวิต?

ต่อการเรียนรู้// ต้องใช้คุณสมบัติเฉพาะตัวอะไรที่จะช่วยต่อรองกับความขัดแย้งและการเปลี่ยนแปลง?

มันเหมือนกับเหตุการณ์บ้านเราเหลือเกินนะคะ แต่นั่นอาจไม่ใช่ของเด็กประถมก็ได้ ซึ่งถ้าของเด็กก่อนวัยเรียน เขาจะพูดเรื่องผีเสื้อ...ครูก็จะนำเด็กเข้ามาสู่เรื่องผีเสื้อ...อย่างโน้นอย่างนี้..ล่อจนเด็กเข้าใจจนได้..นี่ก็สนุกไปอีกอย่าง
จะอย่างไรก็ตามค่ะ สรุปว่าจะเอาวิธีสอนแบบไหนๆมา ก็ยังอยู่ที่ครูนี่แหละ จะสอนอย่างไร ให้เด็กสนุกตามเรื่อง และเข้าใจถ่องแท้ได้


Posted by ครูพเยาว์ at 10:13 PM